ประวัติความเป็นมาผือเป็นพืชตระกูลหญ้าขึ้นเป็นกอลักษณะลำต้นเป็นสามแฉก เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในหนองน้ำที่มีอยู่มากมายในชุมชน บ้านกุดกะเสียน ตำบลเขื่องใน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำชีและมีกุดเป็นจำนวนมาก เช่น กุดผือ หนองเต่า กุดน้อย ห้วยเรือ ช่วงเวลาในการเก็บผือ คือช่วงเดือนมีนาคม - มิถุนายน ก่อนน้ำหลากของทุกปี การทอเสื่อผือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทอใช้กันภายในชุมชนมาตั้งแต่บรรพบุรุษอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2546 ผู้นำชุมชน คนในชุมชน ได้เล็งเห็นความสำคัญและคิดว่าเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนได้จึงเริ่มก่อตั้งกลุ่มทอเสื่อผือขึ้นมีสมาชิกเริ่มแรก 32 คน เก็บหุ้นๆ ละ 100 บาท จากนั้นได้ของบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลเขื่องในในการสร้างอาคารที่ทำการกลุ่ม กี่ทอเสื่อ ฟืม ด้าย สีย้อมผือ ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 56 คน
วัสดุที่ใช้วัสดุอุปกรณ์ในการทอประกอบด้วย
1. ผือ
2. สีย้อม
3. ด้ายไนลอน
4. โครงกี่
5. ฟืม
6. ไม้ส่งผือมีลักษณะแบนปลายมน เจาะรูตรงปลายไม้
7. ตะไคร้หอม(เสื่อผือกันยุง)
วัสดุอุปกรณ์ในการแปรูปผลิตภัณฑ์
1. ผ้า
2. กาว คัตเตอร์ กรรไกร
3. กระดาษแข็ง
4. แถบหนามเตย
5. สายกระเป๋า
วิธีทำ
ขั้นตอนการเตรียมผือสำหรับทอ
1. นำต้นผือ(สด)ที่เก็บมาตัดตามยาวเป็นเส้นเล็กใหญ่ตามต้องการนำไปตากแดดให้แห้งเพื่อไม่ให้ผือขึ้นราและเก็บได้นาน
2. การย้อมสี ต้มน้ำให้เดือดใช้ใส่สีเคมีหรือสีธรรมชาติ นำผือที่ตากแห้งแล้วมาแช่น้ำ 30 นาทีเพื่อให้ผือนิ่มม้วนใส่น้ำเดือดที่ใส่สีย้อมแล้วทิ้งไว้30 นาที นำออกล้างน้ำให้สะอาดและนำไปตากแห้ง
ขั้นตอนการทอเสื่อผือ
1. เตรียมความพร้อมของโครงกี่ นำด้ายมาร้อยเข้ากับฟืมและโครงกี่จัดขนาดตามความต้องการ
2. นำผือที่ผ่านการย้อมสีและตากแห้งแล้วมาพรมน้ำให้นิ่ม เตรียมทอ
3. นำผือมาวางไว้ด้านคนทอถนัด สอดใส่ไม้ส่งผือตามลวดลายที่วางไว้ โดยสลับต้น – ปลายผือ ให้นำตะไคร้หอมที่ตากแล้วทอแทรกกับผือ (กรณีเป็นเสื่อกันยุง)จนกระทั่งได้ขนาดของเสื่อตามต้องการ ดัดตกแต่งริมให้สวยงาม
ประโยชน์ของภูมิปัญญา
วัตถุดิบที่ใช้ทอคือ ผือ ซึ่งเกิดขึ้นในแหล่งน้ำกุดต่าง ๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านกุดกะเสียน ชาวบ้านสามารถนำมาทอได้ทั่วถึงทุกครัวเรือนและรวมกลุ่มกันผลิตเสื่อผือทำให้มีความสามัคคีมีการแบ่งหน้าที่ตามความถนัดของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นความถนัดในด้านการจักเส้นผือ การย้อมสี การทอ และการแปรรูป การตัดเย็บ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี