พระอัครสาวกและพระมหาสาวก
ในพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร มีการประดิษฐานรูปพระอัครสาวกและพระมหาสาวกไว้ ในอิริยาบถยืน ประจำทิศทั้งแปดบนแนวเสาระหว่างช่องหน้าต่างของผนังด้านยาว เป็นอีกแนวทางหนึ่งซึ่งเป็น
การสืบทอดแนวความคิดจากอดีต กล่าวคือ การประดิษฐานรูปพระอัครสาวกนั้น ส่วนใหญ่นิยมแค่ ๒ องค์ คือ พระโมคัลลานะ กับพระสารีบุตร ในอิริยาบถนั่งหรือยืน ส่วนการประดิษฐานพระอัครสาวก และพระมหาสาวกเป็นจำนวนมากๆ นั้น ปรากฎที่พระอุโบสถวัดสุทัศน์เทพวราราม ประดิษฐานรูปพระมหาสาวกจำนวน ๘๐ องค์ ในอิริยาบถนั่ง และพระวิหารเทพธิดาราม ประดิษฐานรูปพระภิกษุณีสงฆ์ จำนวน ๕๒ องค์
การประดิษฐานรูปพระอัครสาวกและพระมหาสาวก ภายในพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร ยังพบว่า ใช้สัญลักษณ์รูปคัมภีร์หรือม้วนกระดาษอยู่ใต้รูปพระมหาสาวก เป็นรูปสัญลักษณ์ที่สอดคล้องกับแนวทางการประดิษฐานรูปสาวกในโบสถ์คริสตศาสนา ที่นิยมทำรูปสาวกของพระเยซู ในมือถือม้วนกระดาษหรือคัมภีร์ที่มีบทบาทสำคัญ เรียงรายอยู่เป็นองค์ประกอบตกแต่งแฝงไว้ด้วยความหมายบนฝาผนังด้านในและด้านนอกของโบสถ์คริสตศาสนา สำหรับวัดนิเวศธรรมประวัติ ประดิษฐานไว้ด้านในพระอุโบสถดูงดงาม