พิธีบวชต้นไม้เกิดจากความคิดของ พระโสภณพัฒโนดม รองเจ้าคณะจังหวัดพะเยา
เจ้าอาวาสวัดโพธาราม หมู่ที่ 2 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ในปัจจุบัน ซึ่งพิธี
ดังกล่าวได้เริ่มจัดขึ้นในสมัยท่านยังดำรงสมณศักดิ์ พระครูมานัสนทีพิทักษ์ เจ้าคณะอำเภอแม่ใจ ที่ต้องการยับยั้งการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะบริเวณต้นน้ำ ซึ่งเกิดจากคำพูดของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ครั้งหนึ่งเมื่อมีการตัดถนนผ่านหน้าวัดโพธาราม ได้มีการตัดต้นไม้บริเวณหน้าวัดโพธาราม ซึ่งต้องตัดต้นศรีมหาโพธิ์ด้วย ปรากฏว่า คนงานที่ทำการตัดต้นไม้ ได้ประสบเคราะห์กรรมต่าง ๆ ชาวบ้านจึงเล่าลือกันว่า คนงานเหล่านั้นไปตัดต้นไม้ที่บวชแล้ว จากความเชื่อดังกล่าว เจ้าคณะอำเภอแม่ใจ จึงได้นำพิธีบวชต้นไม้มาดำเนินการ เพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะป่าบริเวณต้นน้ำลำธาร ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าว ได้เผยแพร่ไปสู่สาธารณชน จากสู่มวลชนทำให้มีการวิพากวิจารณ์กันในวงกว้าง อย่างไรก็ตามชาวอำเภอแม่ใจก็ตระหนักและมีความเชื่อว่า พญาต้นไม้ที่ผ่านพิธีกรรมการบวชแล้ว จะคุ้มครองรักษาต้นไม้ต่าง ๆ ในบริเวณนั้น ซึ่งจะมีผลทำให้มีน้ำไหลตลอดปี ฝนตกต้องตามฤดูกาล
พิธีการบวชต้นไม้ จะเริ่มตั้งแต่การหาต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพญาไม้ จัดเครื่องสังเวยเจ้าป่าเจ้าเขาอันมี ข้าวเหนียวสุก 1 ปั้น กล้วยสุก 1 ลูก และหมากคำ จากนั้นก็จัดทำศาลเพียงตาสำหรับบูชารุกขเทวดาให้อยู่เฝ้าต้นไม้ แล้วทำพิธีไหว้แม่พระธรณี ใช้หมากพลูตามธรรมเนียมทางเหนือ สำหรับการบวชต้นไม้ จะมีผ้าเหลือง (สุดแล้วแต่ว่าจะบวชต้นไม้กี่ต้น) ด้ายสายสิญจน์ บาตรน้ำมนต์และส้มป่อยจากนั้นโยงด้ายสายสิญจน์ไปตามต้นไม้ในบริเวณป่า แล้วโยงมายังสถานที่ทำพิธี ซึ่งจะมีพระพุทธรูปตั้งเป็นประธานมีพระสงฆ์และอาจารย์ (หมอเวทย์มนต์) ทำพิธีเชิญเทวดาอารักษ์ ผีป่า ผีเขา (ผีป๊กกะโล้ง) ให้มารับรู้และบอกผีช่วยกันรักษา หากมีผู้ใดตัดต้นไม้ ทำลายป่าขอให้มีอันเป็นไปต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องของหมอเวทย์มนต์ที่จะนำมากล่าว จากนั้นจะมีการสวดบูชาพระรัตนตรัย สมาทานศีล อาราธนาพระปริต พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วนิมนต์พระสงฆ์ห่มผ้าเหลืองให้แก่ต้นไม้ พระสงฆ์อีกส่วนหนึ่งเจริญชัยมงคลคาถา เมื่อทำพิธีบวชต้นไม้แล้ว พระสงฆ์จะนำน้ำส้มป่อยประพรมต้นไม้ทั้งหลายถือว่าเสร็จพิธีการบวชต้นไม้