ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 6° 32' 33"
6.5425000
ลองจิจูด (แวง) : E 101° 16' 59.0002"
101.2830556
เลขที่ : 16321
ชาติภูมิแม่กอเหนี่ยว
เสนอโดย กนกวรรณ พรหมทัศน์ วันที่ 20 มกราคม 2554
อนุมัติโดย ยะลา วันที่ 8 ตุลาคม 2555
จังหวัด : ยะลา
0 722
รายละเอียด

ชาติภูมิแม่กอเหนี่ยว เจ้าแม่กำเนิดในครอบครัวของตระกูลลิ้ม มีนามฉายาว่า กอเหนี่ยว ในตำนานบางถิ่นของไต้หวัน กล่าวนามเจ้าแม่ว่า จินเหลียนหรือบัวทอง ส่วนภูมิลำเนาของเจ้าแม่เดิมเล่ากันว่าเป็นชาวมณฑลฮกเกี้ยน เนื่องจากพี่ชายชองเจ้าแม่ชื่อ ลิ้มเต้าเคียน (ลิ้มโต๊ะเคียน ก็เรียก) มีประวัติการต่อสู้อันโลดโผนได้สร้างชื่อลือกระฉ่อนทางแทบทะเลมณฑล ฮกเกี้ยน จดหมายเหตุราชวงศ์เหม็ง ได้บันทึกไว้ว่า เป็นชาวเมืองจั่วจิว แขวงมณฑลฮกเกี้ยน หนังสือ “ตำนานมณฑลปัตตานี” ก็ได้ถือเอาตามนี้ แต่หนังสือ “ภูมิประวัติเมืองแต้จิ๋ว” เล่มที่ 38 เรื่อง ชีวประวัติลิ้มเต้าเคียน” กล่าวว่า มีพื้นเพเดิมเป็นชาว อำเภอฮุยไล้ แขวงเมืองแต้จิ๋ว จากการตรวจสอบหลักฐานที่เมืองแต้จิ๋วของนักโบราณคดี ปรากฏว่า ที่หมู่บ้านเที้ยเพ็ง ตอนใต้ยังมีฮวงซุ้ยบรรพบุรุษตระกูลลิ้มของลิ้มเต้าเคียน ประจักษ์หลักฐานอยู่ที่นั่น ณ บริเวณฮวงซุ้ยเดียรดาษไปด้วยศิลา ซึ่งชาวบ้านในท้องถิ่นแห่งนั้นได้ขนานนามฮวงซุ้ยเก่าแก่แห่งนั้นว่า “ไปเหนี่ยวฉาวหวง” หรือ “มวลวิหคเฝ้าราชปักษา” อันหมายถึง ทำเลสุสานที่ดี ในรัชสมัยพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์เหม็ง (ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2065-2109) มีครอบครัวตระกูลลิ้มซึ่งมีบุตร 2 คน ชายมีชื่อว่า ลิ้มเต้าเคียน มีลักษณะท่าทางทะนง องอาจ ใจคอกว้างขวาง และมีสมัครพรรคพวกมาก ส่วนน้องสาวมีชื่อว่า ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยอันดีงามมีความกตัญญูต่อบิดา มารดา แต่ขณะเยาว์วัยกันก็มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เมื่อเยาว์วัยทั้งสองพี่น้องได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปะต่าง ๆ จนแตกฉาน ครั้นลิ้มเต้าเคียนผู้พี่เจริญวัยโตเป็นหนุ่ม จึงได้สนองบุญคุณบิดามารดา โดยเข้าสมัครเป็นข้าราชการอำเภอ ต่อมาเมื่อสิ้นบุญบิดาแล้ว ลิ้มเต้าเคียน ก็จากบ้านเดิมไปทำราชการอยู่ที่เมืองจั่วจิว แขวงมณฑลฮกเกี้ยน ทางบ้านจึงมีสาวน้อย ลิ้มกอ-เหนี่ยว คอยอยู่เฝ้าปรนนิบัติมารดา ด้วยเหตุที่ลิ้มเต้าเคียนมีอุปนิสัยรักความเป็นธรรม ชาวบ้านจั่วจิวต่างก็ให้ความนับถือรักใคร่ต่อเขา แต่เป็นที่อิจฉาและย่ำเกรงของเหล่าขุนนางกังฉินยิ่งนัก ในรัชสมัยของพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้ ปรากฏว่า มีโจรสลัดชุกชุมที่ร้ายกาจนักก็คือ โจรสลัดญี่ปุ่น ได้ปล้นบ้านตีเมืองตามชายฝั่งทะเลของจีนเป็นประจำสร้างความเดือดร้อนให้แก่ ชาวเมืองชายทะเลเป็นอันมาก ซึ่งโจรสลัดญี่ปุ่นได้กำเริบหนักขึ้นถึงกับระดมกำลังเข้าโจมตีมณฑลจิ เกียงอย่างรุนแรง ทางเมืองหลวงจึงได้แต่งตั้งขุนพลนามว่า เช็กกีกวง เป็นแม่ทัพคุมทัพเรือไปทำการปราบปรามโจรสลัดญี่ปุ่นโดยเฉียบขาด ลิ้มเต้าเคียนจึงถูกคู่อริผู้พยาบาทหมาดร้ายถือโอกาสใส่ความว่า ลิ้มเต้าเคียน ได้ร่วมกับโจรสลัดญี่ปุ่นมีการซ่องสุมกำลังผู้คน และอาวุธคิดจะทำการกบฏก่อความวุ่นวาย ลิ้มเต้าเคียนจึงถูกทางราชการประกาศจับตัวโทษฐานเป็นพวกโจรสลัด ลิ้มเต้าเคียนคิดว่า การที่ตนมาถูกเขาปรักปรำกล่าวโทษฉกรรจ์เช่นนี้ ย่อมไม่มีโอกาสหาทางแก้ตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์เป็นแน่แท้ และยังตระหนักดีอีกว่าหากขืนอยู่ต่อ แข็งสู้กับทัพหลวงต่อไป ย่อมมีอันตรายซึ่งหาคุณประโยชน์อย่างใดมิได้ ลิ้มเต้าเคียน ได้เกลี้ยกล่อมชักชวนสมัครพรรคพวกของตนที่กระจัดกระจาย แล้วพากันอพยพหลบภัยด้วยการนำเรือ 30 กว่าลำ ตีหักออกจากที่ล้อมของทหารหลวง โดยแล่นออกทะเลอย่างปลอดภัยขบวนเรือได้หันหน้าไปเกาะไต้หวัน ตาม ความในจดหมายเหตุราชวงศ์เหม็ง เล่มที่ 323 “ประวัติเมืองกีลุ่ง” (ไต้หวันในปัจจุบัน) กล่าวว่า เมื่อปลายปีเกี่ยเจ็ง ตรงปีพุทธศักราช 2109 แม่ทัพเช็กกี่กวง ได้ทำการปราบปรามพวกโจรสลัดญี่ปุ่นจนราบคาบแล้ว ลิ้มเต้าเคียนกับพวกได้หลบหนีไปอาศัยอยู่ที่เกาะไต้หวัน แต่ไม่กล้าตั้งมั่นอยู่ที่นั่นตลอดไป เพราะ กลัวว่าทัพหลวงจะติดตามไปโจมตีและยังถูกโจรสลัดรังควานอยู่เสมอ ครั้นถิ่นไต้หวันยากแก่การที่พวกตนจะอาศัยพำนักแล้ว ลิ้มเต้าเคียน จึงนำพรรคพวกออกเดินทางฝ่าคลื่นผจญภัยต่อไปจนถึงเกาะลูซอน (ฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน) ขณะถูกสเปนยึดครอง ลิ้มเต้าเคียนเกิดปะทะกับกองเรือรบของสเปนที่นอกฝั่งเกาะลูซอน ลิ้มเต้าเคียนได้ทำลายเรือรบของสเปนเสียหายย่อยยับหลายลำ แต่ภายหลังขาดเสบียงอาหารและไม่มีกำลังหนุนจึงต้องล่าถอย(ความในตอนนี้นัก ภูมิศาสตร์จีน ถือว่าลิ้มเต้าเคียนเป็นนักรบผจญภัยที่มีความสามารถสูงผู้หนึ่งจึงให้ เกียรติตั้งเป็นชื่อเกาะแห่งหนึ่งในทะเลจีนใต้ เรียกว่า หมู่เกาะเต้าเคียน ส่วนในจดหมายเหตุราชวงศ์เหม็ง “ประวัติเมืองลูซอน” บันทึกว่า เมื่อปีบวนเละที่ 4 ตรงปีพุทธศักราช 2119 ชาวเมืองลูซอนได้ฟื้นฟูสัมพันธ์ไมตรีกับจีนเนื่องจากได้ช่วยเหลือทางราชการ จีนปราบพวกลิ้มเต้าเคียน หลังจากนั้นแล้วลิ้มเต้าเคียนก็เดินทางผ่านเวียดนาม บางตำนานว่า ลิ้มเต้าเคียนเคยอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ต่อมาจึงได้มาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองปัตตานี ในจดหมายเหตุราชวงศ์เหม็ง เล่มที่ 323 บันทึกว่า“ลิ้มเต้าเคียนได้หลบหนีการจับกุมไปอาศัยอยู่ที่เมืองปัตตานี มีท่าเรือเรียกว่า ท่าเรือเต้าเคียน ภายหลังลิ้มเต้าเคียนได้นับถือศาสนาอิสลามและได้ภรรยาซึ่งเป็นเชื้อพระ วงศ์ของเจ้าเมืองปัตตานี เป็นที่โปรดปรานของเจ้าเมืองมากได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหัวหน้าด่านศุลกากร เก็บส่วยสาอากร” ลิ้ม เต้าเคียนจากถิ่นฐานบ้านเดิมมาอาศัยอยู่ที่เมืองปัตตานี เป็นเวลาช้านานไม่ได้ส่งข่าวคราวไปให้มารดาและน้องสาวทราบ ทำให้มารดาผู้วัยชรามากมีความห่วงใยไม่รู้ว่าบุตรชายเป็นตายร้ายดีอย่างไร แล้วมารดาก็มักล้มป่วยอยู่เป็นประจำ ลิ้มกอเหนี่ยวได้เผ้าปรนนิบัติมารดาจนอาการป่วยหายเป็นปรกติ ด้วยความกตัญญูกตเวที จึงได้ขออนุญาตจากมารดาขออาสาตามหาพี่ชายให้กลับบ้าน แต่มารดาไม่อนุญาตเพราะเกรงว่าการเดินทางจะได้รับความลำบากและเสี่ยงต่อ อันตรายแต่ในที่สุด ทนต่อคำอ้อนวอนด้วยเหตุผลมิได้ จึงยินยอมให้ไปลิ้มกอเหนี่ยวก็จัดแจงสัมภาระเครื่องเดินทางเสร็จแล้วชักชวน ญาติสนิทมิตรสหายหลายคนไปด้วย ในวันออกเดินทางมารดาและญาติมิตรมาร่วมส่งกันอย่างคับคั่ง ทุกคนต่างซาบซึ้งในความกตัญญูของลิ้มกอเหนี่ยว ก่อนจากลิ้มกอเหนี่ยวได้ล่ำลามารดาด้วยสัจจะวาจาว่า หากแม้นพี่ชายไม่ยอมกลับไปหามารดาแล้วไซร้ ตนก็ไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป พร้อมกับได้อวยพรให้มารดาจงมีความสุขและสั่งเสียญาติพี่น้องให้ช่วยกันดูแล ปรนนิบัติมารดาตนเป็นอันดี ลิ้มกอเหนี่ยวกับญาติ ได้นำเรือออกเดินทางรอนแรมนับเวลาหลายเดือนจนกระทั่งถึงเขตเมืองปัตตานี ได้ทอดสมอจอดเรือไว้ที่ริมฝั่ง ครั้นลิ้มกอเหนี่ยวกับพวกได้เดินทางเข้าไปในเมือง สอบถามชาวบ้านได้ความว่า ลิ้มเต้าเคียนยังมีชีวิตอยู่ทั้งยังได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่อยู่ที่นี้ ทุกคนต่างก็มีความปิติยินดียิ่ง ครั้นพบปะกับพี่ชายแล้วลิ้มกอ-เหนี่ยว ก็เล่าความประสงค์ที่ได้ติดตามมาในครั้งนี้ว่า พี่ได้ทอดทิ้งมารดาและน้องสาวจากบ้านมาอยู่แดนไกลเสียเช่นนี้ แม้นพี่กลับไปอยู่บ้านเดิมก็พอทำกินกันเป็นสุขได้อีก ทั้งทุกคนจะได้พร้อมหน้าอยู่ใกล้ชิดมารดาก่อนที่ท่านจะหาบุญไม่ แล้วแต่ลิ้มเต้าเคียนคิดตรึกตรองแล้วว่า ถ้ากลับไปในขณะนี้ก็เท่ากับหาความยุ่งยากลำบากใจให้กับตนเอง เพราะทางราชการเมืองจีนยังไม่ประกาศอภัยโทษแก่ตน และฐานะความเป็นอยู่ของตนทางนี้ ก็มีความสมบูรณ์พูนสุข ไม่ต้องระหกระเหินพเนจรอีกต่อไป จึงว่าแก่น้องสาวว่า พี่นั้นใช่จะเป็นผู้คิดเนรคุณทอดทิ้งมารดาและน้องสาวก็หาไม่ เพราะเหตุที่ได้ถูกทางราชการเมืองจีน ตรีตรากล่าวโทษว่า เป็นโจรสลัดอัปยศยิ่งนัก จำต้องพลัดพรากหนีมาพึ่งพาอาศัยอยู่ที่นี้จนไม่มีโอกาสกลับไปทดแทนคุณมารดา ได้ และพี่อยู่ทางนี้ก็มีภารกิจมากมายเพราะพี่ได้อาสาท่านเจ้าเมืองก่อสร้าง มัสยิด จึงมิอาจรับคำคิดจะกลับไปพร้อมกับน้องขณะนี้ได้โปรดให้อภัยกับพี่ด้วย เถิด ว่าแล้วลิ้มเต้าเคียนก็จัดแจงสิ่งของมีค่าเป็นอันมากเพื่อให้นำกลับไปฝาก มารดาและญาติพี่น้อง ลิ้มกอเหนี่ยวจึงขอพักอยู่ที่ปัตตานีชั่วคราว และคิดที่จะหาโอกาสอ้อนวอนพี่ชายกลับไปเมืองจีนต่อไป ขณะนั้น เจ้าเมืองปัตตานีได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา ไม่มีบุตรที่จะครอบครองสืบไป พวกศรีตะวันกรมการจึงปรึกษาหารือกันว่าจะเลือกบุตรพระราชวงศ์องค์ใดที่จะ เป็นเจ้าเมือง แต่ยังไม่ทันจัดแจงเหตุการณ์ร้ายแรงที่ไม่คาดฝันก็อุบัติขึ้นคือ เกิดการกบฏแย่งชิงอำนาจเป็นใหญ่ได้รบพุ่งนองเลือดระหว่างพระราชวงศ์ของเจ้า เมืองพวกกบฏนั้นได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า ผิดกับฝ่ายเจ้าเมืองที่ไม่ระวังมาก่อนจึงมิอาจต่อต้านป้องกันได้ทัน ท่วงที ลิ้มเต้าเคียนกับเหล่าทหารผู้ภักดีได้ต่อสู้กับพวกกบฏ เมื่อลิ้มกอเหนี่ยวประสบเหตุการณ์เช่นนี้ ด้วยความเป็นห่วงพี่ชายจะได้รับอันตรายจึงได้เสี่ยงชีวิตเข้าช่วยพี่ชาย รบกับพวกกบฏอย่างห้าวหาญ จนพวกกบฏแตกพ่ายถอยหนีไป ด้วยความเก่งกาจสามารถของลิ้มกอเหนี่ยวเป็นที่กล่าวขวัญทั่วเมือง ปัตตานี เมื่อลิ้มกอเหนี่ยวเห็นเมืองปัตตานีมีเหตุการณ์ยุ่งยากเช่นนี้ จึงได้รบเร้าพี่ชายกลับเมืองจีนเสียโดยเร็ว ตามตำนานกล่าวว่า ลิ้มเต้าเคียนได้ปฏิเสธต่อคำขอร้องของน้องสาว ลิ้มกอเหนี่ยว มีแต่ความเสียใจเป็นทวีคูณจึงได้กระทำอัตตะวินิบาตกรรม โดยผูกคอตายใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์ ฝ่ายลิ้มเต้าเคียนทราบข่าว จึงมีความโศกสลดอย่างยิ่ง จึงพร้อมกันจัดการปลงศพตามประเพณีอย่างสมเกียรติทำเป็นฮวงซุ้ยปรากฏมาจนทุก วันนี้ คือ หมู่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมืองปัตตานี ส่วนผู้ที่ติดตามมากับลิ้มกอเหนี่ยวครั้งนั้นก็ไม่คิดจะกลับไปเมืองจีนอีก มีแต่นายท้ายเรือของลิ้มกอเหนี่ยวชื่อ จูก๋ง ผู้ใจเด็ดได้ตั้งคำสัตย์ปฏิญาณไว้ว่า ตราบใดที่ลิ้มเต้าเคียนไม่ยอมตามตนกลับไป ตนก็จะขออยู่เฝ้าเรือจนกว่าจะสิ้นชีวิต ภายหลังเรือจม จูก๋ง ก็ตายพร้อมกับเรือลำนั้นตามที่ได้ตั้งสัตย์ไว้ ปัจจุบันในศาลเจ้ายังมีแผ่นป้ายจารึกนามของ จูก๋งไว้สักการบูชาตามตำนานกล่าวว่า เรือสำเภาที่ลิ้มกอเหนี่ยวนำมามีอยู่ 9 ลำ เมื่อขาดการดูแลเรือได้จมน้ำทะเลหมด เหลือแต่เสากระโดงซึ่งทำด้วยต้นสน 9 ต้น เลยเรียกสถานที่ตรงนั้นว่า รูสะมิแลหรือ สน 9 ต้น บางตำนานก็ว่า เหตุที่มีชื่อเช่นนี้เพราะผู้ที่ติดตามมากับลิ้มกอเหนี่ยวในครั้งนั้น ได้ล้มป่วยตายไป 9 คน ฝั่งศพไว้ที่นั่น โดยตัดต้นสนปักไว้ทำเป็นเครื่องหมาย ครั้น ปราบกบฏราบคาบสงบลงแล้ว ศรีตะวันกรมการผู้ใหญ่จึงประชุมเลือกผู้ครองเมืองต่อไป สุดท้ายที่จะประชุมตกลงพร้อมใจกันเลือกบุตรีของเจ้าเมืองปัตตานีเป็นนางพญา ครองเมืองสืบไป ระหว่างนางพญาครองเมืองได้ทำนุบำรุงบ้านเมืองอาณาประชาราษฎร์อยู่เย็นเป็น สุข นางพญาได้มอบหมายให้ลิ้มเต้าเคียนเป็นนายช่างควบคุมการก่อสร้างมัสยิดต่อ ไป โดยเป็นมัสยิดก่อด้วยอิฐมีจำนวน 3 ห้อง และมีเฉลียงรอบกว้าง 2 วา ยาว 5 วา ฝาผนังเฉลียงมีลักษณะโค้งทั้ง 4 ด้าน พื้นเฉลียงสูง 2 ศอก ขณะสร้างถึงคานบนและจะสร้างโดม เกิดปรากฏการณ์ขึ้นที่มัสยิดได้ถูกอัสนีบาตทำลายเสียหายถึง 3 ครั้ง สร้างความมหัศจรรย์ใจให้ลิ้มเต้าเคียน จึงคิดว่าการที่ตนมีความอกตัญญูมิได้รู้คุณมารดา ทำให้น้องสาวที่ติดตามมาเสียชีวิตด้วย เทพธิดาฟ้าดินจึงลงโทษแก่ตน ลิ้มเต้าเคียนจึงล้มเลิกที่คิดสร้างอีกต่อไป มัสยิดจึงค้างคาสร้างไม่สำเร็จตราบจนทุกวันนี้ (เมื่อคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2525 ทางกรมศิลป์ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่) ต่อมาลิ้มเต้าเคียนหล่อปืนใหญ่ขึ้นถวายนางพญาไว้สำหรับเมือง ปืนที่หล่อมี 3 กระบอก ชื่อปืนนางพญาตานี ยาว 3 วา 1 ศอก 1 คืบ 2 นิ้วกึ่ง กระสุน 11 นิ้ว (ปัจจุบันตั้งหน้ากระทรวงกลาโหมซึ่งนำไปเมื่อ ครั้งรัชสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2328 อีกกระบอกหนึ่งได้ตกเสียที่ปากน้ำปัตตานี) ชื่อปืนศรีนัครีและปืนมหาหล้าลน เมื่อหล่อปืนเสร็จเรียบร้อยจึงประจุดินปืนทำการทดลองมีอยู่กระบอกหนึ่ง จุดชวนแล้วไม่ลั่นแม้จะพยายามอยู่หลายครั้งก็ไม่สำเร็จ ลิ้มเต้าเคียนเห็นเป็นอัศจรรย์จึงได้ลงมือจุดเอง ปรากฏว่า ปืนแตกระเบิดถูกตัวลิ้มเต้าเคียนถึงกับสิ้นบุญวาสนาไปแต่บัดนั้น ปัจจุบันที่หมู่บ้านกรือเซะ ห่างจากมัสยิดโบราณไปทางทิศตะวันออก ยังมีสถานที่หล่อปืนดังกล่าว ส่วนที่ฝังศพของลิ้มเต้าเคียนบางท่านกล่าวว่าอยู่ที่สุสานเก่า กูโบตันหยงกูรมาวตารโละ ต่อมาเล่ากันว่า ลิ้มกอเหนี่ยว ได้สำแดงปรากฏอันศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวเรือและประชาชนผู้สัญจร ไปมาในแถบถิ่นนั้นเสมอจนเป็นที่เลื่องลือกันทั่วไป กิตติศักดิ์อภินิหารของลิ้มกอเหนี่ยว ทำให้ชาวบ้านผู้ศรัทธาสละทุนทรัพย์สร้างศาลขึ้นที่ หมู่บ้านกรือเซะ และ สร้างรูปจำลองลิ้มกอเหนี่ยว เพื่อไว้สักการบูชาโดยทำ พิธีอัญเชิญวิญญาณของลิ้มกอเหนี่ยวมาสิงสถิตในรูปจำลองนั้น พร้อมกับขนานนามว่า “เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” ปรากฏว่า มีผู้คนหลั่งไหลไปกราบไหว้กันมากมาย บ้างก็มีเรื่องเดือดร้อนไปบนบานให้เจ้าแม่ช่วยเหลือ บ้างกราบไหว้ขอให้ทำมาค้าขายเจริญ เมื่อบนบานแล้วต่างก็บังเกิดผลตามความปรารถนาทุกคน จึงทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวยิ่งแผ่ไพศาลออกไปยังเมือง อื่น ๆ ต่อมาพระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูลาย ต้นสกุลคณานุรักษ์) ซึ่งเป็นหัวหน้าชาวจีนในปัตตานีขณะนั้น ได้ประจักษ์ว่า เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว นั้น เป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป และเห็นว่าศาลที่ประดิษฐานองค์เจ้าแม่อยู่ที่หมู่บ้านกรือเซะห่างไกลจากตัว เมือง ไม่สะดวกแก่การประกอบพิธีต่าง ๆ จึงได้ทำการบูรณะศาลเจ้า ซูก๋ง ที่ตั้งอยู่ในปัตตานีเสียใหม่ (เดิมเป็นศาลเจ้าประดิษฐานของพระหมอ ท่านมีนามฉายาว่า เซ็งจุ้ยโจ็วซูก๋ง มีนามสกุลว่า อ่อง เดิมท่านเป็นแพทย์เป็นชาวเมืองโพฉาง แขวงมณฑลฮกเกี้ยน ประวัติกฤษฎาภินิหาร ของท่านมีมากแต่ยังไม่ได้แปลไว้ ณ ที่นี้) และได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมาประดิษฐานไว้ ณ ศาลเจ้าแม่แห่งใหม่นี้ ภายหลังมีชื่อเรียกว่า“ศาลเจ้าเล่งจูเกียง” (ศาลเทพเจ้าแห่งความเมตตา) หรือชื่อสามัญที่ชาวบ้านเรียกว่า “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ในปัจจุบันนี้

หมวดหมู่
ชาติพันธุ์
สถานที่ตั้ง
เลขที่ 75 ถนน พุทธิภูมิ
ตำบล สะเตง อำเภอ เมืองยะลา จังหวัด ยะลา
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา อีเมล์ yala@m-culture.go.th
เลขที่ 37 ถนน สุขยางค์
ตำบล สะเตง อำเภอ เมืองยะลา จังหวัด ยะลา รหัสไปรษณีย์ 95000
โทรศัพท์ 073203511,073213916 โทรสาร 073203511
เว็บไซต์ ้http://povince.m-culture.go.th/yala
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่