ค่ายลูกเสืออำเภอบ้านโป่ง(สวนป่าดงยาง) ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลสวนกล้วย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ได้รับการก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ โดย ร.ต.ประกฤติ ร่วมวงศ์ ซึ่งเป็นนายอำเภอบ้านโป่งสมัยนั้น เป็นผู้ที่ดำริริเริ่มจัดตั้ง
สภาพโดยทั่วไปของค่ายเป็นสวนป่าดงยางซึ่งมีอายุนับร้อยกว่าปี มีเรื่องเล่าแต่เดิมมาว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงนำกองเสือป่ามาตั้งค่ายพักแรมที่อำเภอบ้านโป่ง โดยตั้งเป็นค่ายหลวงอยู่บริเวณริมแม่น้ำแม่กลอง และมีรับสั่งให้พระบรรณสถิต นายอำเภอบ้านโป่ง นำเสือป่าไปปลูกต้นยาง เข้าใจว่าน่าจะเป็นกิจกรรมหนึ่งของการอบรมเสือป่าในสมัยนั้น ต้นยางดังกล่าวจึงตกทอดมาจวบจนถึงปัจจุบัน และด้วยสภาพที่เป็นสวนป่าที่ร่มรื่นจึงเป็นที่มาของการดำริจัดตั้งเป็นค่ายลูกเสืออำเภอบ้านโป่งขึ้นมา
ที่ดินแปลงนี้เป็นที่ราชพัสดุมีเนื้อที่ จำนวนทั้งสิ้น ๗ ไร่ ๑๖ ตารางวา อยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตบ้านโป่ง(เดิม) ซึ่งรับมอบมาจากแผนกผสมสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบันภายในค่ายมีอาคารศาลาอำนวยการ ๑ หลัง ในบริเวณค่ายมีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ขนาดเกือบเท่าพระองค์จริงประดิษฐานอยู่ และนอกจากนี้ด้วยความร่มรื่นของสวนป่าจึงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอีกแห่งหนึ่งของชาวอำเภอบ้านโป่ง และเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๖ ทรงนำกองเสือป่ามาเข้าค่ายซ้อมรบที่อำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธาราม
ในอดีตที่ผ่านมามีผู้นิยมใช้บริเวณค่ายนี้เป็นสถานที่อยู่ค่ายพักแรมของลูกเสือ ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถวายราชสดุดี รัชกาลที่ ๖ ทุกปี ใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมเยาวชน ใช้เป็นสถานที่ฝึกของนักศึกษาวิชาทหาร ต่อมาด้วยความทรุดโทรมของอาคารสถานที่ ความไม่สะดวกทั้งเรื่องน้ำใช้และไฟฟ้า รวมทั้งการไม่มีรั้วรอบขอบชิดและสภาพแวดล้อมไม่ค่อยจะดีนัก ทำให้ไม่มีผู้มาใช้เหมือนแต่เดิมมา