เมื่อประเทศจีนประสบปัญหาภายในประเทศ ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จนเกิดความระส่ำระสายขึ้นอย่างรุ่นแรง ประชากรส่วนหนึ่งหาทางออกด้วยการอพยพ หลบหนีออกนอกประเทศมุ่งหน้าสู่ประเทศที่มีความสงบกว่า ทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนแสวงหาที่ทำกินใหม่ โดยยอมตายเอาดาบหน้าพร้อมจะผจญภัยและเผชิญปัญหา เลือกที่จะหาถิ่นทำมาหากินที่อุดมสมบูรณ์ ดีกว่าอัตคัดขัดสน อดอยากแร้นแค้นแบบไร้อนาคตและสิ้นหวังการอพยพของจีนโพ้นทะเล (OVERSEAS CHINESE ) มักเลือกที่จะลงเรือที่เมือง เอ่หมึง หรือเมืองเซียะเหมิน ( XIAMEN) มณฑลฮกเกี้ยนหรือฝูเจี้ยน มณฑลทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน โดยอาศัยเรือ โต้คลื่นด้วยสำเภาขนาดใหญ่ หรือเรือใบ ๓ หลัก จุผู้โดยสารเต็มลำเรือ หลั่งไหลเข้ามาแต่ละปีหลายลำ ลำละร่วมร้อยคนก็มี อย่างน้อยก็ ๕๐ หรือ ๖๐ คน รอนแรมมากับสายลมใช้เวลาแรมเดือน ต้องอาศัยช่วงฤดูมรสุมเท่านั้น เมื่อรอดพ้นจากอันตรายในท้องทะเลก็ขึ้นฝั่ง ณ เมืองถ่องข่า (ทุ่งคา ซึ่งใช้เรียกเมืองภูเก็จในสมัยโบราณ) โดยขึ้นฝั่งที่บ้านท่าเรือ ห่างจากอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีฯ ไม่มากนัก ปัจจุบันคือซอยหลังศาลเจ้าท่าเรือ ภายหลังนิยมขึ้นที่ท่าเรือสะพานหิน ท่านเรศวร์ ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ อยู่บริเวณหลังห้องสมุดประชาชนในปัจจุบัน ซึ่งทางการของประเทศสยาม มีทั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านภาษี (จับเส๊) อยู่ใกล้ท่าเรือการเดินทางออกจากแผ่นดินแม่สู่เมือง ถ่องข่า มักรวมกลุ่มกันในหมู่เครือญาติ หรือชินหลาง หรืออาจเป็นคนร่วมหมู่บ้านในอำเภอเดียวกัน ส่วนมากจะมาขายแรงงานโดยเป็นกรรมกรเหมืองแร่ การบอกเล่าต่อๆกันมาว่า มาถึงถ่องข่าแล้วไม่อดตาย ที่นี่น่าอยู่มากทุกอย่างล้วนอุดมสมบูรณ์ ชีวิตใหม่ในแผ่นดินใหม่ต้องเริ่มขึ้นให้ได้เมื่อตัดสินใจแล้วจึงร่วมลงเรือลำเดียวกันและมุ่งสู่จุดหมายอันไกลโพ้น จากแผ่นดินจีนสู่แผ่นดินใหม่ คือ ถ่องข่า (ชาวเรือในอดีตเรียกเมืองนี้ว่า “ทองคา” Tongka เป็นภาษามาลายู แปลว่า ทองคำ ทางราชการจึงเรียกอำเภอเมืองว่า “อำเภอทุ่งคา” )ท้องทะเล ผืนน้ำอันกว้างใหญ่ไพศาลสุดลูกหูลูกตา เวิ้งว้างจนมองไม่เห็นแผ่นดิน อันตรายจากมรสุมอันบ้าคลั่งในผืนน้ำไม่มีใครรู้ล่วงหน้า จิตใจของผู้อพยพต้องการที่พึ่งพิง การหวังจะได้รับความคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทางหนึ่งชาวจีนดั้งเดิมมีความเชื่อว่า ฟ้าดินเป็นสิ่งที่ต้องเคารพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็นเป็นของที่ต้องเคารพนับถือ ต้องบูชากราบไหว้ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ จึงคิดที่จะต้องมีสิ่งที่เป็นตัวแทนที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ จนกลายเป็นประติมากรรมไม้แกะขนาดเล็ก “กิ่มซิ้น” จึงเป็นองค์เทพที่ถูกรังสรรค์ขึ้น โดยอาศัยฝีมืออันปราณีตบรรจงเป็นความงดงามที่มีจิตวิญญาณแฝงเร้นอยู่ข้างในเบื้องหลังการอพยพของชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งรู้ว่าเป้าหมายเบื้องหน้าอันไกลโพ้นจากบ้านเกิด สัมภาระที่จำเป็นต้องน้อยที่สุด เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้าย คำพูดที่ว่า “เสื่อผืนหมอนใบ” นั้นปรากฏขึ้นให้เห็นเป็นภาพได้ชัดเจน หีบไม้ใบหนึ่งขนาดไม่ใหญ่มากนักกับเสื้อผ้าจำนวนจำกัด หนึ่งในนั้นที่ซ่อนอยู่อย่างภายในอย่างเหมาะสมกับพื้นที่แคบๆก็คือ “กิ่มซิ้น”การเดินทางอันแสนไกลของประติมากรรมชิ้นเล็ก สูงแค่ประมาณ ๔ นิ้ว ถึง ๖ นิ้ว งดงามประณีตสมกับงานศิลป์ที่มาจากแหล่งกำเนิด ปรากฏขึ้น ณ เมือง ถ่องข่า หรือ ทุ่งคา ต่อมาคือเมืองภูเก็จ ซึ่งแต่เดิมมีแต่ชาวภูเก็จพื้นเมืองผสมผสานกันเท่านั้น ที่ไหนมีชาวจีนอพยพที่นั้นเป็นชุมชน และที่ชุมชนนั้นก็มี “กิ่มซิ้น” อยู่ด้วยเสมอ ซึ่งปัจจุบันนี้ จะพบเห็นได้ตามบ้านเรือนของชาวภูเก็ตและศาลเจ้าเก่าแก่ บางแห่งยังสามารถเก็บรักษาสภาพเดิมไว้ แม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบสองร้อยปีแล้วก็ตามมีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่า ผู้อพยพรายหนึ่ง จำเป็นต้องอพยพออกมาจากจีนสู่ดินแดนใหม่ เช่นเดียวกับผู้อพยพอื่นๆ ซึ่งรู้ตัวดีว่าในทะเลนั้นมีอันตรายรอบด้าน ต้องการที่พึ่งและที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ไม่มีอะไรที่ดีกว่า นำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตัวเองนับถือบูชามาคุ้มครองระหว่างรอนแรมอยู่กลางเวิ้งน้ำอันยาวไกล จึงได้อันเชิญ “จอสู่กง” หรือองค์ “เฉ่งจุ้ยจ๊อสู๊” ติดตัวมาด้วย เมื่อสำเภาลำนั้นเทียบท่าเมืองทุ่งคา ทันใดนั้น ฝาหีบที่บรรจุองค์เทพนั้น พลันเปิดขึ้นเองโดยไม่มีใครคาดคิด ความศักดิ์สิทธิ์และปาฏิหารย์ปรากฏขึ้นทันที เสมือนหนึ่ง องค์เทพบอกว่า “มาถึงแล้วด้วยความปลอดภัย”และ“ยินดีที่จะประทับอยู่ที่เมืองทุ่งคาแห่งนี้” ซึ่งเป็นเรื่องเล่าขานต่อๆกันมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจจุบันองค์ท่านประดิษฐานโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ในศาลเจ้าแห่งหนึ่งในภูเก็ตต่อมาราชวงศ์ชิงก็ล่มสลาย จีนได้สถาปนาระบบสาธารณะรัฐขึ้นมาแทน และรัฐบาลจีนได้ปิดประเทศ การอพยพหนีตายของผู้คนจากประเทศจีนถือเป็นการสิ้นสุดลง ทิ้งทุกอย่างเป็นอดีต การเดินทางของ “กิ่มซิ้น” ก็เป็นอันสิ้นสุดลงด้วย ไม่มีประติมากรรมศักดิ์สิทธิ์อัญเชิญข้ามน้ำข้ามทะเลของใครมาอีกแล้วกิ่มซิ้น รุ่นแรกๆที่ออกมาจากประเทศจีน ได้ตกทอดบูชามาถึงลูกหลานรุ่นหลัง ความมุ่งมั่นของบรรพชน ลูกหลานเป็นผู้สืบทอด จนเกิดเป็นความผูกพันแยกกันไม่ออกของชาวภูเก็ต แทบทุกบ้านจะมีงานหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าไว้บูชา ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น จวบจนทุกวันนี้