ใบเสมามีความสำคัญในแง่ของพุทธสถาน โดยเป็นที่แบ่งเขตพื้นที่ของวัดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลที่มาของการมีเสมานี้ เนื่องจากพระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดให้พระภิกษุต้องทำ อุโบสถ ปวารณา และสังฆกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะการสวดปาฏิโมกข์ ซึ่งต้องสวดพร้อมกันเดือนละ ๒ ครั้ง จึงเกิดหลักแดนในการที่สงฆ์จะร่วมกันกระทำสังฆกรรม โดยมีหลักบ่งชี้คือใบเสมา
ใบเสมาในแต่ละยุคจะมีความแตกต่างกันและมีรูปแบบเฉพาะของศิลปกรรมในภูมิภาคโดยเริ่มแรกค้นพบใบเสมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งพบมากในแถบจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเสมาที่มีขนาดใหญ่ และสลักเรื่องราวพุทธชาดกไว้อย่างงดงาม
ต่อมาในสมัยสุโขทัย ก็ยังเป็นใบเสมาขนาดใหญ่ แต่ไม่เน้นลวดลายและไม่มีการสลักเล่าเรื่องเหมือนในทวารวดี
สำหรับใบเสมาในสมัยอยุธยาก็สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ช่วง กล่าวคือ ช่วงแรก เป็นเสมาที่ทำจากหินทรายแดงและทรายขาวขนาดใหญ่ โดย เริ่มมีการสลักลวดลายแล้วรูปแบบของใบเสมานี้มีลักษณะที่ผสมผสานระหว่างสุโขทัยและอู่ทองเข้าไว้ด้วยกัน รูปแบบที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้มีความเรียบง่ายและตกแต่งด้วยลวดลายเล็กน้อย
ช่วงอยุธยาตอนกลางและตอนปลายพบว่าใบเสมามีขนาดไม่ใหญ่ มีความบางและสูงชลูดมากกว่าเดิม แต่ยังใช้วัสดุหลักเป็นหินชนวนอยู่และในสมัยอยุธยาตอนปลายยังมีการสร้างแท่น หรือฐานสำหรับปักเสมา โดยเรียกรวมกันว่า เสมาแท่น อีกทั้งมีการสร้างซุ้มสำหรับครอบแผ่นเสมาไว้ เรียกว่า ซุ้มเสมา
และใบเสมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นการสืบทอดรูปแบบมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย หากแต่ขนาดเริ่มเล็กลง และมีลวดลายประดับตรงเสมา ซุ้มเสมา และรูปทรงที่ดูแตกต่างออกไปโดยแผนผังการวางเสมาในสมัยรัตนโกสินทร์แบ่งออกเป็น ๔ ลักษณะคือ
๑. เสมาลอย คือการปักใบเสมาบนฐานที่ตั้งบนพื้นโดยตรง และตั้งอยู่โดดๆ รอบพระอุโบสถ
๒. เสมาบนกำแพงแก้ว คือเสมานั่งแท่นที่มีกำแพงแก้วชักถึงกันทั้ง ๘ แท่น
๓. เสมาแนบผนัง คือเสมาที่ตั้งหรือประดับเข้ากับส่วนของผนังพระอุโบสถ
๔. เสมาแบบพิเศษ คือการใช้แบบอย่างเสมาลักษณะพิเศษต่างจากแบบแผนทั่วไป
นอกจากนี้ลักษณะของใบเสมาที่พบในวัดต่างๆ ในกรุงเทพยังแบ่งเป็น เสมาคู่ และเสมาเดี่ยว ซึ่งหากเป็นวัดหลวงจะมีเสมาคู่ และถ้าเป็นวัดราษฎร์จะเป็นเสมาเดี่ยวนั่นเอง