กาน้ำโบราณ หรือป้านชา อายุราว 100 กว่าปีได้รับบริจาคเพื่อจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์วัดปฐมพานิช ตำบลบ้านหมี่ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี มีทั้งกาน้ำที่ทำจากดินเผาและทำจากกระเบื้องเคลือบ
กาน้ำที่ทำจากดินเผาโดยทั่วไปมักจะมีสีน้ำตาลอมเทาหรือน้ำตาลอมแดงซึ่งมาจากสีของเนื้อดินเผา ส่วนกาน้ำกระเบื้องเคลือบที่พบเห็นได้บ่อยมักจะมีทั้งกาสีขาวล้วน เขียนลวดลายหลายสี เขียนสีแดง หรือเขียนสีน้ำเงินเพียงสีเดียวที่เรียกว่าลายคราม นิยมเขียนลวดลายสัตว์มงคลเช่น มังกร และ ปลา ลายดอกไม้ ทิวทัศน์ และตัวอักษรจีน ฯลฯ หูจับมักทำด้วยทองเหลือง กาบางแบบนอกจากมีหูจับทำด้วยทองเหลืองแล้ว ยังใช้ทองเหลืองจับขอบกา ฝากา และปากกาด้วยทองเหลืองเพื่อความทนทานและยังเพิ่มความประณีตงดงามอีกด้วย
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กาน้ำกระเบื้องและกาน้ำดินเผารูปแบบนี้เป็นสินค้านำเข้าจากประเทศจีนที่ได้รับความนิยมสูง ทั้งในราชสำนักและตามบ้านเรือนก็มีใช้กันโดยทั่วไป กาน้ำกระเบื้องชั้นดียังเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะอย่างหนึ่งของผู้เป็นเจ้าของ และเป็นของใช้ประจำบ้านที่สะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นว่านอกจากซื้อกาน้ำชาสินค้าจากจีนแล้ว ยังรับเอาวัฒนธรรมการดื่มน้ำชาของชาวจีนมาด้วยเช่นกัน