สาด คือ เครื่องสานชนิดหนึ่งสำหรับปูบนพื้นเพื่อใช้นั่งหรือนอน ภาษาไทยกลาง เรียกว่า เสื่อ จัดได้ว่าเป็นเครื่องใช้พื้นบ้านที่มีแพร่หลายทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย และมีใช้กันมาเป็นเวลานานแล้ว ถึงแม้ว่าจะหาต้นกำเนิดของเสื่อไม่ได้ก็ตาม ในอดีตคนไทยใช้เสื่อเป็นประจำในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะปูบนเรือนหรือปูบนพื้นดินหน้าบ้านก็ตาม และส่วนใหญ่จะทอเสื่อไว้ใช้กันเองในครัวเรือน สังเกตได้จากหลายบ้านในชนบทจะมีกี่ทอเสื่อไว้ประจำบ้าน
ลักษณะของเสื่อส่วนใหญ่จะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า หากใช้ในครัวเรือนก็จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เช่น ประมาณ 1.2x2 เมตร แต่ก็อาจมีขนาดใหญ่แบบที่ใช้กันในวัดก็ได้
ในสำนวนไทยมีที่เกี่ยวกับสาดหรือเสื่อนี้ก็คือ “เลี้ยงดูปูเสื่อ” หมายถึง เลี้ยงดูต้อนรับด้วยอาหารการกินเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของคนไทยอย่างหนึ่ง คือ เมื่อมีแขกมาบ้านก็จะจัดหาที่นั่งให้เรียบร้อย มีเสื่อก็นำมาปู แล้วนำอาหารการกินมาต้อนรับ คือต้องทำเป็นอย่างแรกก่อนที่จะพูดคุยธุระกัน ลักษณะการต้อนรับขับสู้แบบนี้ยังมีให้เห็นในสังคมของคนต่างจังหวัดอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
สาดที่บ้านแดง ตำบลบ้างแดง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นสาดที่ชาวบ้านทอไว้ใช้เอง และส่งขายออกไปยังที่อื่น ๆ ด้วย ซึ่งชาวบ้านเองก็แสดงความคิดว่า อย่างไรเสื่อก็ยังมีใช้กันอยู่ในบ้านเราต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่ใช้ง่าย จะใช้ก็กางออกปู จะเลิกใช้ก็ม้วนเก็บ หรือพับเก็บแบบที่ดัดแปลงกันในสมัยนี้ก็ได้ และราคาก็ไม่แพงด้วย ที่สำคัญคือสาดที่ทอจากวัสดุธรรมชาติแท้ เช่น กก หรือ ผือ จะไม่ร้อน ไม่แข็งกระด้าง เป็นจุดเด่นที่คนยังนิยมใช้สาดที่ทอจากธรรมชาติกันเป็นอย่างมาก