สิมวัดบูรพา ตั้งอยู่ที่วัดบูรพาหรือวัดบูรพาราม บ้านแสนตอ หมู่ ๖ ตำบลปทุม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สิมแห่งนี้เป็นสิมเก่าหรือโบสถ์เก่า ซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งที่เป็นวัดร้างอยู่ ซึ่งในสมัยที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ทรงได้ปกครองเมืองอุบลราชธานี ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่พระอาจารย์สีทา ชยเสโน เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดใต้เทิง และได้ธุดงค์มาถึงบริเวณป่าทึบที่มีวัดร้างอยู่ ท่านอาจารย์สีทา ชยเสโน จึงได้นำพาลูกศิษย์และญาติโยมใกล้ชิดให้ช่วยกันซ่อมแซมบูรณะวัดดังกล่าว เมื่อเสด็จกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ทรงทราบความประสงค์ของท่านอาจารย์ได้ทรงให้การอุปถัมภ์โดยนำกำลังผู้ต้องหาทั้งหลายมาช่วยบูรณะ
สิมแห่งนี้มีลักษณะเป็นสิมทึบ แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 2 ห้อง หันหน้าออกสู่แม่น้ำมูล ส่วนฐานอาคารก่อด้วยอิฐ เป็นฐานเอวขันแบบสิมอีสานทั่วไป ผนังมีโครงสร้างภายในเป็นไม้ระแนงฉาบด้วยดินเหนียวผสมน้ำและฟางฉาบทับด้วยปูนขาวอีกครั้ง
คำว่า “สิม” ในภาษาถิ่นอีสานนั้นตรงกับคำว่า “โบสถ์” หรือ “อุโบสถ” ในภาษาไทยถิ่นกลาง สิมถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมของอีสาน จนมีคำเรียกรวม ๆ ว่า “สิมอีสาน” สิมหรือโบสถ์นี้เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญของวัด ที่สะท้อนถึงการแบ่งแยกการประกอบกิจพิธีต่าง ๆ สิมหรือโบสถ์สำหรับประกอบกิจพิธีของสงฆ์ เช่น บวชพระ เป็นต้น หรือศาลาการเปรียญเป็นที่ประกอบพิธีทั่ว ๆ ไปของฆราวาส เช่น ทำบุญครบรอบวันตาย เป็นต้น
สิมโบราณในปัจจุบันหลายวัดอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม แต่อีกหลายวัดก็ได้รับการบูรณะให้คงอยู่ไว้ ซึ่งเป็นแหล่งศึกษาถึงสถาปัตยกรรมโบราณและศึกษาในแง่ของงานศิลป์ของลวดลายที่ช่างโบราณบรรจงสร้างเพื่อแสดงถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนา