สิมวัดแจ้ง ตั้งอยู่ในวัดแจ้ง ถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง จังหวัดอุบลราชธานี คำว่า “สิม” ในภาษาถิ่นอีสานที่ใช้เรียกพระอุโบสถ ดังนั้น สิมวัดแจ้ง ก็คือพระอุโบสถของวัดแจ้ง นั่นเอง ซึ่งเป็นอาคารสำคัญสำหรับใช้ประกอบพิธีสังฆกรรม
สิมวัดแจ้งมีลักษณะเป็นโครงเรือนอาคารขนาดเล็ก ที่แสดงถึงรูปทรง สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวอาคารก่ออิฐ ถือปูน โครงไม้ มีกระจกสีประดับ ลวดลายอาคารเป็นศิลปะท้องถิ่นที่มีความงดงาม ฐานเตี้ย หลังคาชั้นเดียวเดิมมุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีบันไดอยู่ด้านหน้า ราวบันไดปั้นเป็นรูปจระเข้หมอบ ส่วนหน้าบันหน้าอุดปีกนก และรวงผึ้งสลักไม้เป็นลายดอกบัวกอบัวอย่างสวยงาม โดยหางหงส์มีลักษณะพิเศษคือ ทำเป็นรูปหัวนาคตรงหงอนสะบัดปลายเป็นนกเปลว พระอุโบสถวัดแจ้งได้รับการบูรณะเรื่อยมาโดยพยายามให้คงสภาพใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด
พระอุโบสถแห่งนี้เป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าและได้รับเกียรติบัตรในงาน “สถาปนิก 30” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ภายในมีพระประธานองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 2.2เมตร สูง 3.35เมตร ก่ออิฐถือปูนและพระประธานองค์เล็กอีกจำนวน 10 องค์
สำหรับวัดแจ้งนั้นเป็นวัดเก่าแก่อายุประมาณ 130ปี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2418 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยการดำริของเจ้าราชบุตร (หนูคำ) เป็นกรมการเมืองอุบลราชธานี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2436หันหน้าสู่ทุ่งศรีเมือง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 18 ไร่ 59 ตารางวา