หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ที่วัดทุ่งศรีเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหอไตรที่สร้างขึ้นในในสมัยรัชกาลที่ 3 สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง โดยสร้างให้ตั้งอยู่กลางสระน้ำ เพื่อป้องกันแมลงเช่น มด ปลวก มากัดกินทำลายพระไตรปิฎก
ในเชิงสถาปัตยกรรมหอไตรวัดทุ่งศรีเมืองนี้มีลักษณะของศิลปะผสม 3 สกุลช่าง คือ ไทย พม่า และลาว ตัวอาคารเป็นแบบไทย ตัวเรือนไม้ปะกนขนาด 4 ห้อง ผนังภายในเขียนลายลงรักปิดทอง ที่บานหน้าต่างและประตูเขียนรูปทวารบาล หลังคามีศิลปะไทยผสมพม่า ตัวอาคารซ้อนกันหลายชั้น แสดงอิทธิพลศิลปกรรมพม่าที่ส่งผ่านมาทางศิลปะล้านช้าง ลวดลายแกะสลักบนหน้าบันเป็นลักษณะของศิลปกรรมชั้นสูงระดับช่างหลวงจากเมืองเวียงจันทน์ ฝาปะกนแกะสลักเป็นรูปราศีต่างๆ คันทวยด้านซ้ายและขวาของประตูทางเข้าสลักเป็นเทพนม และเป็นสิ่งก่อสร้างที่ได้รับรางวัลผลงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นเมื่อปี พ.ศ. 2527
ประวัติโดยย่อของหอไตรนี้คือเมื่อพระอริยวงศาจารย์ฯ สร้างหอพระพุทธบาทเสร็จแล้ว ก็ได้สั่งให้ญาคูช่าง สร้างหอไตรที่สระกลางน้ำ โดยมีจุดประสงค์ ใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก คือ คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และปรัชญาพื้นบ้าน รวมถึงตำราต่าง ๆ มากมาย
ส่วนมากเป็นหนังสือใบลานจารึกด้วยอักษรธรรมและสมุดข่อย ไม่ให้แห้งและกรอบและเพื่อกันปลวก มิให้ทำลายพระไตรปิกฎให้เสียหาย (ก่อนที่พระราชรัตนโนบลมาปกครองวัด พระไตรปิฎกได้สูญหายไปมากแล้ว) เมื่อได้สร้างหอพระพุทธบาทและหอไตรกลางน้ำเสร็จแล้ว ก็ได้สร้างกุฎิเป็นที่อยู่ของพระภิกษุและสามเณร เพราะวัดนี้ตั้งอยู่ปลายทุ่งที่อยู่ท่ามกลางเมืองอุบลราชธานี จึงได้ชื่อว่า วัดทุ่งศรีเมือง จึงเป็นเหตุให้ทุ่งนากลางเมืองอุบลราชธานีได้ชื่อว่าทุ่งศรีเมืองตามไปด้วย
วัดทุ่งศรีเมืองสร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2385 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) เป็นผู้อำนวยการสร้าง