หินพระปรมาภิไธย ที่แก่งสะพือ เป็นอนุสรณ์ที่ล้ำค่าของเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องมาจากเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถเสด็จประพาสแก่งสะพือ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2498 เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ได้เสด็จเยี่ยมพสกนิกรครั้งนี้
ทางราชการจึงได้จัดเตรียมศิลาทรายที่ขุดพบในบริเวณวัดสระแก้ว(วัดใต้)ไว้เมื่อล้นเกล้า ฯ ทั้งสองพระองค์เสด็จมาถึงชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชานุญาต ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยทรงจารึกลงแผ่นศิลาทรายด้วยชอล์คสีขาว ซึ่งทางราชการได้ให้ช่างแกะสลักรอยจารึกเพื่อกันความเลอะเลือนภายหลัง
ต่อมาจึงได้สร้างตั้งแท่นประดิษฐานพระปรมาภิไธยขึ้น โดยอยู่ในการควบคุมจากสถาปนิกของ
สำนักงานส่วนทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้วางแผนและออกแบบแปลน
สำหรับแท่นหินที่นำมาเป็นแท่นประดิษฐานนั้น ได้มาจากบริเวณน้ำตกเซน้อย เป็นหินรูปร่างสี่เหลี่ยม ด้านไม่เท่า มีฐานกว้างปลายสอบเข้า มุมขวามีรอยเว้าคล้ายปากนกอ้ากว้าง จึงได้สลักหินพระปรมาภิไธย
ให้มีขนาดพอดีกับรอยเว้าแล้วนำมาเชื่อมยึดด้วยซีเมนต์ พร้อมกับจัดวางก้อนหินปลูกไม้ประดับ ตามหลักการจัดสวนให้เกิดความสวยงาม ส่วนหินก้อนด้านซ้ายได้แกะสลัก “แก่งสะพือ” ตามชื่อแก่ง
หลังจากดำเนินการแล้วเสร็จ จึงได้จัดการเฉลิมฉลองหินพระปรมาภิไธยในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2510
หินพระปรมาภิไธยจึงเป็นอนุสรณ์สถานที่เด่นเป็นสง่าและล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานีจนถึงปัจจุบัน