อนุสาวรีย์แห่งความดี ณ จังหวัดอุบลราชธานี สร้างขึ้นโดยทหารฝ่ายสัมพันธมิตรที่ตกเป็นเชลยศึกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อระลึกว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยถูกจับเป็นเชลยศึกและถูกกักกันอยู่ ณ ที่แห่งนี้ แต่ก็ยังได้รับความเมตตากรุณาจากชาวอุบลราชธานีที่คอยแอบส่งเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ยารักษาโรค และอื่นๆ โดยไม่หวาดกลัวภัยจากทหารญี่ปุ่น ความเมตตาทั้งหมดทั้งมวลกลับกลายมาเป็นกำลังใจอย่างที่สุดที่จะรักษาชีวิตของตัวเองให้อยู่รอดจนจบสงคราม หลังจากได้รับอิสรภาพ เหล่าทหารฝ่ายพันธมิตรจึงร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์นี้ขึ้น เมื่อปี ค.ศ. 1945 ทางด้านฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทุ่งศรีเมือง ปัจจุบัน (พ.ศ.2555) อนุสาวรีย์นี้มีอายุประมาณ 67 ปีแล้ว
ในปัจจุบันหลังมีการปรับสภาพพื้นที่โดยรอบทุ่งศรีเมือง จึงมีการย้ายอนุสาวรีย์แห่งความดีมาตั้งอยู่บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทุ่งศรีเมือง ใกล้กับอนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) มีลักษณะเป็นแท่นหินก่อด้วยศิลาแลง (หรือ “หินแมรัง” ในภาษาถิ่น) ขนาด ประมาณ 1.20 x 2.50 สูง 1.00 ม. บนแท่นหินมีเสาหินสูงประมาณ 3.00 ม. รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 0 .50 ม. คล้ายปล่องโรงสีไฟ ที่เสาหินด้านตะวันออกมีอักษรโลหะเรียงจากบนลงมาล่าง ปรากฏ ดังนี้ EX.P.O.W. ซึ่งอาจารย์วาสิต ศรีธัญรัตน์ ครูพลศึกษา ร.ร.นารีนุกูล/วิทยาลัยครูอุบลฯ ได้อธิบายให้ผู้เขียนฟังว่า อักษรนี้ย่อมาจากคำเต็มว่า "EX.Prisoner of War" แปลว่า “นักโทษนอกประจำการแห่งสงคราม” (ตรงกับเอกสารของ Mr.Tom Porter) หรือ "เชลยสงคราม"
อนุสาวรีย์แห่งความดีแห่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นคนจิตใจดีของชาวอุบลราชธานี ที่มีความเมตตาต่อเพื่อมนุษย์ด้วยกันโดยไม่สนใจว่าจะเป็นชนชาติไหน อยู่ฝ่ายใดในการสงคราม