ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 12° 25' 12.806"
12.4202239
Longitude : E 102° 31' 47.2901"
102.5298028
No. : 171141
ตำนานเขาสมิง
Proposed by. ศูนย์ข้อมูลกลาง Date ไม่ระบุ
Approved by. ตราด Date 14 December 2021
Province : Trat
3 3284
Description

ตำนานเขาสมิง ในดินแดนไกลโพ้นเลยจากทิวเขาเหยียดยาวที่กั้นดินแดนไทยและขอมออกจากกัน มีชายหนุ่มเชื้อชาติขอมคนหนึ่งชื่อ สมิง ได้ร่ำเรียนวิชาอาคมจนแก่กล้า และเพื่อทดลองวิชาที่ได้ร่ำเรียนมา เขาจึงเดินทางข้ามภูเขาสูง ผ่านป่าดงดินที่บางตอนแสงตะวันไม่เคยส่งถึงพื้น ลัดเลาะหนองน้ำกว้างใหญ่ โดยปราศจากภยันตรายใด ๆ มาแผ้พาน จนกระทั่งวันหนึ่งสมิงได้เผชิญหน้ากับเสือโคร่งที่กินคนมาแล้วมามาย อาคมหรือมนตราใด ๆ ขอสมิงไม่สามารถสะกดมันได้ จึงเป็นครั้งแรกที่สมิงพ่ายแพ้ แม้ร่างกายจะแหลกยับเยินใต้คมเขี้ยว แต่วิญญาณกล้าแข็งของสมิงก็ไม่ยอมลดละ ในที่สุดเขาก็ครอบงำวิญญาณของเสือกินคนตัวนั้นได้สำเร็จ คงความเป็นอมตะอยู่ในร่างของเสือร้าย ทุกข์ทนเหงาหงอยอยู่ในป่าลึก ร่อนเร่รอนแรมนับเดือนนับปี หาเพื่อมนุษย์ ทว่าดั่งต้องคำสาป มนุษย์ที่ได้พบพานในป่าทึบ ไม่ได้อยู่ในฐานะเพื่อน แต่กลับเป็นเหยื่อสังเวยความหิว ในที่สุดสมิงก็ได้เดินทางมาถึงฝั่งน้ำเขียว ดูลึกล้ำ ที่ฝั่งตรงกันข้ามเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีเรือกสวนไร่นา มีสวนดอกไม้สีสันสดใส และมีผู้คนที่เป็นมิตร ตรงข้ามกับฝั่งที่สมิงอาศัยอยู่ ซึ่งมีแต่ป่าทึบและเสียสัตว์กู่ร้องคำรามหาเหยื่อในยามค่ำคืน สมิงจึงเดินทางข้ามเถาสะบ้าใหญ่ที่ทอดตัวข้ามฝั่งคลอง ปรากฏตัวที่ริมลานนวดข้าว ในคืนที่แสงจันทร์ส่องสว่าง ด้วยรูปลักษณ์ของชายหนุ่มรูปงามในชุดสีดำ มีผ้าขาวม้าคาดพุง ถือไต้อันใหญ่ไว้ในมือ พวกชาวบ้านต้อนรับสมิงอย่างอบอุ่นในวงเหล้า และมีคนสังเกตเห็นว่าสมิงวางไต้ที่ดับแล้วไว้ข้างตัวตลอดเวลา แม้ในยามที่ออกไปรำวงรอบลานนวดข้าว เขาก็ไม่ลืมคว้าไต้ขัดไว้ใต้ผ้าขาวม้าที่คาดพุงอยู่ ตกดึกน้ำค้างลงจนฟางข้าวเปียก ทุกคนหลับใหล สมิงจึงได้จากไป เมื่อร่างในชุดดำหันหลังจากไป แสงเดือนค้างฟ้าสาดส่องด้านหลังของสมิง แต่ไม่มีเงาใด ๆ ทอดนำหน้าสมิง สมิงไม่มีเงา เขาต้องถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอเมื่อมาปรากฏตัวที่หมู่บ้าน บางครั้งเสียงหัวเราะของเขาดังกระหึ่มเกินเสียงคน บางครั้งมีกลิ่นสาบสางรุนแรงเมื่อสมิงเคลื่อนไหว สมิงต้องเดินข้ามเถาสะบ้า ไม่มีเรือเหมือนคนอื่น และไม่เคยมีใครเคยเห็นบ้านของสมิงที่ฟากโน้น ชาวบ้านทุกคนตระหนักในความผิดปกติ แต่ทุกคนก็ชอบสมิง ตั้งแต่สมิงมาที่หมู่บ้านนี้ พืชพันธุ์ธัญญาหารได้ผลดีกว่าที่เคย บางทีมีฝนตกหนักน้ำป่าหลาก สมิงจะเตือนชาวบ้านให้รู้ล่วงหน้า บางปีแล้งจัดสมิงก็บอกให้เตรียมกักเก็บน้ำไว้ให้มากเป็นพิเศษ สมิงห่วงใยชาวบ้านเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน แต่สมิงกำชับไว้ว่า ห้ามตัดเถาะสะบ้าใหญ่เด็ดขาด ถ้าฝ่าฝืนสมิงจะโกรธมาก และจะไม่กลับมาหาพี่น้องที่นี่อีก วันหนึ่ง มีสิ่งแปลกใหม่ล่วงล้ำเข้ามาในคลองน้ำลึกแห่งนี้ มันคือเรือสำเภาที่จะนำสินค้าไปขายที่หมู่บ้านใหญ่ข้างบน เสากระโดงเรือติดเถาสะบ้า คนบนเรือสำเภาจึงช่วยกันตัดเถาสะบ้าจนขาดเพื่อให้เรือผ่านไปได้ก่อนค่ำ ทันทีที่เถาสะบ้าขาด รอบข้างมืดลงอย่างรวดเร็ว ต้นตะพงใหญ่สูงชะลูด เห็นแต่ยอดตะคุ่ม เหมือนคนในชุดดำยืดตัวอยู่เหนือยอดไม้ จ้องมองมากลางคลองอย่างเกรี้ยวโกรธ ลมไม่พัด ใบไม้ไม่ไหว ทุกสิ่งนิ่งสงัด และแล้วก็มีเสียงคำรามกระหึ่มในลำคอค่อย ๆ ดังขึ้น ๆ พร้อมกับลมที่ก่อตัวแรงขึ้น ๆ พัดเสากระโดงเรือโอนเอน พัดน้ำในคลองเป็นคลื่นกระฉอกแรงจนเรือใหญ่ไหวสะเทือนอย่างรุนแรง น้ำถูกหอบเป็นคลื่นสูง ซัดสาดลำเรือและผู้คนบนนั้น สายฝนกระหน่ำเป็นม่านขาวหนาทึบในความมืดมิด เสียงลมเสียงฝน เสียงน้ำในคลองคำรามก้องทั่วท้องคุ้ง เช้าวันรุ่งขึ้น น้ำในคลองนิ่งสนิท ไร้ร่องรอยพายุร้าย ไม่มีเรือสำเภา ไม่มีซากศพ ไม่มีอะไรแปลกปลอมในลำน้ำนี้ ไม่มีสมิง จะมีก็เพียงเสียงคำรามต่ำ ๆ แผ่วโหย แว่วมาจากป่าทึบฟากโน้น หากไม่มีเถาสะบ้าใหญ่ขาดห้อยแหลกลาญปรากฏให้เห็น ชาวบ้านคงคิดว่าตัวเองฝันไปว่าเคยได้เห็นชายหนุ่มรูปงาม คนที่ไม่มีเงา ไม่เคยปรากฏตัวในตอนกลางวัน และไม่มีบ้าน ชาวบ้านที่รักและอาลัยสมิงช่วยกันสร้างศาลหลังเล็ก ๆ บนตลิ่งสูงลิ่วมองลงไปเห็นลำน้ำเขียวครึ้มทอดยาวคดเคี้ยวอยู่เบื้องล่าง แล้วทำพิธีบวงสรวงเชิญวิญญาณของสมิงให้สิงสถิตอยู่ที่นี่ ณ ที่นี้ เขาสมิง คือ บ้านของสมิง ที่มา วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา

Location
Province Trat
Details of access
Province Trat
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่