ข้าวทิพย์เป็นอาหารชนิดหนึ่ง มีพิธีกรรมและลักษณะกรรมวิธีในการปรุงที่พิถีพิถันเป็นพิเศษ ใช้ส่วนผสมหลายอย่าง และมีข้อกำหนดว่าผู้กวนข้าวทิพย์ต้องเป็นสาวพรหมจารี ถือกันว่าข้าวทิพย์เป็นอาหารวิเศษ มีรสอร่อยปานอาหารทิพย์ เมื่อรับประทานแล้วจะเกิดสวัสดิมงคล และระงับโรคภัยได้
การประกอบพิธีกรรมกวนข้าวทิพย์นั้น เดิมนิยมทำกันในช่วงเดือน ๑๐ หรือเทศกาลสารท มีมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์การกวนข้าวทิพย์ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แล้วก็งดไปในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จวบจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง โดยได้เพิ่มพิธีทางพุทธศาสนาเข้ามาด้วย และได้เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมส่วนผสมหลายอย่างเท่าที่หาได้ในขณะนั้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงส่วนผสมของพระราชพิธีครั้งนั้นว่า “ข้าวทิพย์ที่เรากวนอยู่ในพระราชพิธีทุกวันนี้ เห็นจะเกิดขึ้นด้วยนึกเอาเอง ดูตั้งใจจะให้มีถั่วงานมเนย และผลไม้ต่างๆ ลงมาเป็นอันหนึ่งอันเดียว จนเรียกกันในคำประกาศว่า อเนกรสปายาส”
ข้าวทิพย์ตามแบบโบราณไทย ที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน มีส่วนผสมต่างๆ เช่น ถั่วดำ ถั่วขาว ถั่วทอง ถั่วราชมาษ งา ผลเดือย สาคู ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวเม่า เผือก มันเทศ กระจับสด แห้วไทย ข้าวสารหอม ผลไม้แดง ผลบัว น้ำนมโคเนย น้ำผึ้ง น้ำอ้อย มะพร้าว ชะเอม น้ำตาลกรวด น้ำตาลทราย ข้าวตอก ขนมปังจืด ทับทิม น้อยหน่า เงาะ ลางสาด กล้วย ละมุด พลับสด สาลี่ แห้วจีนผลชิด พลับแห้ง ลำไย สับปะรดกวน ข้าวที่อ่อนเป็นน้ำนม เป็นต้น
ลักษณะของข้าวทิพย์เมื่อกวนเสร็จ จะมีความเหนียวพอประมาณ เมื่อเย็นสนิทแล้วสามารถนำมาปั้นหรือกดลงพิมพ์เป็นชิ้นได้ ไม่แข็งกระด้าง หอมกลิ่นผลไม้ต่างๆ กะทิ น้ำตาล มีสีสันของส่วนผสม สามารถมองเห็นเนื้อข้าว สีของผลไม้และส่วนผสมอื่นๆได้ มองดูน่ารับประทาน เคล็ดลับสำคัญในการกวนข้าวทิพย์ คือ ขณะกวนต้องกวนไปทางเดียวกันตลอดจนกระทั่งเสร็จ เพื่อให้ได้ความเหนียวและกะทิไม่แยกตัวจากน้ำตาล
จะเห็นได้ว่าการกวนข้าวทิพย์นี้ไม่ได้ทำกันง่ายๆ ส่วนผสมแบบโบราณหลายสิบอย่าง แต่ปัจจุบันใช้ส่วนผสมหลักๆ ๙ อย่าง ได้แก่ น้ำนมข้าว เนย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาล นม ถั่ว งา และข้าวเม่า
การกวนข้าวทิพย์ในเทศกาลงานออกพรรษาของชาวบ้านหนองนาแซง ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งการกวนข้าวทิพย์จะกวนในวันออกพรรษาเป็นประจำทุกปี โดยคนในท้องถิ่นอีสานมีความเชื่อว่าข้าวทิพย์เป็นข้าว ศักดิ์สิทธิ์ที่จะทำให้ผู้ที่ได้รับประทานพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสุขสวัสดิ์ และเป็นมงคลแก่ชีวิต เนื่องจากการกวนข้าวทิพย์แต่ละครั้ง นับว่าเป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้ทั้งทุนศรัทธาและความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน เป็นอย่างมากจึงถือได้ว่าพิธีกวนข้าวทิพย์มีส่วนช่วยทำให้เกิดความสามัคคีใน ชุมชน รวมทั้งช่วยสืบสานพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ต่อไปด้วย