อิ้ว เป็นเครื่องมือสำหรับแยกเมล็ดฝ้ายออกจากปุยฝ้าย เป็นเครื่องกลทำด้วยไม้ มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหนีบปลาหมึกย่าง ภาษาอีสานเรียกว่า “อิ้ว” (แปลว่า เครื่องกลึง เครื่องหีบ) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้สัก มีแกนไม้ประกบกันสองอันขบกันด้วยเฟืองที่ปลายแกนไม้ทั้งสอง ปลายแกนอีกด้านหนึ่งทำมือหมุนสำหรับหมุนเฟืองให้แกนไม้ขบเข้าหากัน มีเสาสองข้างเจาะเป็นช่องสำหรับใส่แกนไม้ยึดด้วยลิ่ม โดยเสาทั้งสองข้างตั้งยึดอยู่บนฐานไม้ มีแผ่นไม้ยาวๆไว้สำหรับนั่งทับเพื่อไม่ให้ล้มเวลาอิ้วฝ้าย เครื่องอิ้วฝ้ายเป็นเครื่องมือสำหรับแยกเปลือก ปุยฝ้าย และเมล็ดฝ้ายออกจากกัน โดยเมื่อหมุนให้ไม้ขบกัน ปุยฝ้ายจะลอดออกไปทางหนึ่ง ส่วนเปลือกและเมล็ดจะร่วงออกไปอีกทางหนึ่ง หลังจากนั้นจะนำปุยฝ้ายที่อิ้วแล้วไปทำการดีดให้เป็นปุยฟูต่อไป อุปกรณ์ที่ใช้ผลิต ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้มะค่าทุ่ง ไม้คะยูง (ไม้พยุง) ไม้เนื้อแข็งและเหนียว เช่น ไม้ซาด ไม้กุง (ไม้พวง) ไม้จิก (ไม้เต็ง)
มีดแหลมหรือมีดตอก 2 ตัว เหล็กเสี่ยน (กลึง) 1 ตัว วิธีการผลิต ขั้นแรกนำไม้เนื้อแข็งยาวประมาณ 40-50 ซม. มาเหลาหรือเสี้ยน (กลึง) ด้วยเหล็กเสี้ยนให้กลมจำนวน 2 อัน เพื่อทำเป็นที่สำหรับขบเมล็ดฝ้ายแยกออกจากปุย เราเรียกไม้ 2 อันนี้ว่า“เลาอิ้ว” ด้านซ้ายของตัวอิ้วจะทำเป็นพู (เกลียว) โดยใช้มีดแหลมหรือมีดตอกควัด (ควั่น) ให้เป็นร่องเกลียวรูปร่างคล้ายเฟืองสำหรับให้ขบดันกันเวลาใช้งานเครื่องจะเดินทำงานเรื่อย ๆ ด้านขวาของตัวอิ้วทำมือจับเรียกว่า“มืออิ้ว”หลัก 2 หลัก ซ้าย ขวา เพื่อเป็นขาตั้ง