การทำขวัญข้าวถือเป็นประเพณีหนึ่งของชาวบ้านหนองขาว ที่อยู่ในการทำนา คือ เมื่อข้าวเริ่มตั้งท้อง ชาวบ้านจะเตรียมทำขวัญข้าว เพราะเชื่อว่าข้าวจะต้องแพ้ท้องเหมือนกับคน และถ้าได้กินอาหารดี ๆ จะงอกงาม ออกรวงได้ดี จึงนำอาหารคาวหวาน ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว หมาก พลู น้ำ น้ำหอม แป้งหอม ผ้านุ่ง ผ้าสไบ หวี สร้อย ไปทำขวัญข้าวในวันศุกร์ โดยใช้ไม้รวกหรือไม้ไผ่หลาวกลม ๆ ส่วนปลายไม้ผูกด้วยผ้าสีต่างๆ อย่างน้อยสามสี ตรงกลางใช้ใบมะพร้าวสานเป็นวงกลมสำหรับใส่ของได้เรียกว่า “ยุ้งข้าว” นำไปยังทุ่งนา แล้วทำพิธีทำขวัญข้าว โดยรวบข้าว ๓ กอมัดรวมกันไว้ นำน้ำหอม แป้งหอมทาที่กอข้าว นุ่งผ้า หวีผม ห่มสไบ ใส่สร้อย นำไม้ไผ่ที่ผูกด้วยยุ้งข้าวและผ้าสีปักให้เรียบร้อย แล้วจุดธูปบอกกล่าวโดยพูดว่า “แม่โพสพ แม่โพศ รี แม่จันทร์เทวี แม่ศรีโสภา มาแม่มา เชิญมาเสวยเครื่องกระยาบวด ของเปรี้ยว ของหวาน ข้าวพล่า ปลายำ แพ้ท้องแพ้ไส้ ออก-ง่ายออกดาย” เสร็จแล้วนั่งรอสักครู่ จึงนำอาหารคาวหวานและผลไม้เปรี้ยวใส่ในยุ้งข้าวให้พูนจนล้น ส่วนที่เหลือก็จะใช้ใบตองปูและกองไว้ในบริเวณนั้น และนำผ้านุ่ง ผ้าสไบ สร้อย เก็บกลับมาบ้านเป็นเสร็จพิธี เชื่อว่าเมื่อทำขวัญแล้วข้าวจะงอกงามออกรวงได้ผลผลิตเต็มยุ้งเต็มฉาง