(๖) ๏ เชิงเลนเปนตลาดสล้าง หลักเรือ
โอ่งอ่างบ้างอิดเกลือ เกลื่อนกลุ้ม
หลีกล่องช่องเล็กเหลือ ลำบาก ยากแฮ
ออกแม่น้ำย่ำถุ้ม ถี่ฆ้องสองยามฯ
(๗) ๏ แซ่เสียงเวียงราชก้อง กังสดาน
หง่งหงั่งระฆังขาน แข่งฆ้อง
สังแตรแซ่เสียงประสาร สังขีด ดีดเอย
ยามดึกครึกครื้นก้อง ปี่แก้วแจ้วเสียงฯ
(๘) ๏ วัดเลียบเงียบสงัดหน้า อาราม
ขุกคิดเคยพญายาม แย่งน้อง
รวยรินกลิ่นสไบทราม สวาดร่วง ทรวงเอย
สูรกลิ่นสริ้นกลอนพร้อง เพราะเจ้าเบาใจฯ
(๙) ๏ เจริญบุญสุรธรไว้ ให้สมร
สืบสวัสสัฐาภร ผ่องแผ้ว
เชิญทราบกาพกลกลอน กล่าวกลิ่น ถวินเอย
จำขาดชาตินี้แล้ว คลาดน้องของสงวนฯ
(๑๐) ๏ วัดแจ้งแต่งตึกตั้ง เตียงนอน
เคยปกนกน้อยคอน คู่พร้อง
เคยลอบตอบสารสมร สมานสมัคร รักเอย
จำจากพรากนุชน้อง นกน้อยลอยลมฯ
สุนทรภู่แต่งนิราศสุพรรณขึ้นในราวปี พ.ศ.๒๓๗๔ ในระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศ และเดินทางไปเมืองสุพรรณโดยทางเรือ วัตถุประสงค์ในการเดินทางคือเพื่อหาแร่ชนิดหนึ่ง ที่สามารถนำมาแปรธาตุชนิดอื่นได้ ซึ่งเรียกกันว่า "เล่นแร่แปรธาตุ"
นิราศสุพรรณนี้เป็นเพียงร้อยกรองเรื่องเดียวของท่านที่แต่งเป็นโคลง ทำนองจะลบคำสบประมาทว่าท่านแต่งได้แต่เพียงกลอน ในนิราศเรื่องนี้ เราจะพบท่านสุนทรภู่แต่งโคลงกลบทไว้หลายต่อหลายรูปแบบ และโคลงที่มีสัมผัสในเหมือนอย่างกลอนที่ไม่เหมือนใครอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า ท่านสุนทรภู่ใช้คำเอกโทษ โทโทษ เปลืองที่สุด ด้วยหมายจะคงความหมายดังที่ต้องการ ส่วนการรักษารูปโคลงเป็นเพียงเรื่องรอง ทำให้ได้รสชาติในการอ่านโคลงไปอีกแบบหนึ่ง เพราะต้องเดาด้วยว่าท่านต้องการจะเขียนคำว่าอะไร