ประวัติบ้านเตย
บ้านเตย ปัจจุบันมี ๒ หมู่คือ ม. ๑ และหมู่ ๑๒ ตั้งเมื่อประมาณปี พ .ศ. ๒๓๓๕ (จ.ศ.๑๑๕๔) โดยมีหัวหน้าชื่อ ท้าวแสนฮ้อย ซึ่งแยกตัวออกจากกลุ่มที่อพยพตามพระวอพระตามา มองเห็นเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีทำเลดี เหมาะแก่การเพาะปลูกเพราะติดลำน้ำ ๒ แห่ง มีลักษณะเป็นน้ำซับ ชาวบ้านเรียกน้ำคำ ซึ่งเป็นพื้นที่บ้านเตย หรือดูนเตย คนกลุ่มนี้ได้ปักหลักทำมาหากินอยู่กับลำน้ำ ก่อสร้างบ้านเรือนอยู่ทางทิศเหนือลำน้ำ (ฮ่องคุยคายและขนาบด้วยลำห้วยพระโรจน์) ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๔๐๐ ได้มีคนอีกกลุ่มหนึ่งอพยพมาจาก อ.พิบูลมังสาหาร โดยมีหน้าชื่อ สิบทหารแดง หรือ แสงแดง มาสมทบ ร่วมสร้างวัฒนธรรมประเพณี และแบบอย่างต่าง ๆ สู่คนรุ่นหลังจนถึงปัจจุบัน การก่อตั้งหมู่บ้านครั้งแรกอยู่ทางทิศเหนือของดูนเตย เป็นบริเวณที่มีพันธุ์ไม้ที่มีชื่อว่า ต้นเตย เต็มไปหมด ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน นาม บ้านเตย นั่นเองการคมนาคมมีเส้นทางเกวียนที่มาจากบ้านจานลาน –บ้านหนองช้าง – บ้านพระโรจน์ ผ่านบ้านเตย บ้านม่วง จนถึงเพียเพ้า (ชื่อหมู่บ้านที่เคยไปขายข้าวที่อุบลราชธานี) จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๕ – ๒๕๐๕ มีการบูรณะวัดบ้านเตยเป็นครั้งที่ ๓ (บูรณะวัดบ้านเตยครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ (จ.ศ. ๑๒๐๐) โดยเปลี่ยนให้พระอุโบสถหันหน้าสู่ทิศตะวันออก เมื่อก่อนมีวัดอยู่ ๒ วัด ปัจจุบันเหลือวัดเดียว มีการสมโภชน์ พระอุโบสถ ๒ วัน ๒ คืน ตามหลักฐานเป็นหนังสือ “อุบาสกพิธี” โดยพระวิโรจน์รัตโนบล ในงานสมโภชน์พระอุโบสถ ปี ๒๕๐๕ ว่า ได้พบอักษรจารึกในหลักพัทธสีมา นับจนถึงปัจจุบันบ้านเตยมีอายุกว่า ๒๒๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ทางราชการ แบ่งการปกครองบ้านเตยออกเป็น ๒ หมู่ คือ หมู่ ๑ และหมู่ ๑๒ ปัจจุบันมี นายพนม ชมพูวิเศษ เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑ และมีนายประเสริฐ จันทร์งาม เป็นผู้ใหญ่บ้าน ม. ๑๒