ชาวอำเภอแปลงยาว นิยมให้บุตรชาย หรือหลานชาย ที่มีอายุ ๗ ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน ๒๐ ปีได้บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา ในช่วงอายุดังกล่าวส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนจึงส่งบุตรหลานเข้าบรรพชาในช่วงปิดภาคเรียน คือช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ส่วนการอุปสมบท นิยมส่งบุตรหลานที่มีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์เข้าอุปสมบท เพื่อเป็นการทดแทนพระคุณของบิดา มารดา ในการบวชนั้น นิยมจัดให้มีการทำขวัญนาค เพื่อสั่งสอนให้นาคได้สำนึกถึงพระคุณของบิดามารดาผู้ให้กำเนิด มีการกินเลี้ยงงานบวชในตอนเย็น และแห่นาคไปอุปสมบทที่วัดในเวลาเช้า จากวิถีประเพณีดังกล่าว อำเภอแปลงยาว ร่วมกับพระครูสุจิตบุญญากร เจ้าอาวาสวัดเนินไร่ เจ้าคณะตำบลหัวสำโรง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง และประชาชน ได้ร่วมกันจัดงานอุปสมบทพระภิกษุสามเณรภาคฤดูร้อน มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๐ ช่วงเวลาจัด ๑- ๓๐ เมษายนของทุกปีโดยให้ผู้ที่จะบวชไปพร้อมกันที่วัดก่อนวันบวช โดยนำผ้าเช็ดตัว สบู่ ยาสีฟัน นอนพักค้างคืนที่วัด เพื่อเตรียมการโกนผมให้เรียบร้อย พอถึงวันที่ ๑ เมษายน จะเป็นพิธีอุปสมบทบรรพชาพระภิกษุสามเณร วัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ ๒ เมษายน ของทุกปี นอกจากนี้เพื่อส่งเสริมให้ นักเรียน นักศึกษา เยาวชนใช้เวลาในช่วงปิดภาคเรียนได้ศึกษาหลักธรรมทางศาสนา ปลูกฝังให้เด็ก และเยาวชนมีคุณธรรม จริยธรรม ห่างไกลจากยาเสพติด และสิ่งอบายมุขต่าง ๆ
วัดที่จัดโครงการอุปสมบทบรรพชาพระภิกษุสามเณรภาคฤดูร้อน เป็นประจำทุกปีนอกจากวัดเนินไร่ หมู่ ๘ ตำบลแปลงยาวแล้ว ยังมีวัดป่าบุญคุ้มเกล้า (นิกายธรรมยุติ) ตั้งอยู่หมู่ ๙ ตำบลหัวสำโรง และจัดเป็นบางปีมีที่วัดไผ่แก้ว หมู่ ๗ ตำบลแปลงยาว วัดด่านเงิน หมู่ ๔ ตำบลแปลงยาว ช่วงวันที่ ๑ –๓๐ เมษายน ของทุกปี
ผลที่ได้รับจากการบรรพชาอุสมบท เด็กและเยาชนมีโอกาสทดแทนคุณบิดา มารดา สืบทอดศาสนา ศึกษาปฏิบัติตนตามแนวทางพระพุทธศาสนา โดยมีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้อบรม สั่งสอน ขัดเกลาจิตใจให้เป็นคนดีของสังคม และเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี