เมืองฉะเชิงเทรา ในอดีต เคยเป็นเมืองที่อยู่ในอำนาจของขอม แห่งอาณาจักรลพบุรี ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของเมืองฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำบางปะกง ที่มีความกว้างใหญ่และลึก จึงอาจเป็นที่มาให้ชาวเมืองสมัยนั้น เรียกชื่อแม่น้ำนี้เป็นภาษาเขมรว่า“สตึงเตรง”หรือ“ฉทรึงเทรา”ซึ่งแปลว่าคลองลึก นั่นเอง ต่อมาเสียง“ฉทรึงเทรา”จึงเพี้ยนเป็น“ฉะเชิงเทรา”เช่นในปัจจุบัน
หากแต่มีความเห็นต่างออกไปว่า “ฉะเชิงเทรา” น่าจะมาจากชื่อเมือง“แสงเทรา”หรือ“แซงเซา”หรือ “แสงเซา” ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราช เสด็จไปตีได้ ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ กล่าวไว้ เพราะการออกเสียงคล้ายกัน
เมืองฉะเชิงเทรา มีชื่อไทยว่า“เมืองแปดริ้ว”คงจะมาจากการที่เมืองฉะเชิงเทรา เป็นเมืองอุดมสมบูรณ์มีปลาช่อนตัวโต ชุกชุม เมื่อนำมาแล่ทำปลาตากแห้ง จะแล่ได้ถึงแปดริ้ว บ้างก็ว่ามาจากนิทานพื้นบ้าน เรื่อง “พระรถเมรี” ที่ยักษ์ฆ่านางสิบสอง แล้วชำแหละศพ ออกเป็นชิ้น ๆ รวมแปดริ้ว แล้วทิ้งลอยไปตามลำน้ำท่าลาด
สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างกำแพงและป้อม เพื่อป้องกันศัตรู ในปี พ.ศ. 2377 เมืองฉะเชิงเทรา ในระยะแรก จึงอยู่บริเวณริมแม่น้ำบางปะกงตั้งแต่บริเวณวัดสัมปทวน ตลาดบ้านใหม่ ตลาดบริเวณริมคลองท่าไข่ จนถึงวัดโสธรวรารามวรวิหาร เมืองฉะเชิงเทรา จึงมีความเจริญทางเศรษฐกิจตั้งแต่นั้นมา เนื่องจากเป็นพื้นที่ผลิตข้าวและน้ำตาลไปขายประเทศจีน ในขณะเดียวกันก็มีการอพยพของคนจีนเข้ามาในพื้นที่นี้มากเช่นกัน ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411-2453) มีการขยายอิทธิพลของประเทศตะวันตกมายังภูมิภาคอินโดจีน ทำให้ฉะเชิงเทรามีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ มีการย้ายที่ว่าการมณฑลปราจีนจากจังหวัดปราจีนบุรี มายังฉะเชิงเทรา
เมืองฉะเชิงเทรา มีอาคาร และแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม หลายแห่ง ที่สะท้อนถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในอดีต ได้แก่ ที่ว่าการมณฑลปราจีน ซึ่งต่อมาเป็นศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา ศาลจังหวัด ตำหนักกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ที่ทำการไปรษณีย์ วัด ชุมชนที่อยู่อาศัย ฯลฯ