ในปี พ.ศ.2498 ท่านพระครูธำรง วุฒิชัย ( หลวงพ่อยุ้ง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงปู่ ) เจ้าอาวาสวัดกะเปียดในสมัยนั้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นพระ “พระสุปะฎิปันโน” สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีปฎิบัติชอบ เป็นที่เคารพรักสักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน ชาวตำบลห้วยปริก ชาวตำบลกะเปียด ตลอดจนถึงพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ได้ทำพิธีจัดสร้างหล่อพระพุทธรูปเป็นพระประธานประจำอุโบสถวัดกะเปียด โดยคณะพุทธบริษัทได้นำวัสดุที่เป็นทองเหลืองนำมาถวายในการจัดสร้างเป็นจำนวนมาก เมื่อดำเนินการหล่อพระประธานเสร็จแล้ว ยังมีวัสดุเหลืออันเป็นมงคล ด้วยภูมิปัญญาอันเปรื่องปราชญ์ของหลวงปู่ ดำรงด้วยสติ มีแนวคิดที่จะจัดสร้างพระพุทธบาทจำลองขึ้นมา 1 รอย พระพุทธบาท เพื่อให้ไว้เป็นที่เคารพ สักการะบูชา และเป็นปริศนาธรรมให้พุทธศาสนิกชนปฎิบัติธรรม “ เดินตามรอยพระบาท ” ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมงคล และธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาสืบไป
เดิมพระพุทธบาทจำลองนี้ประดิษฐานที่วัดกะเปียด คณะพุทธบริษัทชาวตำบลห้วยปริกมีจิตศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง จึงไปกราบนมัสการ หลวงปู่ พร้อมกับแจ้งวัตถุประสงค์ หลวงปู่และชาวตำบลกะเปียดเห็นพลังศรัทธาอันแรงกล้าของพี่น้องประชาชนตำบลห้วยปริก จึงมีความยินดีและได้ทำพิธีอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ ตำบลห้วยปริก บนพื้นที่โรงเรียนบ้านห้วยปริก เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2507 เพราะเห็นว่าโรงเรียนในหมู่บ้านตั้งอยู่โดดเดี่ยวห่างไกลจากวัด เกรงว่าจะทำให้การอบรมในด้านศีลธรรมจรรยาให้กับนักเรียนจะลดน้อยไป ประกอบกับตำบลห้วยปริกมีเส้นทางคมนาคมสะดวกทั้งทางรถยนต์ และรถไฟ เหมาะแก่การให้คณะพุทธบริษัทโดยทั่วไป เดินทางมาสักการบูชาได้สะดวก คณะพุทธบริษัทในตำบลห้วยปริกได้เล็งเห็นสถานที่ที่เหมาะสมในการประดิษฐานรอยพระพุทธบาทคือบนพื้นที่ที่เป็นเนินเขาด้านข้างของโรงเรียนบ้านห้วยปริก ที่มีสภาพอากาศร่มเย็น เงียบสงบ เหมาะแก่การปฎิบัติธรรม
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2521 หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต ได้มามอบอุปกรณ์การเรียน สนามเด็กเล่น ให้แก่โรงเรียนบ้านห้วยปริก และได้ขึ้นนมัสการ พระพุทธบาทจำลอง ท่านเห็นว่าทางขึ้น –ลงลำบากจึงดำริให้ทำการก่อสร้างบันไดด้วยปูนซีเมนต์ และได้บันทึกในสมุดเยี่ยมไว้ว่า “ผมมีความยินดีที่ได้มาเยี่ยมสถานที่แห่งนี้ ซึ่งสวยงาม เหมาะสมที่จะเป็นที่ตั้งปูชนียวัตถุ ” พร้อมได้มอบเงินให้จำนวน 10,000 บาท เพื่อเป็นทุนเริ่มแรกในการก่อสร้างบันไดขึ้น –ลง ชาวตำบลห้วยปริกได้ร่วมแรงกันทำการก่อสร้างพร้อมทั้งบริจาคทรัพย์สมทบทุน ทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 200,000 บาทได้บันได 232 ขั้น โดยหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต ได้มาประกอบพิธีเปิดบันได เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2523 พร้อมลงนามจารึกเป็นอนุสรณ์บนแผ่นป้ายปูนซีมนต์ และเมื่อวันที่10 กรกฎาคม 2534 ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต พร้อมด้วยคณะมูลนธิวิภาวดีรังสิต มาเยี่มนมัสการพระพุทธบาทเพื่อทราบถึงการก่อสร้างมณฑป และเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536 ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต พร้อมด้วยคณะได้เดินทางมาประกอบพิธีและเป็นประธานวางศิลาฤกษ์เริ่มก่อสร้างมณฑป และได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการก่อสร้างอยู่บ่อยครั้งจนแล้วเสร็จ รวมระยะเวลาการก่อสร้าง 12 ปี จนแล้วเสร็จ