ประวัติวัด
วัดศรีดอนชัย ตำบลงอบ สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ทราบเนื่องจากไม่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ได้สอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ภายในหมู่บ้านก็ได้ความไม่แน่นอน แต่ที่พอจะปรากฏเป็นหลักฐานบ้าง เริ่มตั้งแต่ครูบาอินต๊ะวิชัย เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งได้เขียนคัมภีร์ใบลานเป็นภาษาพื้นเมืองล้านนาว่า “ จุลศักราช ๑๑๘๕ ตั๋วปีก่าเม็ด ได้สร้างธรรมมิลินทปัญหา ค้ำจูศาสนาพระโคดมเจ้า ถราบ ๕,๐๐๐ พระวสา อินต๊ะวิไชยรัสสะภิกขุ ลิขิตปางอยู่เมตตาวัดศรีดอนไชยนาล้อมแก้วกว้าง..” ( ปี จ.ศ. ๑๑๘๕ ตรงกับ พ.ศ.๒๓๖๖) ซึ่งพระครูบารูปนี้ได้บันทึกว่าท่านมาจากเมืองหลวงปูคา สิบสองปันนา ถ้าจะนับตามหลักฐานที่กล่าวมาก็แสดงว่า วัดศรีดอนชัย มีอายุไม่น้อยกว่า ๑๘๒ ปีมาแล้ว
ครูบาท่านนี้ เป็นผู้ที่มีภูมิรู้ด้านต่าง ๆหลายด้าน เช่นหมอเมือง (หมอยาสมุนไพร) หมอดูเมื่อ(โหราศาสตร์) รู้ภาษาสัตว์ มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ครั้งหนึ่งครูบาได้จำวัด(นอน)กลางวัน เมื่อตื่นขึ้นมาพบว่ามีนกมาเกาะต้นสลี (ต้นโพธิ์) ที่หน้าวิหารมากมาย ส่งเสียงร้องดัง สามเณรศิลป์ พระลูกวัดรูปหนึ่ง ได้เข้าไปถามท่านว่า นกมันทำอะไร ท่านได้ตอบว่า “นกมันชวนกันไปกินผลไม้ที่ดอยแง่ม ” ซึ่งเป็นดอยที่อยู่ชายแดนไทย-ลาวด้านเชียงฮ่อน นับว่าท่านเป็นผู้มีอภิญญาที่สูงรูปหนึ่ง ท่านมรณภาพในปีใดไม่ปรากฏ แต่มีคนเล่ากันว่าได้ปลงศพท่านที่กลางทุ่งนา หลังบ้านของนายสุพัฒน์ (อิ่น-นางเรือนแก้ว) อินทะรังษี ราษฏรหมู่ที่ ๑๐ (บ้านใต้ร่มโพธิ์ทองในปัจจุบัน)
ในสมัยที่ท่านพระครูสุวรรณธุตคุณ(เขียนทอง) เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๑๘ ยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้เคยได้ยินคนเล่าว่าเคยเห็นสถูปก่ออิฐอยู่ ท่านจึงออกไปสำรวจเมื่อปี ๒๔๙๕ และได้พบซากอิฐกองอยู่ ท่านคิดจะสร้างเจดีย์ขึ้นที่นั่นเพื่อเป็นอนุสรณ์ประจำบ้านเมืองไว้ จึงติดต่อของซื้อนาบริเวณดังกล่าว แต่เจ้าของนาไม่ยอมขายจึงหมดโอกาสที่จะสร้างได้ หลังจากครูบาอินต๊ะวิชัยได้มรณะภาพไป ครูบาธนัญไชย ลูกศิษย์ของท่านได้ขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาสแทนประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๒ (ตามหลักฐานการจารึกอักษรพื้นเมืองล้านนาไว้ที่ฐานพระพุทธรูปไม้ที่อยู่ในโบสถ์ เมื่อท่านได้มรณะภาพ คณะศรัทธาได้ปลงศพท่านที่กลางป่าใกล้วัด ปัจจุบันเป็นบ้านของนายเย็น-นางสุพรรณ อินทะรังษี และบ้านของนายสม-นางคำแปง อินทะรังษี ราษฎรหมู่ที่ ๑๐(บ้านใต้ร่มโพธิ์ทอง)
นับตั้งแต่เจ้าอาวาสรูปที่ ๑ - ๑๐ มาอยู่ที่วัดศรีดอนชัย ก็มีหลักฐานเพียงชื่อเท่านั้น สิ่งก่อสร้าง
ต่าง ๆ ในวัดก็ไม่ปรากฏเด่นชัด คงจะมีการสร้างวิหาร กุฏิ โบสถ์ ที่ไม่มั่นคงนัก ตามสภาพเศรษฐกิจในสมัยนั้น และสิ่งก่อสร้างก็มีการเสื่อมสลายตามกาลเวลา และในบริเวณที่ไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก ยังมีร่องรอยวัดร้างอยู่อีก ๔-๕ แห่ง (มีซากอิฐ กระเบื้องหลังคา หินสีมา) ซึ่งก็ไม่ทราบว่าสร้างในสมัยใด)
หลักฐานที่พระครูสุวรรณธุตคุณ เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๘ ได้เขียนด้วยลายมือไว้ดังนี้
๑. ได้รับพระราชทานสีมา เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๔๗๘
๒. ได้ประกอบพิธีผูกพัทสีมา เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๔๘๐