วัดอินทคีรี ตั้งอยู่ที่ บ้านนา หมู่ที่ ๖ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช จากรูปแบบทางศิลปะของแหล่งศิลปกรรมที่ปรากฏน่าจะอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ –๑๔ และต่อเนื่องมาในสมัยทางอยุธยา จากการพบพระพุทธรูปศิลปะภาคใต้ ภายในวัดอินทคีรี สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษ ที่ ๑๒ –๑๔ แหล่งศิลปกรรมวัดอินทคีรี ที่พบภายในวัด มีเมรุเผาศพ อุโบสถ กุฏิ หอพระ กระจัดกระจาย รอบบริเวณวัด
หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่พบในวัดอินทคีรี ได้แก่
โยนิ ทำด้วยหินทรายสีแดง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๘๐ x ๙๘ เซนติเมตร ตรงกลางมีการเจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สำหรับการประดิษฐานศิวลึงค์ ด้านข้างมีการสลักยกเป็นขอบขึ้นมาสูงประมาณ ๒ เซนติเมตร สลักตลอดจนถึงร่องน้ำมนต์ ซึ่งมีขนาดยาว ๒๖ เซนติเมตร กว้าง ๒๔ เซนติเมตร โยนิ ชิ้นนี้ วางอยู่ข้างบ่อน้ำภายในวัดอินทคีรี
พระพุทธรูปประทับนั่ง ทำด้วยสำริด เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ เพชรบนฐานทรงสูง เป็นศิลปภาคใต้ในสกุลช่างนครศรีธรรมราช เรียกว่า พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระขนมต้ม มีพระพักต์ ค่อนข้างกลม เป็นพระ คู่วัดมาช้านานตั้งแต่สมัยโบราณ ทางวัดอินทคีรี เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี