ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 28' 16.81"
14.4713361
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 22' 7.7185"
100.3688107
เลขที่ : 186469
การเสด็จประพาสต้นรัชกาลที่ ๕ ที่ผักไห่
เสนอโดย siriwan วันที่ 31 มีนาคม 2556
อนุมัติโดย พระนครศรีอยุธยา วันที่ 31 มีนาคม 2556
จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา
1 1274
รายละเอียด

จากพระราชหัตถเลขา เรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑ การเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ ๕ ที่เสด็จมาผักไห่ ๒ ครั้ง คือ

ครั้งที่ ๑ ร.ศ.๑๒๓ เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ได้เสด็จจากบางปลาม้ามาพักแรมที่บ้านหลวงวารีที่ผักไห่ และวันที่ ๗ สิงหาคม จึงเดินทางเข้าคลองบางหลวง แล้วล่องเรือถึงบางปะอินเพื่อขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพฯ

ครั้งที่ ๒ ร.ศ.๑๒๗ เสด็จประพาสเมืองนครสวรรค์ ขากลับล่องลงทางคลองมะขามเฒ่า มาเมืองสุพรรณบุรี บ้านผักไห่ อ่างทอง แล้วเสด็จเข้าทางบางแก้ว เข้ากรุงเก่า

เสด็จครั้งแรก ร.ศ.๑๒๓ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตามเสด็จด้วย และทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุตอนหนึ่งดังนี้

“วันที่ ๖ สิงหาคม เวลาเช้าออกเรือเสด็จในกระบวนใหญ่เรือไฟจูงเข้าคลองบางปลาม้ามาทางคลองจระเข้ใหญ่ เวลากลางวันถึงบ้านผักไห่ จอดเรือประทับแรมที่บ้านหลวงวารี เวลาบ่ายทรงเรือเมล์ของหลวงวารีขึ้นไป ประพาสข้างเหนือน้ำเสด็จกลับมาถึงพลับพลาแรมสัก ๒ ทุ่ม การเสด็จคราวนี้เป็นที่เรียบร้อยมีความสุขสบายทั่วกัน คือ พระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะเวลานี้นับว่าทรงสบายหายประชวรเป็นปกติแล้วได้...”

เสด็จครั้งที่ ๒ ร.ศ.๑๒๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสต้นขึ้นไปบ้านผักไห่ ทรงบันทึกไว้ในพระราชหัตถเลขา เรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ โดยทรงบันทึกไว้ดังนี้...

“...วันที่ ๒๒ ตุลาคม วันนี้กะทางผิดเป็นอันมาก ด้วยเมื่อมาครั้งก่อนเป็นขาขึ้นแล้วแจวขึ้นมา สังเกตเทียบกับกำลังฝีเท้าเรือครุฑเหิรเห็จว่าประมาณสักชั่วโมงครึ่งหรือ ๒ ชั่วโมงจึงถึงบางปลาม้า จึงได้นั่งแฉะอยู่เสียจนสาย แต่ครั้นมาจริง ชั่วโมงหนึ่งเท่านั้นถึงบางปลาม้า ได้จัดการที่จะเลยลงไปตามลำน้ำไม่เลี้ยวเข้าคลอง แต่วุฒิไม่เลือกวัดแป๊ะซะมาให้ เขาเลยลงไปเลือกวัดตะค่า ได้ไปทำกับข้าวกินที่นั้นสมภารวัดตะค่ารูปนี้ชื่อแสง พุทธสร อำแดงเงินภรรยา จีนช้างตาย อำแดงเงินถวายเป็นวัดตึกอย่างจีนสัก ๕-๖ หลัง บ้านใหญ่อยู่ หันหน้าลงทางแม่น้ำ ตัวอำแดงเงินนั้นเองก็ยังอยู่ อายุ ๗๔ ปี แต่ลูกเต้าก็มีเป็น ๔ คน ศรัทธาขึ้นมาถวายบ้านเป็นวัด แต่พระซึ่งเป็นผู้รับแต่ก่อนไปทำการไม่สำเร็จเลยร้างไปคราวหนึ่ง จนพระครูวินัยธรรม อ่ำ ฐานาสมเด็จพระวันรัต (แดง) ซึ่งเป็นชาวตำบลนี้ ขึ้นมาอยู่จัดการเรี่ยไรทำพระอุโบสถผูกพัทธสีมา และทำศาลาการเปรียญหลังใหญ่ ต่อออกไปทางหลังบ้านหันหน้าลงคลองจึงให้ชื่อว่าวัดตึก ตึกนั้นคือเก๋งเจ๊ก คชนั้นคือช้าง หิรัญคือเงิน จึงตกลงเป็น ตึกคชหิรัญศรัทธาราม น่าชมความอุตสาหะทำเป็นอย่างใหม่ไม่ใช่เจ๊กเป็นฝรั่งปนเจ๊กเกลี้ยง ๆ แต่แน่นหนาดีพอใช้ พระประธานฝีมือหลวงกลมาบรรจง เป็นแม่ลูกอินซึ่งควรจะดีกว่านี้ เป็นที่น่าเสียใจอยู่บ้าง แต่ก็ไม่สู้เลวทีเดียวนักศาลาเปรียญทำใหญ่โตดี เห็นจะไม่มีวัดไหนเท่า สัปบุรุษนั่งได้หลายร้อย สะอาดหมดจด ราษฎรพากันไปคอยอย่างมาก มีไตรและของไทยทานไปช่วยจนนับไม่ถ้วน แต่เงินยกส่วนที่ตาช้างกับยายพลับออกเสียแล้วยังเป็นเงินถึง ๗๙๘ บาท ส่งเติมย่อยกันอยู่เสมอจนกฐินแล้ว การทอดกฐินวันนี้จัดเป็นอย่างข้างนอก คือตั้งลับแลเป็นข้างในอยู่ข้างฐานพระอย่างวัดอรุณแต่ราชอาสน์อยู่ที่หน้าที่บูชาทีเดียว เจ้านายข้าราชการ และราษฎรเข้าไปนั่งในโบสถ์เต็ม เว้นว่างอยู่แต่ที่วางของบริขารและไทยทาน ถวายกฐินโยงสายสิญจน์ถือทั่วกัน และว่าพร้อม ๆ กัน อย่างเมื่อวานนี้ เจ้าอธิการว่าผ้าพระกฐินทานเกือบจะถูก แต่คงจะไม่ได้สังเกตไว้ถ้วนถี่ ทั้งประหม่าด้วยจึงไม่เหมือนบางกอก แต่ยังใช้ได้ดี สวดญัตติและกราลก็ถูกต้องเป็นที่เรียบร้อย อนุโมทนาก็สวดดี เกือบจะไม่รู้สึกว่าพระหัวเมือง ถ้าหากว่าเหมือนกฐินเมื่อวานนี้ ๒ วัด จะเป็นที่น่าเสียดายเป็นอันมาก ด้วยเครื่องบริขารและไทยทานกับทั้งเงินไม่มีกฐินไหนเท่า แต่เครื่องบริขารไม่ได้ถวายด้วยมือเพราะ เหลือที่จะขนถวายได้เต็ม ทั้งนั้นจึงได้ถวายด้วยวาจา ในสิ่งซึ่งแบ่งไม่ได้เป็นของบริขารแห่งองค์กฐินซึ่งแบ่งได้ให้แจกพระสงฆ์มี ๑๑ รูป ได้ครองไตร ๕ แต่ยังได้สบง ๒ ผืน จีวรผืนหนึ่ง กับสิ่งของอื่น ๆ มีกาน้ำ โคม ถ้วยแก้ว หมอน และอื่น ๆ อีกบ้าง เสร็จการกฐินแล้วออกมาตักบาตรเลี้ยงพระที่การเปรียญ ราษฎรพากันหาข้างแกงและสิ่งของมาคนละเล็กละน้อย แต่มากมายเหลือเกิน ถ้าพระจะมีบาตรองค์ละสัก ๔ บาตรก็เห็นจะรับข้าวไม่พอ ปล่อยให้เขาเข้าไปตักกันเป็นที่สนุกสนานมาก การกฐินเช่นนี้โดยจะเล่นในกรุงเทพฯ คงไม่สนุกได้อย่างนี้ พวกราษฎรเหล่านี้ กล้าเข้ามานั่งพูดจาเข้าหมู่กันได้ไม่สะทกสะท้าน ดูเป็นที่ปิติยินดีกันมาก พระยถา แล้วจึงได้กลับมาลงเรือครุฑเหิรเห็จขึ้นตามลำแม่น้ำน้อยพักกินข้าวที่วัดหน้าโคก ออกจากวัดนั้นเป็นที่น้ำท่วมแลเห็นเหมือนทะเลตามทางลำน้ำนี้มีบ้านเรือนคนติดต่อกันเป็นหมอและเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ เป็นลูกศิษย์เรียนพระธรรมพร้อมกันกับพระมงคลทิพ ๔๕ พรรษา มีอัชฌาสัยดีไม่รู้จักว่าใคร ดูสังเกตได้แต่ว่าเป็นผู้บรรดาศักดิ์ไม่มีการอวดดีอย่างหนึ่งอย่างใดเลยถามถึง รดน้ำมนต์ก็ว่าได้รด แต่ได้รดด้วยความซื่อตรง ไม่สำแดงว่า มีปาฏิหาริย์อย่างใด พูดถึงเรื่องมีผู้มา ขอหวยได้เคยตอบว่าให้เอาผ้าคฤหัสถ์มาให้นุ่งเสียดีกว่ามาขอหวย ทำการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถสำเร็จแล้ว กำลังลงมือพระวิหาร ได้ให้เงินช่วยในการปฏิสังขรณ์ ๘๐ บาท ไม่ได้รับโดยอาการที่ไม่งาม และยถาอนุโมทนาอย่างเรียบร้อยดีจนนึกสงสัยว่านี่จะรู้ดอกกระมัง แต่ครั้นเมื่อเวลาจะมาให้พรให้พ่อจำเริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปเป็นสิ้นสงสัย แล่นกลับขึ้นมาเข้าคลองบาปลาม้าไปจนถึงที่แยกจระเข้ใหญ่เลี้ยวมาตามลำจระเข้ใหญ่ ผ่านลาดชะโด มาจอดที่หน้าบ้านหลวงวารีโยธารักษ์ บ้านผักไห่ ซึ่งเคยจอดแต่ก่อนตอนคลองจระเข้ใหญ่มีผักตบชวามากขึ้นตามลำดับ แต่ที่ลาดชะโดเป็นมากกว่าที่อื่น พระยาโบราณซึ่งกำหนดว่าจะขึ้นไปรับถึงสุพรรณไปไม่ได้ เหตุด้วยมีลมพายุตีผักตบแตกกระจายเต็มปิดปากคลอง ต้องแก้ไขกันอยู่จนทุกวันนี้ยังไม่หมด มาถึงบ้านผักไห่แต่วัน ราษฎรพากันมาเป็นอันมากเต็มแน่นไปทั้งนั้น มีการแข่งเรือสนุกสนานโห่ร้องรำกันครึกครื้น เวลาเย็นได้ลงเรือไปซื้อของตามแพ เพราะคิดจะหากฐินทอดสักวัดหนึ่งได้ลงมือหาผ้ามาแต่สุพรรณแล้วมาหาของเพิ่มเติมที่นี่ และได้สั่งให้ไปเที่ยวหาวัด แต่ครั้นเมื่อไปวัดชีโพน ซึ่งเรียกว่าวัดชีตาเห็น ที่หวงญาณสร้างสมบุญ ไปสร้างวิหารขึ้นไว้ได้ช่วยกันปิดทอง เขาจึงเชิญไปให้อนุโมทนา ได้พบพระครูอ่ำ เจ้าคณะแขวงเสนาใหญ่ เดิมเป็นฐานาสมเด็จพระวันรัต (แดง) ขึ้นมาอยู่ที่วัดตึกตรงวัดชีโพนข้าม ตั้งแต่ ร.ศ.๑๒๑ ได้เรี่ยไรสร้างพระอุโบสถและผูกเสมาแล้วเสร็จเป็นเงินเกือบ ๑๖,๐๐๐ บาท สร้างการเปรียญหลังหนึ่งสิ้นเงินเกือบ ๑๐,๐๐๐ บาท จ้างอาจารย์บอกพระปริยัติธรรมดูเป็นคนมีความอุตสาหะพอใช้อยู่ และไปได้ความว่าเป็นวัดที่กฐินตกไม่มีใครทอดจึงได้จองจะไปทอดวัดนั้นในมะรืนนี้ เพราะพรุ่งนี้ตาช้างมาชวนให้ไปทอดกฐินซึ่งแกได้ตระเตรียมไว้พร้อมแล้ว ตำบลผักไห่นี้บริบูรณ์ครึกครื้นกว่าเมืองสุพรรณเป็นอันมาก นาที่ว่าเสียนั้นก็เสียในที่ลุ่มมาก ที่ซึ่งไม่ลุ่มข้าวงามบริบูรณ์ดีทั้งนั้น...

วันที่ ๒๔ ตุลาคมวันนี้เวลาเช้าขึ้นไปเยี่ยมบ้านสมบุญ แล้วจึงลงเรือไปกฐินใช้เรือครุฑเล็กเป็นเรือผ้าไตร บริขารลงเรือต้นมีเรือกราบโถงเป็นเรือดั่งคู่หนึ่ง เรือกลองอีกลำหนึ่ง ไปเข้าคลองลัดวัดตึกนั้นเองเป็นการคลองที่ไปบางอ้อได้วัดนี้เป็นบ้านจีนช้างหลวงอภัยหนาตลอด เหมือนอย่างในกรุงเก่า...

การเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปยังบ้านผักไห่ถึง ๒ ครั้ง เป็นที่ปลื้มปิติยินดีของชาวผักไห่ทุกคน และพระองค์ยังทรงโปรดประทับแรมที่บ้านผักไห่ทั้ง ๒ ครั้ง ชาวผักไห่สมัยนั้นได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและชื่นชมพระบารมีโดยทั่วหน้ากัน เป็นที่น่าชื่นชมอย่างหนึ่ง คือ ประชาชนชาวผักไห่นั้นต่างก็ทราบกันดีว่าในขบวนเจ้านายที่มาเยี่ยมเยือนครั้งนั้นมิใช่เจ้านายธรรมดา แต่เป็นขบวนเสด็จของพระเจ้าอยู่หัวต่างกับประชาชนในละแวกใกล้เคียง ที่ไม่ทราบว่าขบวนเสด็จครั้งนั้น พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จมาด้วย คนเฒ่าคนแก่ที่มีชีวิตอยู่ทันสมัยนั้น และได้มีโอกาสรับเสด็จด้วยได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่พระองค์เสด็จมาครั้งนั้นอย่างละเอียด โดยเฉพาะการเสด็จในครั้งที่ ๒ คล้ายกับว่าเหตุการณ์นั้นผ่านไปไม่นานนักสิ่งของที่พระองค์พระราชทานให้กับวัดตึกคชหิรัญ (วัดที่ทรงทอดกฐิน) และวัดหน้าโคก (วัดที่ทรงพักเสวยพระกายาหารกลางวัน) ทางวัดยังคงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

โดย สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอผักไห่

หมวดหมู่
อื่นๆ
สถานที่ตั้ง
พื้นที่อำเภอผักไห่
ตำบล อมฤต อำเภอ ผักไห่ จังหวัด พระนครศรีอยุธยา
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
รวมเรื่องลิขิตชีวิตชาวผักไห่ และพระราชหัตถเลขา เรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑ )
บุคคลอ้างอิง นางสาวศิริวรรณ สุ่นสกูล
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ตำบล คลองสวนพลู อำเภอ พระนครศรีอยุธยา จังหวัด พระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13000
โทรศัพท์ 0-3533-6882-3 โทรสาร 0-3533-6881
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่