ศาลเจ้าแม่โพสาวหาญ
ตั้งอยู่ ณ บริเวณวัดโพธิ์สาวหาญ ตำบลโพสาวหาญ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามตำนานขณะที่กองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกำลังปะทะกับกองทัพพม่าอยู่นั้น กองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมาหาราชกำลังจะพ่ายแพ้ได้มีสตรี ๒ นาง ถืออาวุธออกมาช่วยต่อสู้จนทำให้กองทัพพม่าแตกพ่ายไป
ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งที่กรุงศรีอยุธยา กำลังจะเสียเอกราชเป็นครั้งที่ ๒ ให้แก่พม่านั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ตัดสินพระทัยนำทหาร ๕๐๐ นาย ตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา จนมาถึงวัดโพสังหาญแห่งนี้ (วัดโพสาวหาญในปัจจุบัน) กองทัพของฝ่ายพม่าก็เกิดยกทัพก็เกิดยกทัพตามทัน จึงเกิดการรู้รบกันถึงขั้นตะลุมบอน แต่ขณะสู้รบกันอยู่ สมเด็จพระเจ้าตากสินตกอยู่ในวงล้อมของพม่า พลันปรากฏมีวีรสตรี ๒ คน นุ่งโจงกระเบน มือ ๒ ข้างถือดาบ วิ่งออกมาฟาดฟันพม่าข้าศึกที่กำลังล้อมสมเด็จพระเจ้าตากสิน จนสมเด็จพระเจ้าตากสินสามารถตีฝ่าวงล้อมของพม่าข้าศึกออกไปได้ แต่ปรากฏว่า วีรสตรี นิรนามทั้งสองต้องมาสังเวยชีวิตลง ณ ทุ่งโพสังหาญนี้
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สามารถกู้เอกราชของชาติไทยแล้วทรงขึ้นครองราชย์แล้วทรงรำลึกถึงคุณงาม ความดี จึงทรงโปรดทำนุบำรุงบ้านโพสังหาญ และวัดวาอารามขึ้นมาใหม่ทรงพระราชทานนามว่า โพสาวหาญ อันหมายถึง หมู่บ้านอันมีวีรสตรีผู้กล้าหาญ น่าภาคภูมิใจ
ในปัจจุบันได้สร้างรูปปูนขึ้น เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่ชนรุ่นหลังให้รำลึกถึงคุณงามความดีของวีรสตรีผู้กล้าหาญ ทั้ง ๒ คน ที่ยอมเสียสละชีวิต เพื่อปกป้องผืนดินของไทยไว้ให้ลูกหลานไทยได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา
นอกจากท่านยังจะได้กราบหลวงพ่อดำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพกราบไหว้ที่วัดโพสาวหาญอีกด้วย