หัตถกรรมงานสานเข่งปลาทู
ในสมัยอดีต จังหวัดนนทบุรีจะมีพื้นที่เกษตรกรรมอยู่บริเวณรอบๆ ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรมดังกล่าวจะมีป่าไผ่ขึ้นหนาทึบ ชาวบ้านในชุมชนเรียกว่า "ป่าไผ่สีสุก" ซึ่งชาวบ้านสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่น จักสานเป็นภาชนะใช้สอยในครัวเรือน กระด้ง ตะกร้า ชะลอม แม้แต่การปลูกสร้างบ้านเรือน รวมถึงใช้เป็นไม่หามไปกูโบร์ (สุสานชาวอิสลาม) และด้วยเหตุที่ไม้ไผ่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย จึงทำให้บางครัวเรือนทดลองนำไม่ไผ่มาสานเป็นเข่งปลาทูขายให้กับพ่อค้า จึงทำให้เกิดอาชีพเสริมเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนขึ้นมาในชุมชน
ตามหลักฐาน การสานเข่งปลาทูเป็นอาชีพที่ทำกันมานาน ดังปรากฏในหนังสือของพระกรุงศรีบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองนนทบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2458 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ส่งถึงพระมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล ความว่า "...การจักสานเป็นงานที่สำหรับทำในยามว่าง ชาวเมืองนนท์ น่าชมไม่ปล่อยเวลาว่างเลยไปโดยใช่เหตุ ว่างนั้นทำนี่ เป็นพลเมืองขยันต่อการงานจริงๆ ...พวกทำเข่งปลาทู อยู่แถวบางแพรกไปจรดคลองบางตลาด..."
ปัจจุบันชุมชนต่างๆ ในเขตตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตของเทศบาลนครนนทบุรี มีการขยายตัวของพื้นที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นที่ป่าไผ่สีสุกที่เคยมีมาแต่เดิมหายไป ครัวเรือนที่เคยนำไม้ไผ่สีสุกมาสานเป็นเข่งปลาทูขายให้กับพ่อค้าเพื่อเป็นอาชีพเสริมจึงต้องแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ คือ ไม้ไผ่จากจังหวัดอื่นๆ คือ จังหวัดชัยนาท จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งอยู่ห่างไกล มีราคาขนส่งแพง ทำให้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงเกิดระบบพ่อค้าคนกลางขึ้นในชุมชน เริ่มจากลงทุนซื้อไม้ไผ่ครั้งละประมาณ 1,200 บาทต่อครั้ง และจะต้องขายเข่งปลาทูที่สานเสร็จแล้วให้กับพ่อค้าคนกลางที่ลงทุนให้เท่านั้น ปัจจุบัน มีครัวเรือนที่ประกอบอาชีพสานเข่งปลาทูขายในชุมชนของตำบลท่าทราย จำนวน 60 ครัวเรือน
ภูมิปัญญาท้องถิ่นการสานเข่งปลาทูของชุมชนในตำบลท่าทราย มีการสานกันมาเนิ่นนาน จากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกหลาน ในอดีตเด็กๆ ก่อนไปโรงเรียนหรือกลับจากโรงเรียน พ่อแม่จะให้ลูกๆ หลานๆ สานเข่งปลาทู สำหรับในปัจจุบันผู้ประกอบอาชีพสานเข่งปลาทูส่วนใหญ่จะเป็นแม่บ้านและผู้สูงอายุที่ไม่ได้ประกอบอาชีพนอกบ้าน รายได้จากการขายต่อครั้งประมาณ 1,200 บาท ซึ่งเป็นเพียงรายได้เสริม ส่วนรายได้หลักได้มาจากคนในครอบครัวที่ไปเป็นลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดใกล้เคียง
กระบวนการและขั้นตอนการสานเข่งปลาทูตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
การสานเข่งปลาทูของตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี มีกระบวนการและขั้นตอนการสานที่สำคัญเป็นปัจจัยที่ทำให้ผลิตภัณฑ์เข่งปลาทูมีคุณภาพที่ดี แข็งแรง แน่นหนา และสวยงาม ทำให้เป็นที่นิยมและต้องการของผู้ประกอบการขายปลาทูเป็นอย่างมาก รายละเอียดดังนี้
1. ขั้นเตรียมวัตถุดิบผู้ประกอบอาชีพสานเข่งปลาทูของตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ใช้ไม้ไผ่ชนิดไม้สีสุกเป็นวัตถุดิบในการสานเข่งปลาทู ซึ่งแต่เดิมไม้ไผ่จะมาทางน้ำ โดยต่อเป็นแพล่องลงมาทางแม่น้ำจากภาคเหนือ แต่ในปัจจุบันมีพ่อค้าคนกลางใช้ระบบการขนส่งทางบก โดยใช้รถยนต์บรรทุก
1.1 เลื่อยไม้ ทำตอกสำหรับสานถาดเข่งปลาทู ใช้เลื่อยตัดไม้ไผ่ให้ยาวตามขนาดเป็นท่อน เมื่อเลื่อยไม้ได้ตามความต้องการแล้ว ก็ใช้มีดผ่าไม้ไผ่ที่เลื่อยมาแบ่งออกเป็น 2 ซีก ตามความยาวของท่อนไม้ไผ่
1.2 นำไม้ไผ่ที่ผ่าออกวางบนไม้สำหรับรองไส แล้วจึงใช้กบไสไม้ไผ่เป็นเส้นตอก โดยให้มีน้ำหนักพอดีและสม่ำเสมอ ถ้าหนักเบาไม่เท่ากันเส้นตอกที่ได้จะหนาบางไม่เท่ากัน หากเป็นไม้ไผ่แห้งที่ตัดมานาน ก่อนนำไปผ่าแล้วไสต้องนำไปแช่น้ำเพื่อให้มีความนุ่มไม่ฝืด หรือหนืดในเวลาไส
2. ขั้นตอนการสานถาดเข่งปลาทูการสานถาดเข่งปลาทู เมื่อได้จัดเตรียมเส้นตอกที่ได้จากการไสไม้ไผ่แล้ว จะเริ่มขั้นตอนการสานดังนี้
แถวที่ 1 โดยนำเส้นตอกมาวางบนแป้นสำหรับรองสานจำนวน 2 เส้น โดยให้มีลักษณะวางไขว้กัน ให้เส้นซ้ายมือทับขวามือ เป็นลักษณะตัว x (เป็นกรณีการสานเข่งตาสี่ ถ้าสานเข่งตาห้า จะต่างกันที่การวางเส้นตอกโดยให้เส้นขวามือทับเส้นซ้ายมือ) สอดตอกเส้นที่ 3 ให้เส้นขวาทับซ้าย สอดตอกเส้นที่ 4 ซ้ายทับขวา สอดตอกเส้นที่ 5 ขวาทับซ้าย และสอดตอกเส้นที่ 6 ให้ซ้ายทับขวา แล้วกรีดให้เส้นซ้ายขัดลง 1 เส้น แต่งให้ตากลม ผู้สานเรียกว่า "ตาเฉลว"
แถวที่ 2 สอดตอกใหม่เส้นที่ 1 แล้วหมุนเข้าหาตัวเองตามเข็มนาฬิกา สอดตอกเส้นที่ 2 ด้านขวามือ แล้วขัดขึ้น 1 เส้น หมุนเข้าหาตัว แล้วสอดตอกเส้นที่ 3 แล้วขัดขึ้นเหมือนเส้นที่ 2 หมุนเข้าหาตัว สอดตอกเส้นที่ 4 เส้นที่ 5 และเส้นที่ 6 แล้วกรีดให้ปลายตอกขัดขึ้น 2 เส้น
แถวที่ 3 สอดตอกเส้นที่ 1 กรีดให้ปลายตอกขัดลง 1 เส้น แล้วหมุนเข้าหาตัวตามเข็มนาฬิกา สอดตอกเส้นที่ 2 กรีดให้ปลายตอกขัดลง 2 เส้น ทำลักษณะเดียวกันจนถึงตอกเส้นที่ 6 กรีดให้ปลายตอกขัดลง 3 เส้น
แถวที่ 4 สอดตอกเส้นที่ 1 กรีดให้ปลายตอกขัดลง 2 เส้น แล้วหมุนเข้าหาตัวเอง สอดเส้นที่ 2 กรีดให้ปลายตอกขัดลง 3 เส้น ทำเหมือนกันจนถึงตอกเส้นที่ 6 กรีดให้ปลายตอกขัดลง 4 เส้น หลังจากนั้นให้กรีดปลายตอกขัดลงรอบถาดเข่ง
3. ขั้นตอนการใส่ไม้ขัดถาดเข่งไม้ขัดถาดเข่งผู้สานจะใช้ไม้ไผ่สีสุกเลื่อยแล้วจักเป็นไม้สำหรับขัดถาดเข่งหรือก้นของถาดเข่งปลาทู โดยไม้ขัดจะมีความยาวประมาณ 14 เซนติเมตร กว้าง 1 เซนติเมตร หนาประมาณ 2 มิลลิเมตร ขัดถาดเข่งหรือก้นเข่งระหว่างตาที่ 3 ไขว้และทับกัน จำนวน 3 อัน
4. ขั้นตอนพับเข่งและใส่ไม้วงถาดเข่งที่ใส่ไม้ขัดถาดเรียบร้อยแล้ว นำมาคว่ำลงให้ด้านที่ใส่ไม้ขัดถาดหงายขึ้น พับบริเวณตาสุดท้ายของถาดเข่ง เลยส่วนปลายไม้ขัดถาดเข่ง ใส่ไม้วงแล้วพับปลายตอกให้สอดยึดกับไม้วง ไม้วงที่ดีจะต้องจักเป็นเส้นมีลักษณะไม่แข็งและหนาเกินไป มีความยาวประมาณ 22 นิ้ว
5. ขั้นตอนตัดเข่งเส้นตอกที่ผูกสอดและพับกับไม้วง จะมีเส้นตอกที่ยาวเกินต้องใช้กรรไกรตัดให้ปลายเส้นตอกพอดีกับแนวขอบเข่งตัดให้รอบใบเข่ง
6. ขั้นตอนใส่ขอบใน - ขอบนอกและผูกรัดเข่งขอบในและขอบนอกผู้สานเข่งจะต้องใช้ความชำนาญในการทำเป็นอย่างมาก ขอบในจะมีลักษณะบาง อ่อนกว่า และสั้นกว่าขอบนอก 2 นิ้ว ในการใส่ขอบเข่งจะต้องใส่ขอบในก่อนแล้วจึงใส่ขอบนอก เมื่อครบวงขอบนอกก็จะใช่ส่วนปลายนิ้วกด และนำเชือกพลาสติกผูกสอดรัดขอบในและขอบนอกถาดเข่ง โดยจะมีเทคนิคการผูก 5 จุด ให้เท่ากันทุกใบเวลาร้อยเป็นพวงก่อนส่งให้พ่อค้าคนกลางจะมีลักษณะเท่ากันและสวยงาม
7. ขั้นตอนนำเข่งปลาทูมาร้อยเป็นพวงนำเข่งปลาทูที่สานเสร็จแต่ละใบนำมาร้อยเป็นพวงๆ ละ 50 ใบ (ข้างละ 25 ใบ) ใช้ไม้ไผ่ตัดและจักเป็นเส้นให้มีความยาวพอดีกับจำนวนเข่งปลาทูที่จะร้อยเป็นพวง
ลักษณะทั่วไปของไผ่สีสุก
ไผ่สีสุกเป็นไม้ไผ่ที่อยู่ในสกุลเดียวกับไผ่บง ไผ่ป่าหรือไผ่หนาม ไผ่ไล่ลอ ไผ่หวาน ไผ่เพ็ก ไผ่เลี้ยง ไผ่บางดำ ไผ่เหลือง และไผ่น้ำเต้า เป็นไผ่ที่ขึ้นอยู่รวมกันเป็นกอใหญ่หนาแน่นมาก โดยเฉพาะบริเวณโคนของกอ รูปทรงของกอจะแผ่ออกกว้าง ลักษณะภายนอกคล้ายไผ่ป่า ลำของไผ่สีสุกจะมีการแตกกิ่งเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่โคนลำขึ้นไป ซึ่งจะมีลักษณะเด่น คือ บริเวณข้อของกิ่งจะมีหนามงอโค้งแตกเป็นกลุ่มๆ ละ 3 อัน โดยอันกลางจะมีขนาดยาวกว่าอันด้านข้าง และหนามอันกลางจะเปลี่ยนเป็นแส้นามขนาดยาว
ไผ่สีสุกจัดเป็นไผ่ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงตั้งแต่ 20 - 25 เมตร ลำไผ่ขนาดใหญ่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 - 15 เซนติเมตร ความยาวของปล้องประมาณ 30 เซนติเมตร มีเนื้อหนาประมาณ 7 มิลลิเมตร โดยเฉพาะส่วนโคนจะหนาถึง 1.5 เซนติเมตร ลำอ่อนจะมีสีเขียว ลำแก่สีออกเหลือง หรือเขียวอมเหลือง คล้ายกับสีผลไม้ที่กำลังสุก จึงได้ชื่อว่า "ไผ่สีสุก" ผิวของลำจะแข็งและเรียบเป็นมัน หน่อขณะออกใหม่ๆ จะมีสีเขียวแก่แกมม่วง มีกาบใหญ่ แต่เมื่อโตขึ้นจะมีกาบสีเหลืองสุก
ปัจจุบันผู้ประกอบอาชีพสานเข่งปลาทูในตำบลท่าทราย เริ่มลดน้อยลง และปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เยาวชนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสนใจและหันไปทำงานตามโรงงานหรืองานอื่นๆ เพราะมีรายได้มากกว่า