ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 19° 18' 18.1352"
19.30503754514519
ลองจิจูด (แวง) : E 97° 57' 59.6655"
97.96657375732422
เลขที่ : 192276
ประเพณีปอยส่างลอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
เสนอโดย phisan วันที่ 25 มกราคม 2560
อนุมัติโดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 3 เมษายน 2563
จังหวัด : แม่ฮ่องสอน
0 3379
รายละเอียด

การบวชถือกันว่าเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวไทใหญ่ ส่วนมากนิยมบวชเณรตั้งแต่อายุ 12 ปี ขึ้นไป ก่อนบวชบิดามารดาจะต้องนำบุตรไปฝากเจ้าอาวาส เพื่อฝึกหัดอ่านหนังสือ เรียนรู้วิธีการบวช และจะต้องท่องจำคำเรียกนาคขานนาค ตลอดจนคำให้ศีลให้พรต่างๆ เมื่อบิดามารดาเห็นว่าบุตรมีความรู้พอสมควรที่จะบวชได้แล้ว ก็จะจัดเตรียมงาน ซึ่งมักจะทำกันในเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม โดยมักกำหนดงานไว้ 3-5 วัน งานบวชนาค หรือปอยบวชลูกแก้วนี้ ภาษาไทใหญ่เรียกว่า “ปอยส่างลอง” ปอยส่างลองเป็นพิธีการเฉลิมฉลองการบรรพชาสามเณรในพุทธศาสนาของคนไทยซึ่งมีเชื้อสายไทใหญ่ พบในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและในบางอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่

“ส่าง” หมายถึง เณร ลอง หรือ “อลอง” หมายถึง รัชทายาท จากตำนานที่คนไตเล่าสืบทอดกันมาถึงที่มาของประเพณีปอยส่างลอง คือ การบรรพชาเป็นสามเณรนั้นก็เพื่อศึกษาพุทธธรรมและเพื่อเป็นการทดแทนคุณบิดา มารดา โดยอิงมาจากพุทธประวัติ ตอนที่พระนางยโสธราแต่งองค์ให้พระราหุลเพื่อทูลขอราชบัลลังก์จากพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าพระราชทานอริยทรัพย์ คือ ให้พระราหุลบรรพชาสู่กาสาวพัสตร์ และนับเป็นสามเณรองค์แรกของพระพุทธศาสนา อีกตำนานหนึ่งคือ อิงพุทธประวัติตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะผู้เจริญด้วยโภคทรัพย์แต่ทรงสละทรัพย์สมบัติเพื่อแสวงหาหนทางแห่งบรมสุข จากทั้งสองตำนานนี้เองที่เป็นขนบให้คนไทใหญ่ยึดถือ

ประเพณีปอยส่างลองถือเป็นประเพณีสำคัญของคนไทใหญ่ ในครอบครัวที่มีลูกชายจะตั้งตารอคอยเพื่อร่วมประเพณีนี้ ด้วยความเชื่อที่ว่าอานิสงค์จากการบวชปอยส่างลองนี้จะทำให้บิดามารดาได้ขึ้นสวรรค์ ดังนั้นการบวชปอยส่างลองจึงถือเป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่และมีอานิสงค์มาก ซึ่งอาจเป็นกุศโลบายหนึ่งที่ให้ลูกหลานได้บวชเรียนดื่มด่ำหลักธรรม ในพระพุทธศาสนาในช่วงปิดภาคเรียน

เมื่อกำหนดงานเรียบร้อย จะมีการบอกบุญให้เพื่อนบ้านมาร่วมทำบุญด้วยกัน มักจะเชิญกันทั้งหมู่บ้านและคนที่รู้จักมักคุ้นกัน ซึ่งอยู่ตามตำบลต่างๆ ในสมัยก่อนใช้คนไปบอกบุญเรียกว่า “ตกเทียน” คือให้คนนำเทียนไปแจกจ่ายตามหมู่บ้าน บ้านละ 1 เล่ม และบอกกำหนดวันงานให้ทราบ ซึ่งเมื่อถึงวันกำหนด แขกก็จะไปร่วมทำบุญ โดยเอาข้าวของต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในงานบวช และสำหรับเลี้ยงดูแขกเหรื่อหรือเงินทองตามแต่ศรัทธาไปรวมกันที่บ้านเจ้าภาพ

ผู้จะบวชเณร เรียกว่า “ส่างลอง” ผู้จะอุปสมบทเป็นภิกษุเรียกว่า “จองลอง” เมื่อถึงกำหนดวันงานก็จะโกนผม แต่ไม่โกนคิ้ว แต่งกายประดับอย่างสวยงาม นุ่งโจงกระเบนสีสด ปล่อยชายด้านหลังยาวจับจีบ คาดด้วยเข็มขัดนาคหรือเงิน สวมเสื้อแขนกระบอกชายโค้งงอน เสื้อปักฉลุลวดลายดอกไม้สีต่างๆ สวมเครื่องประดับมีค่า เช่น สายสร้อย กำไล แหวน เป็นต้น และใช้ผ้าโพกศีรษะแบบพม่า สวมถุงเท้าขาวยาว บางคนจะสวมแว่นตาดำ ทาแป้ง เขียนคิ้ว และทาปาก ผู้เป็น “ส่างลอง” จะมีพี่เลี้ยงคอยปฏิบัติดูแลอย่างน้อยสามคน เรียกว่า “ตะแปส่างลอง”

การบวช มักจะทำพิธีในตอนเช้ามืด ก่อนที่จะเอาส่างลองไปทำพิธีบวชที่วัดนั้น ตะแปส่างลองจะเอาส่างลองไปซ่อนไว้ที่อื่น เพื่อจะเรียกเงินค่าไถ่จากเจ้าภาพ เมื่อได้เงินค่าไถ่แล้ว ก็จะเอาส่างลองมามอบให้ไปบวชได้ ในวันที่จะนำเอา “ส่างลอง” ไปบวชที่วัดนั้น จะมีการแห่แหนเป็นขบวนใหญ่โต มีม้าที่แต่งเครื่องประดับพร้อม นำหน้า 1 ตัว ไม่มีคนขี่ และมีสัปทนกางกั้นแดดให้แก่ม้านั้นด้วย โดยถือกันว่าเป็นม้าสำหรับเจ้าเมืองขี่นำไปทำพิธีการกุศล

ขบวนแห่ส่างลองจะบรรเลงด้วยม้องเซิ้ง (ฆ้องชุดของไต) ฉาบและกลอง สร้างความครึกครื้นควบคู่กับภาพตะแปเทินส่างลองที่แต่งองค์งดงามทยอยเดินเป็นขบวน ทั้งเดินและโยกเต้นเทินส่างลองเหนือบ่าประกอบจังหวะเสียง ขบวนตะแปจะนำส่างลองไปนมัสการสถานที่ศักสิทธิ์ เช่น ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลเจ้าเมือง เจ้าอาวาส และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และบุคคลสำคัญๆ ในชุมชน เพื่อไปแสดงความเคารพนับถือ และรับศีลรับพร การพาส่างลองไปขอขมานั้นเป็นเสมือนการขออภัยหากได้ทำการล่วงเกินจะโดยเจตนาก็ดี หรือไม่เจตนาก็ดี ส่วนผู้ที่ถูกขอขมาก็จะให้อภัย ไม่ติดใจ ขุ่นเคือง

วันที่สองของปอยส่างลอง เรียกว่า วันแห่ครัวหลู่ หรือวันแห่เครื่องปัจจัยไทยทานถวายพระสงฆ์ มีการแห่ส่างลองกับขบวนเครื่องไทยทานจากวัดไปตามถนนสายต่าง ๆ ขบวนแห่ประกอบด้วย จีเจ่ (กังสดาล) ม้าเจ้าเมือง ต้นตะเป่ส่าพระพุทธ ต้นตะเป่ส่าพระสงฆ์ ปุ๊กเข้าแตก เทียนเงินเทียนทอง พุ่มเงินพุ่มทอง อูต่องปานต่อง หม้อน้ำต่า อัฎฐบริขาร ขบวนส่างลอง โดยให้ส่างลองขี่คอพี่เลี้ยง มีร่มทองหรือ “ทีคำ” บังแดด

ช่วงเย็น มีพิธีทำขวัญและการสวดคำขวัญ สาระของการทำขวัญคือสั่งสอนส่างลองให้เห็นถึงพระคุณของบิดามารดาผู้ให้กำเนิด ตลอดจนเตรียมตัวให้ส่างลองซึ่งจะเข้ารับการบรรพชาในวันรุ่งขึ้น เมื่อทำขวัญเรียบร้อยแล้ว ส่างลองจะกลับไปบ้านของตนเอง โดยในช่วงเย็นจะมีการข่ามแขก หรือรับแขก บรรดาญาติมิตรของส่างลองจะมาร่วมอำนวยพรให้ส่างลองซึ่งถือเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่บรรดาญาติมิตรของบ้านเจ้าภาพส่างลองจะได้พบปะสังสรรค์กัน

วันที่สาม หรือวันหลู่ ถือเป็นวันสำคัญคือเป็นวันบรรพชาสามเณรและถวายเครื่องปัจจัยไทยทานแก่พระ ภิกษุสงฆ์ ส่างลองทั้งหมดจะเข้าพิธีเพื่อขออนุญาตทำการบรรพชาจากพระผู้ใหญ่ อาราธนาศีล แล้วจึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดส่างลองมาเป็นผ้าไตร เพื่อเป็นสามเณรอย่างสมบูรณ์ โดยส่างลองแต่ละคนอาจบวชประมาณ 15 วัน หรือ1 เดือน

การจัดงานบวชของชาวไทใหญ่นี้ ถือกันว่าทำกันใหญ่โตใช้จ่ายเงินทองมาก บางคนต้องใช้เวลาสะสมเงินไว้เพื่อการนี้ เป็นเวลาแรมปี เพื่อหวังกุศลผลบุญในการบวชพระ โดยไม่คำนึงถึงการหมดเปลือง

สถานที่ตั้ง
จังหวัด แม่ฮ่องสอน
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
http://www.prapayneethai.com/%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%87
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่