แกงส้มใบสันดาน มีใบสันดานเป็นวัตถุดิบ โดยต้นและใบของไม้นี้มีรสเปรี้ยวพอประมาณ ต้นสันดาน เป็นผักพื้นเมืองของชาวจันทบุรี มีลักษณะเป็นไม้เถาวัลย์เลื้อยพาดต้นไม้ใหญ่ลักษณะใบโตยาว ปลายใบแหลม มักขึ้นเองตามริมรั้วและป่าละเมาะข้างทาง เก็บง่ายไม่ต้องปีนป่าย ใช้ได้เกือบทุกส่วนของต้น ส่วนที่แก่เกินไปก็ยังใช้ได้ไม่เหนียวเคี้ยวยากเหมือนใบชะมวงหรือแม่แต่ใบมะขาม
เนื่องจากกลิ่นและรสใกล้เคียงกับใบมะขามอ่อน ชาวจันทบุรี จึงนำมาใช้ปรุงอาหารแทนใบมะขามอ่อน ปัจจุบันชาวจันทบุรี ไม่ค่อยมีใครรู้จักใบสันดาน จะพบเห็นการทำแกงส้มใบสันดานในพื้นที่อำเภอขลุง เท่านั้น
ที่มาของชื่อใบสันดาน เนื่องจาก ใบมีรสเปรี้ยว ถ้าหากจะให้เปรี้ยวจัดขึ้น ถึงจะเพิ่มสักเท่าใดความเปรี้ยวก็จะไม่เพิ่มขึ้นได้เลย ฉะนั้นจึงเรียกว่าส้มสันดาน เพราะมีสันดานเปรี้ยวอยู่เพียงเท่านั้น
ประโยชน์ทางยา แพทย์ชาวชนบทใช้ปรุงเป็นยาขับเสมหะแก้ไอ แก้บิด เนื่องจากเสมหะเป็นพิษ ให้ปวดเบ่งชื่อที่เรียกกันในประเทศไทย ส้มสันดาน ส้มออม และลดไขมันได้
ใบส้มสันดาน ให้ใส่ก่อนแกงสุก เหมือนใส่ผักที่สุกง่ายทั่วไป ส่วนปริมาณที่ใช้ก็กะเอาจากภาชนะที่ใส่ เช่นถ้าจะแกง ๑ ชาม ก็เด็ดใบสันดานกะพอเต็มชามจะได้รสเปรี้ยวที่ปานกลาง นอกจากนี้ใบส้มสันดาน ยังนำไปใส่แกงเนื้อ แกงหมู แกงไก่ แกงอ่อม ต้มยำ ต้มส้ม เป็นต้น
เครื่องปรุง ส่วนผสม
ใบสันดาน
ปลากดทะเล
กะปิ
ตะไคร้
ข่า
หอมแดง
กระเทียม
พริกแห้งใหญ่
พริกขี้หนูแห้ง
เครื่องพริกแกง
เกลือ
น้ำปลา
ขั้นตอน วิธีทำ
๑. ตำพริกแกง
๒. ตั้งนํ้าในหม้อให้นํ้าเดือด
๓. ใส่พริกแกงส้ม (นํ้าแกงจะได้หอม) ใช้ไฟกลาง
๔. ให้นํ้าพริกแกงเดือดสักครู่ใหญ่ ใส่เนื้อสัตว์ (ปลา กุ้ง )เทคนิคคือต้องไม่ใส่เนื้อสัตว์เยอะเกิน ใส่พอให้นํ้าแกงท่วม และต้องใช้ไฟกลางค่อนข้างแรง ห้ามคน
๕. รอจนกว่าเนื้อสัตว์สุก จากนั้นใส่ใบสันดานแล้วปิดฝารอเดือดอีกนิดแล้วยกลง
ปริมาณใบสันดานที่ใช้ก็กะเอาจากภาชนะที่ใส่ เช่นถ้าจะแกง ๑ ชาม ก็เด็ดใบสันดานกะพอเต็มชามจะได้รสเปรี้ยวที่ปานกลาง
๖. ตักเสิร์ฟ พร้อมข้าวสวยร้อนๆ