ประเพณีแข่งขันเรือยาวจังหวัดพิจิตร
ชื่องานประเพณีแข่งขันเรือยาวจังหวัดพิจิตร ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กำหนดการ:จัดการแข่งขันในเสาร์- อาทิตย์แรกของเดือนกันยายน ของทุกปี
และจัดกิจกรรมภายในงานจำนวน ๑๐ วัน ๑๐ คืน ระหว่างปลายเดือนสิงหาคม ถึงต้นเดือนกันยายนของทุกปี
สถานที่จัดงาน: บริเวณลำน้ำน่านหน้าวัดท่าหลวง พระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร
ความเป็นมา
จังหวัดพิจิตร มีประเพณีการแข่งขันเรือยาวที่มีความเกี่ยวเนื่องกับศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวพิจิตร ซึ่งเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๐ ครั้งสมัยเจ้าคุณพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (เอี่ยม) เจ้าอาวาสวัดท่าหลวง และเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ได้กำหนดจัดการแข่งขันขึ้นในวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ต่อมาระดับน้ำของแม่น้ำน่านลดลงเร็วกว่าปกติในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้มีการปรับเปลี่ยนเวลาการจัดงานมาเป็น วันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งในอดีตผู้ชนะจะได้รับผ้าห่มองค์หลวงพ่อเพชรเป็นรางวัล ต่อมาได้เปลี่ยนรางวัลเป็นธงที่มีรูปหลวงพ่อเพชรแทน
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ พระราชวิจิตร โมลี (บุญมี ปริปุณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดท่าหลวง พระอารามหลวง ได้ขอรับพระราชทานถ้วยรางวัลแก่เรือที่ชนะเลิศจากพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) พระองค์ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลแก่เรือที่ชนะเลิศในการแข่งขันเรือยาวจังหวัดพิจิตร ทั้ง ๓ ประเภท ได้แก่ ประเภทเรือยาวใหญ่ (55 ฝีพาย)เรือยาวกลาง (40 ฝีพาย) และเรือยาวเล็ก(ไม่เกิน 30 ฝีพาย) (ระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๔ - พ.ศ.๒๕๖๐) ได้สร้างความภาคภูมิใจ เป็นอย่างยิ่งแก่ประชาชนชาวจังหวัดพิจิตรและเรือที่เข้าแข่งขันทำให้การจัดการแข่งขันเรือยาวจังหวัดพิจิตรเป็นที่สนใจแก่ประชาชนและเรือที่จะมาเข้าแข่งขันเป็นอย่างมากและพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๑๐) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลแก่เรือที่ชนะเลิศในการแข่งขันทั้ง 3 ประเภท ในปี พ.ศ.๒๕๖๑ เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่จังหวัดพิจิตร และนับเป็นจุดแข็งและโอกาสของการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดที่จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการได้อย่างเป็นระบบ
ปัจจุบันประเพณีการแข่งขันเรือยาว เป็นประเพณีที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของจังหวัดซึ่งอยู่ในคำขวัญของจังหวัดพิจิตรไปแล้ว โดยจัดที่วัดท่าหลวงซึ่งเป็นวัดประจำจังหวัด ของจังหวัดพิจิตร ซึ่งมีหลวงพ่อเพชรพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวพิจิตร ทั้งยังเป็นงานที่มีผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน มีเงินหมุนเวียนในงานเป็นจำนวนปีละหลายล้านบาท เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลตลอดมา ทั้งนี้ ได้รับการ การสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐและภาคเอกชน ในการจัดงาน เพื่อส่งเสริมงานประเพณีวัฒนธรรมและสร้างรายได้จากท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ โดยมีเรือเข้าร่วมการจัดแข่งขันจากทั่วประเทศ จำนวนกว่า ๔๐ ลำ แบ่งประเภทการแข่งขัน ดังนี้
๑. ประเภทเรือยาวใหญ่ (๔๑ - ๕๕ ฝีพาย)
๒. ประเภทเรือยาวกลาง (๓๑ - ๔๐ ฝีพาย)
๓. ประเภทเรือยาวเล็ก (ไม่เกิน ๓๐ ฝีพาย)
๔. ประเภทเรือยาวเล็กภายในจังหวัด (ไม่เกิน ๓๐ ฝีพาย)
๕. ประเภทเรือยาวเล็กหญิง
๖. ประเภทเรือยาวโบราณ (เรือยาวขุด)
โดยสนามแข่งขัน ณ แม่น้ำน่าน หน้าวัดท่าหลวง มีระยะทางการแข่งขัน ๖๕๐ เมตร จัดวางทุ่นแบ่งสายน้ำออกเป็น ๒ ลู่ หรือ ร่องน้ำ คือ ร่องน้ำแดง (ฝั่งตะวันออก) ร่องน้ำ น้ำเงิน (ฝั่งตะวันตก) พร้อม ทุ่น หรือ ธง แบ่งสายน้ำให้เห็นชัดเจน เป็นระยะจากจุดเริ่มต้น(จุดปล่อย) ถึงเส้นชัย จะมี เรือ หรือ ทุ่น สำหรับให้เรือแข่งขันเทียบ ที่จุดเริ่มต้นการแข่งขัน
ความโดดเด่นในประเพณีแข่งขันเรือยาวจังหวัดพิจิตร มีกิจกรรมพิธีเปิดที่ป็น เอกลักษณ์ จัดขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคจำลองที่สวยงามตระการตา ประกอบด้วย เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพ ครองเมือง เรือครุฑเหิรเห็จ และเรือครุฑเตร็จไตรจักร อย่างสวยงามยิ่งใหญ่แห่งเดียวในประเทศไทย สำหรับการแข่งขันเรือยาวประเภทต่างๆ ทุกๆ ๔ นาที มีเสียงพากย์เรือที่สนุกสนานเร้าใจ มีกองเชียร์เรือตลอดทั้งวัน จากการประชันฝีพายเรือชั้นนำของเมืองไทยซึ่งมาจากทุกภาคของประเทศ
นอกจากนี้ กิจกรรมเสริมอื่น ๆ อาทิ การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติใต้ร่ม พระบารมีและของดีประชารัฐ การจำหน่ายสินค้าราคาถูกจากทั่วทุกภาคของประเทศ ฟรีคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง มหรสพ การแข่งขันกีฬาอื่น ๆ เป็นต้น
เงื่อนไขการมอบรางวัลถ้วยพระราชทาน
สำหรับถ้วยพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น หากเรือลำใดครองแชมป์ได้ถึง ๓ ปี ซ้อนก็จะได้ถ้วยกรรมสิทธิ์ แต่ละปีเรือที่ได้ครองถ้วยจะต้องนำถ้วยพระราชทานมาคืนคณะกรรมการจัดการแข่งขันก่อนจะลงแข่งขันถ้วยพระราชทานนี้เรือลำใดได้รับต้องทำเป็นหนังสือสัญญารักษาเพื่อกันถ้วยชำรุดสูญหาย นอกจากนี้ ประเภทเรือภายในจังหวัดและเรือแข่งประเภทอื่น ๆ ยังมีถ้วยรางวัลเกียรติยศให้กับเรือที่จะแข่งประเภท ก ๒ พร้อมเงินรางวัลอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
๑. คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึก. ที่ระลึกงานแข่งขันเรือยาวประเพณีเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดพิจิตร , นครสวรรค์ : เสรีนครการพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๓๐
๒. ประไพ ทิมพงษ์. เรือยาวไทย, นครสวรรค์ : นิวส์เสรีนคร. ๒๕๓๓
๓. คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึก. งานประเพณีแข่งขันเรือยาวจังหวัดพิจิตร ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ประจำปีปี๒๕๕๑, เอกสารสูจิบัตร. ๒๕๕๑
๔. ขวัญทอง สอนศิริ. เรือยาว มรดกวัฒนธรรม แห่งสายน้ำ. เอกสารสูจิบัตร. ๒๕๕๑
๕. คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึก. 951แข่งขันเรือยาวประเพณีจังหวัดพิจิตร ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ๒๘ สิงหาคม – ๖ กันยายน ๒๕๕๒, เอกสารสูจิบัตร. ๒๕๕๒
๖. ฝ่ายเลขานุการ. ระเบียบวาระการประชุมการเตรียมการจัดงานประเพณีแข่งขันเรือยาวจังหวัดพิจิตรชิงถ้วยพระราชทาน. เอกสารสำเนา. ๒๕๖๒
บุคคลอ้างอิง
๑. พระเมธีธรรมประนาท เจ้าคณะอำเภอเมืองพิจิตร วัดท่าหลวง พระอารามหลวง
๒. นายหิรัญ คัตมาตย์ ประธานสภา อบต.หัวดง ต.หัวดง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร
๓. นายสุธน เทียนเฮง นักธุรกิจ จังหวัดพิจิตร ไวยาวัจกรวัดท่าหลวง พระอารามหลวง