ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 10' 9.471"
16.1692975
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 34' 30.2916"
100.5750810
เลขที่ : 192593
พิธีเวียนเทียนสมโภชผ้าพระกฐินพระราชทาน
เสนอโดย พิจิตร วันที่ 29 มีนาคม 2563
อนุมัติโดย พิจิตร วันที่ 2 เมษายน 2563
จังหวัด : พิจิตร
0 450
รายละเอียด

พิธีเวียนเทียนสมโภชผ้าพระกฐินพระราชทานของวัดมงคลทับคล้อ พระอารามหลวงชื่อเรียกในท้องถิ่นบายศรีสู่ขวัญผ้าพระกฐินพระราชทาน

ประวัติความเป็นมา

ความเป็นมาของเทศกาลกฐิน มีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก กฐินขันธกะว่าครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองปาฐาประมาณ ๓๐ รูป ถือธุดงค์ ควัตรอย่างยิ่งยวด มีความประสงค์จะเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล จึงพากันเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองนั้น พอถึงเมืองสาเกต ซึ่งห่างจากกรุงสาวัตถีประมาณ ๖ โยชน์ ก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี เดินทางต่อไปมิได้ ต้องจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกต ตามพระวินัยบัญญัติ ขณะที่จำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกต เกิดความร้อนรนอยากเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง เมื่อถึงวันปวารณาออกพรรษาก็รีบเดินทางเพื่อที่จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ระยะนั้นยังมีฝนตกมาก หนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำเป็นโคลนตม ต้องบุกลุยมา จนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถีได้เข้าเฝ้าสมความประสงค์ พระพุทธเจ้า จึงมีปฏิสันถารกับภิกษุเหล่านั้น ถึงเรื่องจำพรรษาอยู่ ณ เมือง สาเกต และการเดินทาง ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลถึงความตั้งใจ ความร้อนรนกระวนกระวาย และการเดินทางที่ลำบากให้ทรงทราบทุกประการ ซึ่งในขณะนั้นมีนางวิสาขา มหาอุบาสิกา ได้เฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ด้วย และเห็นจีวรของภิกษุเหล่านั้นชำรุดขาดวิ่น และเปรอะเปื้อนโคลนตรม จึงขออนุญาตพระพุทธเจ้า ถวายไตรจีวรแก่ภิกษุเหล่านั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบและเห็นความลำบากของภิกษุ จึงทรงยกเป็นเหตุ และมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนแล้วกรานกฐินได้ (การลาดหรือทาบผ้าลงไปกับกรอบไม้แม่แบบเพื่อตัดเย็บย้อม ทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง) และเมื่อกรานกฐินแล้ว

จะได้รับอานิสงส์บางข้อ ตามพระวินัยต่อไป ซึ่งการถวายผ้าไตรจีวรแด่ภิกษุสงฆ์กำหนดให้กระทำในช่วงเวลา ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งถือปฏิบัติเป็นประเพณีในการถวายผ้ากฐิน มาจนถึงปัจจุบัน

พิธีเวียนเทียนสมโภชผ้าพระกฐินพระราชทานของวัดมงคลทับคล้อ พระอารามหลวง กระทำเพื่อสมโภชองค์พระกฐินพระราชทาน ในช่วงเวลา ๑๘.๐๐ น. ก่อนวันถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน เป็นพิธีที่ชาวอำเภอทับคล้อ ยึดถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ จนถึงปัจจุบัน โดยพระเทพญาณเวที อดีตรองเจ้าคณะภาค ๔ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดวังมงคลทับคล้อ พระอารามหลวง ได้ให้นายสละ แย้มมี ลูกศิษย์ซึ่งมีภูมิปัญญาด้านพิธีทำขวัญนาค ศึกษาเรื่องพิธีสู่ขวัญ และนำมาประยุกต์เป็นพิธีเวียนเทียนสมโภชผ้าพระกฐินพระราชทาน ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ไม่มีอำเภอใดในจังหวัดพิจิตรทำ

การปฏิบัติพิธีกรรม

ก่อนถึงพิธีเมื่อตั้งองค์พระกฐินพระราชทานเรียบร้อย เวลา ๑๗.๐๐ น. ทางวัดจะนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ภายในวัด จำนวน ๑๐ รูป เจริญพระพุทธสมโภชองค์พระกฐิน เมื่อเจริญพระพุทธมนต์เสร็จ เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. เริ่มทำพิธีบายศรีสู่ขวัญผ้าพระกฐินพระราชทาน

การสู่ขวัญทางวัดจัดหาหมอขวัญไว้ล่วงหน้า หมอขวัญมักจะเป็นผู้ที่ทราบประเพณีสู่ขวัญ เป็นที่นับถือของชาวบ้านในชุมชนนั้น หมอขวัญจะนุ่งห่มธรรมดาเพียงให้มีผ้าขาวหรือให้มีผ้าขาวม้าพาดบ่าก็พอ

หมอขวัญจะจัดให้เจ้าภาพนั่งหันหน้าไปในทิศทางตามตำรา เจ้าภาพนั่งที่เก้าอี้แล้วยกมือไหว้ตั้งจิตอธิฐาน ขอให้เทวดาบันดาลให้เป็นไปดังหมอขวัญสูตร ญาติพี่น้องและแขกที่มาร่วมพิธีจะนั่งล้อมเป็นวงด้านหลังเจ้าภาพ ตั้งจิตอธิฐานให้เจ้าภาพมีความสุข ความเจริญ หมอขวัญจะอ้อนวอนเทวดาเป็นภาษาบาลีว่า "สัค เค กา เม จ รูเป" จบแล้วว่านโม ๓ จบ แล้วกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย ครั้นจบแล้วจะสู่ขวัญ การสวดต้องให้เสียงชัดเจน สละสลวย ไพเราะฟังแล้วเกิดความดีใจ ศรัทธาอุตสาหะ ในการทำความดียิ่งขึ้นจึงจะเป็นสิริมงคล สวดเสร็จ จะว่า " สัพพพุทธานุภาเวน สัพพธัมมานุภาเวน สัพพสังฆานุภาเวน สัพพโสตถี ภวันตุ เต ยถา สัพพี ภวตุ สัพ " ฯลฯ

อุปกรณ์ที่ใช้

๑. บายศรี ๙ ชั้น

๒. ใบพลูสด

๓. แว่นเวียนเทียน ๓ อัน

๔. เทียนน้ำมนต์ หนัก ๑ บาท ๙ เล่ม

วิธีการ ลำดับขั้นตอน

๑. ตั้งบายศรี นำผ้าพระกฐินพระราชทาน บาตร และตาลปัตร มาตั้งที่ด้านหน้าบายศรี

๒. เริ่มพิธีเวียนเทียน โดยหมอขวัญกล่าวประวัติความเป็นของการถวายผ้าพระกฐิน และชื่อผู้ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน

๓. หมอทำขวัญเปิดบายศรี โดยนำผ้าที่หุ้มบายศรีออก ในขณะเดียวกันดนตรีไทยบรรเลงเพลงรำนางนาก หมอทำขวัญร้องเพลงเบิกบายศรี ทำนองเพลงไทยเดิม (เพลงรำนางนาก)

๔. หมอขวัญทำพิธีเบิกแว่นเทียน แว่นที่ ๑ ( แว่นเทียนมีจำนวน ๓ แว่น)

นำเทียนน้ำมนต์ติดที่แว่นเวียนเทียน แว่นละ ๓ เล่ม จุดเทียนที่แว่นเทียน และส่งให้ประธาน

(ผู้ขอรับพระราชทาน)

๕. เมื่อประธานรับแว่นเทียนจากหมอทำขวัญแล้ว วักแว่นที่จุดเทียนเข้าหาตัว ๓ ครั้ง แล้วใช้มือขวา

โบกควันออก แล้วส่งต่อให้คนที่อยู่ทางซ้ายมือ เวียนไปจนครบ ๓ รอบ เมื่อครบแล้วคนสุดท้ายส่งแว่นเทียนให้หมอทำขวัญ

๖. หมอทำขวัญเป่าควันเทียนไปที่ผ้าพระกฐินพระราชทาน และที่ใบหน้าของผู้

ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน นัยว่าเพื่อความเป็นสิริมงคล

๗. หมอทำขวัญอธิษฐานดับเทียนและนำใบพลูดับเทียนที่แว่นเทียนเป็นเสร็จพิธี

ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง

พิธีสู่ขวัญเป็นการแสดงความชื่นชมยินดี ขอความสำเร็จความศักดิ์สิทธิ์จากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทวดา อินทร์ พรหม ผู้มีอิทธิฤทธิ์มาประสิทธิ์ประสาทพรให้ จะได้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์เพราะผู้สวด และผู้ฟังไม่ใช่คนมีอิทธิฤทธิ์ เมื่อขอท่านท่านจะเมตตาประทานให้ตามคำขอ

ความสำคัญ

๑. เพื่อส่งเสริมและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงสืบไป

๒. เพื่อดำรงรักษาและยึดถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันไป

๓. เพื่อเสริมสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน โดยนำพระพุทธศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ มาเป็นตัวเชื่อมประสานให้ประชาชนเกิดความสามัคคีรักใคร่ปรองดองกัน

คุณค่าของประเพณีคุณค่าทางสังคม

๑ พุทธศาสนิกชน ยึดถือปฏิบัติและสืบทอดให้คงอยู่สืบไป

๒ พุทธศาสนิกชนเกิดความศรัทธาในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ผู้ถ่ายทอดความรู้

นายสละ แย้มมี บ้านพักพนักงานเทศบาลตำบลทับคล้อ เลขที่ ๑๐๒/๑ หมู่ ๒ ตำบลทับคล้อ อำเภอทับคล้อ จังหวัด ๖๖๑๕๐ โทรศัพท์ ๐๘๕ ๒๗๐๖๐๗๖

สถานที่ตั้ง
วัดมงคลทับคล้อ พระอารามหลวง
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน -
ตำบล ทับคล้อ อำเภอ ทับคล้อ จังหวัด พิจิตร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร
บุคคลอ้างอิง นางยุพาพิน หาญธัญกรรม อีเมล์ misspayu@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร อีเมล์ Khun16599@gmail.com
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน ศาลากลางจังหวัดพิจิตร (หลังเดิม) ซอย - ถนน บุษบา
จังหวัด พิจิตร
โทรศัพท์ ๐๘ ๑๘๗๔ ๒๘๔๑ โทรสาร 0 5661 2675
เว็บไซต์ -
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่