ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 12° 27' 41.4176"
12.4615049
ลองจิจูด (แวง) : E 102° 12' 14.0447"
102.2039013
เลขที่ : 192612
รำวงโบราณ
เสนอโดย จันทบุรี วันที่ 30 มีนาคม 2563
อนุมัติโดย จันทบุรี วันที่ 30 มีนาคม 2563
จังหวัด : จันทบุรี
0 1203
รายละเอียด

การรำวงโบราณ เป็นการแสดงออกซึ่งความเบิกบาน ความสนุกสนาน ผ่อนคลายจากการทำงาน ในการร้องเพลงรำวง ชาวหมู่บ้านตะปอนใหญ่จะร้องด้วยท่วงทำนองสนุกสนาน ไม่ช้าไม่เร็วจนเกินไปนัก โดยผู้รำและคนร้องที่เรียกว่า “ร้องเชียร์รำวง”ในอดีตจะใช้เครื่องดนตรีเพียงชิ้นเดียว คือกลองทัด หรือที่ชาวบ้านเรียกกลองเพล ใช้ตีกำกับทำนองเพลง ซึ่งมีจังหวะเดียว คือ แต๊ก ตุง ตุง แต๊ก ตุง ตุง ถ้าต้องการให้เพลงเร็วขึ้น ก็กระชั้นจังหวะขึ้น ต่อมามีการใช้ ฉิ่ง กรับ และลูกซัดประกอบด้วย

รำวงโบราณ หมู่บ้านตะปอนใหญ่ อำเภอขลุง ก่อตั้งขึ้นจากความคิดริเริ่มของ คุณกาญจน์ กรณีย์ ซึ่งเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมพื้นบ้านหลายอย่าง เช่น การเล่นชักเย่อเกวียนการเล่นเพลงสงฟาง และการเล่นรำวงโบราณ ซึ่งคุณกาญจน์ กรณีย์ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่สร้างความบันเทิงให้กับคนในท้องถิ่น และมีเจตนาเพื่อสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษให้คงอยู่คุณกาญจน์ กรณีย์ เป็นผู้นำของกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านของหมู่บ้านตะปอนใหญ่ เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยได้รับการยอมรับจากชาวบ้านให้เป็นประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขลุง และเป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี

รำวงโบราณ คือการแสดงพื้นบ้านของหมู่บ้านตะปอนใหญ่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ที่มีการร้องและรำ โดยมีการสืบทอดมาจากการรำวงของชาวบ้านในอดีต ในการรำวงโบราณนั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชนและแสดงถึงภูมิปัญญาชาวบ้านมากมาย ทั้งการหาวัสดุอุปกรณ์การคิดท่าร่ายรำ บทเพลงที่ใช้ประกอบการรำ รำวงโบราณนิยมละเล่นในงานประเพณี หรืองานรื่นเริงต่างๆในการรำวงโบราณเป็นการรำคู่ระหว่างชายหญิง มีท่ารำเลียนแบบสัตว์ต่างๆ เช่น นกเขากระต่าย เป็นต้น นิยมแต่งกายโดยผู้หญิงนุ่งซิ่นยาว สวมเสื้อคอกระเช้า ผู้ชายสวมเสื้อม่อฮ่อมมีผ้าขาวม้าผูกเอว หรือแต่งกายตามความนิยม ทว่าต้องสุภาพเรียบร้อยเหมาะสม ก่อนรำวงจะต้องมีการไหว้ครูทุกครั้ง โดยการนำดอกไม้ใส่แจกันไปวางไว้บนโต๊ะกลางแจ้ง จุดธูปเทียนบอกกล่าวครู ก่อนการแสดง ในส่วนของบทเพลงที่ใช้ร้องรำ เป็นเพลงพื้นบ้านที่ชาวบ้านแต่งขึ้น มีทำนองและภาษาง่ายๆ เนื้อเพลงสั้น และใช้ธรรมชาติรอบตัวมาแต่งเป็นเพลง เช่น เพลงเร็วเข้าซิ เพลงรำวงกันก่อนนะเธอ เพลงนกเขาไฟ เพลงปักษาจะบิน เพลงมืดฟ้ามัวฝน เป็นต้น

เพลงพื้นบ้านคือเพลงที่ชาวบ้านนิยมนำมาร้องเล่นกันเพื่อผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน สร้างความสามัคคี เพลงที่ใช้มักร้องเล่นกันเป็นกลุ่ม เดิมเป็นเพียงการขับร้องร่วมกัน ต่อมามีการแสดงร่วมด้วย ซึ่งในการแสดงมักจะมีการซักซ้อมร่วมกัน เพื่อให้การแสดงออกมาสวยงาม พร้อมเพรียง

ตัวอย่างเพลงพื้นบ้านที่ใช้ในการรำวงโบราณ

เพลงไหว้ครู

ฉันรำชวนชิดประดิษฐ์รำบายกมือวันทาฉันรำไหว้ครูไหว้ครู ไหว้ครูไหว้ครูในวงฟ้อนรำ

เพลงนกเขาไฟ

นกเขาไฟบินถลา นกเขาชวาบินมาหาคู่ ตั้งประชัน ตั้งประชันขันคู่มาจู้ฮุกกรู มาจู้ฮุกกรู จู้ฮุกกรุกจู้ฮุกกรุก ถึงยามสนุกมา จู้กรุกจู้กรู ถึงยามสนุกมาจู้กรุกจู้กรู

เพลงรำวงกันก่อนนะเธอ

รำวงกันก่อนนะเธอ แรกเจอสายตาก็รักกันรำวงเหมือนทอดสะพาน สุขสำราญตัวฉันรักเธอ (ซ้ำ)รักกันนั้นมันแสนยาก คารมปากชายเชื่อไม่ได้ ใจชายหมุนเวียนเปลี่ยนไปเชื่อไม่ได้น้ำใจอย่างเธอ เชื่อไม่ได้น้ำใจอย่างเธอ (ซ้ำ)

เพลงเร็วเข้าสิ

เร็วเข้าสิมีรำวงชายร้องส่งให้หญิงรำไปป่าเขาสาวเจ้าเจริญใจ เก็บดอกไม้เสียบใส่ลอนผมชวนกันร้องเป็นเพลงชื่นชม เก็บลั่นทมร้อยเป็นมาลา (ซ้ำ)

เพลงเจ้านกเขา

โอ้เจ้านกเขา ตื่นแต่เช้าเฝ้าแต่ขัน ทุกคืนวัน เฝ้าแต่ขัน เสนาะน้ำใจ เฝ้าแต่ขันเสนาะน้ำใจ ล่องลอยไปตามสายลม ฉันชมแล้วให้ชื่นใจ โอ้นกเขาไฟ จับอยู่ในยอดภูเขาทองจับเรียงกระไรเคียงคู่ จู้ฮุกกรู หาคู่ครอง สองตัวพี่น้อง เฝ้าแต่มองสายตารักกัน

เพลงชวนสาวรำวง

ชักชวนสาวงาม ฟ้อนรำถวายหลวงพ่ออนิจจารูปหล่อ คิ้วต่อซิกระไรข้างเดียวเอาเรือยนต์เข้าไปรับ ขากลับซิกระไรน้ำเชี่ยวสิบเอ็ดเดือนเดียว ไปเที่ยวสมุทรเจดีย์ (ซ้ำ)ไปไหนกันล่ะจ๊ะ หรือจะไม่ไยดีพระปฐมเจดีย์ เป็นที่นมัสการ (ซ้ำ)

เพลงปักษาจะบิน

บินปักษาจะบิน ลา ล่า ล้า บินปักษาจะบินตะวันรอนๆ เมื่อตอนเช้าตรู่ ฉันมองดูปักษาจะบิน

เพลงยามเย็น

ยามเย็นฉันเคยเดินเล่น พบนกกางเขนหาคู่เจรจาได้ยินเสียงแจ้ว แว่วตามลมมาๆตัวฉันนึกว่าเสียงหริ่งเรไร ฉันจะร้องทักว่าคู่รักก็ไม่ใช่ฉันจะร้องทักคู่รักก็ไม่ใช่ ทำไฉนจะได้รักเธอ

เพลงรุ้งกินน้ำ

รุ้งงามกินน้ำอยู่เป็นวง อยู่เป็นวง วงโค้งนภาพระอาทิตย์ฉายแสงลงมา พระอาทิตย์ฉายแสงลงมาสว่างตาจากฟ้ามาดิน โน้นแนะดาวลอยเคล้าอยู่กับเดือนโน้นแนะเดือนลอยเลื่อนอยู่บนนภาลมโชยโบยพัดสะบัดมา แหมๆ มันหนาวอุราเสียไม่รู้วาย เออ เอย ใจไม่วายคะนึง

เพลงสาวน้อยพายเรือ

ช๊ะ หน่อ ละ นอ ละ น้อย... สาวน้อยมาพายเรือเล่นเมื่อลมพัดเย็น พายเล่นชายหาดน้ำก็สาดเปียกกระเซ็น เรือติดพี่จะช่วยลงเข็นๆสาวน้อยไม่เห็นใจพี่บ้างเลย

เพลงสีซอ

สี สี สี สีซออยุธยา ใครเก่งเชิญรำเข้ามา วันนี้ละหนาตั้งท่าไว้ให้ดี

เพลงชวนน้องขึ้นรถ

ไปซิ มาซิ ขึ้นรถแท็กซี่สามล้อคนไทยจั้บปริ่งกระดิ่งเป็นเพลง เอามาบรรเลงเป็นเพลงฮาวายโป้นอย โป้นอย ก็โป้นอย (กะละนอย น่อย น้อย นอย น้อย นอย)

เพลงไชโย

ไชโยๆๆ ถือเหล้าขวดโต จะไปหาเมียใหม่เมียเก่า มันไม่เอาไหน จะไปหาเมียใหม่ ใหญ่ๆโตๆ (ซ้ำ)ไชโยๆๆ ถือเหล้าขวดโต จะไปหาผัวใหม่ผัวเก่า มันไม่เอาไหน จะไปหาผัวใหม่ ใหญ่ๆโตๆ (ซ้ำ)

สถานที่ตั้ง
เลขที่ 37/2 หมู่ที่/หมู่บ้าน 1
ตำบล เกวียนหัก อำเภอ ขลุง จังหวัด จันทบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
หนังสือรำวงโบราณ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี
บุคคลอ้างอิง อิศรวรรณ อุตตมะเวทิน อีเมล์ jumjimchan@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี อีเมล์ chantaboon_culture@hotmail.com
ถนน เลียบเนิน
ตำบล วัดใหม่ อำเภอ เมืองจันทบุรี จังหวัด จันทบุรี รหัสไปรษณีย์ 22000
โทรศัพท์ 039303298 โทรสาร 039303299
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่