ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 7° 39' 20.0002"
7.6555556
Longitude : E 99° 2' 30.9998"
99.0419444
No. : 192666
งานลอยเรืออารีปาจั๊ก
Proposed by. กระบี่ Date 3 April 2020
Approved by. กระบี่ Date 3 April 2020
Province : Krabi
0 671
Description

ประเทศไทยเป็นที่อยู่อาศัยของชนหลายกลุ่ม หลายเชื้อชาติ หลากศาสนาและความเชื่อ ไม่เว้นแม้กระทั่งในบริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่างที่เกาะลันตา จ.กระบี่ ก็เป็นถิ่นที่อยู่ของคนหลายกลุ่ม มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มไทยพุทธ ไทยมุสลิม คนเชื้อสายจีน และกลุ่มชาวเล

โดยกลุ่มชาวเลที่อาศัยอยู่บนเกาะลันตานั้นเป็นกลุ่มอูรักลาโวยจ(อุรักลาโว้ย) ซึ่งมีความเชื่อและนับถือผีบรรพบุรุษและจิตวิญญาณที่เกี่ยวกับทะเล แม้ว่าภายหลังอาจจะมีการนับถือศาสนาอื่นๆ บ้างตามสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น แต่ก็ยังมีการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมดังที่ปรากฏให้เห็นในพิธีกรรมและประเพณีสำคัญ เช่น พิธีกรรมลอยเรือ เป็นต้น

ร่วมมือร่วมใจกันต่อเรือร่วมมือร่วมใจกันต่อเรือ


สำหรับพิธีลอยเรือ (งานลอยเรือชาวเล)หรือ“งานลอยเรืออารีปาจั๊ก”นั้น ถือว่าเป็นงานพิธีสำคัญของชาวเลอูรักลาโวยจ ที่จะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 ของทุกปี ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านฤดู ในเดือน 6 เป็นการเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน และในเดือน 11 เปลี่ยนจากฤดูฝนเป็นฤดูร้อน นั่นเอง (ทางภาคใต้มีเพียง 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน)

ชาวเลมีความเชื่อว่า การทำพิธีลอยเรือนั้นเป็นการสะเดาะเคราะห์เพื่อให้สมาชิกในหมู่บ้านรอดพ้นจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ด้วยการขออำนาจจากผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านให้ช่วยขับไล่สิ่งอัปมงคลให้ลอยออกไป รวมถึงเป็นการแสดงความขอบคุณที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครองพวกเขาให้อยู่รอดปลอดภัยตลอดฤดูมรสุม โดยใช้เรือเป็นพาหนะบรรทุกสิ่งชั่วร้ายออกไปแล้วปล่อยให้ไหลไปตามสายน้ำ

พิธีขอดาโต๊ะพิธีขอดาโต๊ะ


ขั้นตอนของการทำพิธีลอยเรือนั้น มีแบบแผนการทำพิธีที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยจะต้องเริ่มจากการแต่งตั้งหัวหน้าการจัดงาน 3 คน คนแรกทำหน้าที่ติดต่อกับโต๊ะหมอ (ผู้นำทางจิตวิญญาณ) ว่าจะทำพิธีหรือไม่ คนที่สองทำหน้าที่ประกาศให้ชาวบ้านรู้เพื่อเตรียมตัวร่วมกันจัดงาน คนที่สามทำหน้าที่แบ่งงานให้ชาวบ้าน

วัสดุที่นำมาใช้ในการต่อเรือคือ ไม้ระกำและไม้ตีนเป็ด โดยก่อนจะตัดไม้มาใช้นั้นก็ต้องมีพิธีขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อน เมื่อได้ไม้มาแล้วก็จะนำมาต่อเรือที่เรียกว่า“เรือปาจั๊ก”เป็นสัญลักษณ์ของยานที่จะนำวิญญาณของคนและสัตว์ไปสู่อีกภพหนึ่ง

โต๊ะหมอผู้ทำพิธีโต๊ะหมอผู้ทำพิธี


ตัวเรือปาจั๊กจะถูกแกะสลักอย่างสวยงามเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ ประดับประดาอยู่ทั่วตัวเรือ รูปนกเกาะหัวเรือ หมายถึง"โต๊ะบุหรง"บรรพบุรุษผู้ซึ่งสามารถห้ามลมห้ามฝน ลายฟันปลา หมายถึง"โต๊ะบิกง"บรรพบุรุษที่เป็นฉลาม ลายงูหมายถึง"โต๊ะอาโฆะเบอราไตย"บรรพบุรุษที่เป็นงู ฯลฯ ในเรือยังมีตุ๊กตาไม้ระกำทำหน้าที่นำเคราะห์โศกโรคภัยของสมาชิกในแต่ละครอบครัวเดินทางไปกับเรือและเครื่องเซ่นต่างๆ ที่จะให้วิญญาณบรรพบุรุษนำติดตัวไปยังถิ่นฐานเดิม

ขนาดของเรือปาจั๊กจะมีความยาว 4-5 เมตร นอกจากลวดลายแกะสลักที่สวยงามแล้ว เรือปาจั๊กก็ยังมีสิ่งของตกแต่งอีกมากมาย เช่น เต่า นก ธง กุ้ง ปู ปลา ฯลฯ ซึ่งคนที่ต่อเรือก็จะเป็นผู้ชาย ส่วนการตกแต่งตัวเรือให้สวยงามเพิ่มขึ้นด้วยดอกไม้หลากหลายชนิดก็คือผู้หญิง และระหว่างที่ต่อเรือนั้นก็จะมีการเปิดดนตรีคลอไปด้วย

ทำพิธีบริเวณศาลเจ้าโต๊ะบาหลิวทำพิธีบริเวณศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว


ระหว่างที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งกำลังต่อเรืออยู่นั้น เมื่อถึงช่วงบ่าย อีกส่วนหนึ่งก็จะไปทำพิธีขอดาโต๊ะ เป็นการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางและบรรพบุรุษว่าจะมีการจัดงานลอยเรือ โดยของที่ใช้ทำพิธีก็คือ ขนมเจ็ดสี ไก่สุก ไก่ดิบ เทียนขี้ผึ้ง ข้าวตอก เหล้าขาว หมาก พลู และใบจาก

หลังจากทำพิธีบอกกล่าวบรรพบุรุษแล้ว โต๊ะหมอก็จะทำพิธีดูเทียนเพื่อทำนายว่าปีนี้จะมีปลามีกุ้งเยอะหรือไม่ จะทำมาหากินได้ดีหรือไม่ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ขนมต่างๆ ที่นำมาทำพิธี ชาวบ้านก็จะแบ่งกันกินบ้าง บางส่วนที่เหลือจะนำไปวางไว้ริมน้ำทางทิศตะวันตกเพื่อให้เจ้าป่าเจ้าเขาเจ้าทะเลได้กิน

ประดับตกแต่งเรือให้สวยงามประดับตกแต่งเรือให้สวยงาม


เมื่อการต่อเรือและประดับตกแต่งจนเสร็จสิ้นแล้ว วันรุ่งขึ้นในช่วงบ่ายจะมีพิธีสำคัญคือ การแห่เรือ โดยชาวบ้านจะแห่เรือปาจั๊กจากบ้านคลองดาวมาถึงชุมชนโต๊ะบาหลิว ซึ่งเป็นบริเวณที่จะใช้ลอยเรือ ในขบวนแห่เรือมีการแต่งกายสวยงาม มีการเปิดเพลงสร้างความสนุกสนานให้แก่ชาวบ้าน และเมื่อมาถึงชุมชนโต๊ะบาหลิวแล้ว ก็จะแห่เรือวนรอบศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว 3 รอบ ก่อนจะนำเรือปาจั๊กมาตั้งไว้ที่ริมทะเล

ในคืนนั้นจะมีการร้องรำทำเพลงรอบๆ เรือด้วยจังหวะเพลงรองเง็ง และจะมีการละเล่นสนุกสนานตลอดคืน จนถึงช่วงเวลาใกล้เช้าของอีกวัน ก็ถึงเวลาที่จะนำเรือปาจั๊กออกไปลอยสู่ทะเล ชาวบ้านจะนำข้าวของเครื่องใช้ เศษเล็บ เศษผม ห่อใส่ลงไปในเรือ

แห่เรือรอบๆ ศาลเจ้าแห่เรือรอบๆ ศาลเจ้า


จากนั้นจะนำเรือปาจั๊กบรรทุกลงในเรือลำใหญ่ แล้วลอยออกไปกลางทะเล ก่อนจะนำเรือปาจั๊กลงทะเล ให้ลอยออกไปไกลจากหมู่บ้าน เป็นสัญญาณว่าสิ่งชั่วร้าย หรือสิ่งไม่ดีต่างๆ ได้ลอยออกไปแล้ว และต่อจากนี้ชีวิตของชาวเลจะมีแต่สิ่งดีๆ เข้ามา ทำมาหากินได้ดีตลอดปี

Location
Amphoe Ko Lanta Province Krabi
Details of access
Reference สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด กระบี่ Email plan413@gmail.com
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่