ชาวบ้านตำบลพลับพลา อำเภอเมืองจันทบุรี นิยมเล่นว่าวดุ๊ยดุ่ยที่มีอัตลักษณ์พลังเสียงจากอูดว่าวที่ไพเราะ ดังกังวาน ฟังเหมือนเสียงดนตรี สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันโดยได้รวมกลุ่มกันเป็นชมรมรักษ์เสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ยจันทบุรี มีการถ่ายทอดความรู้เรื่องว่าวดุ๊ยดุ่ยต่อไปยังเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทั้งเรื่องการประดิษฐ์ว่าวและอูดว่าวดุ๊ยดุ่ย ที่ได้นำองค์ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านฟิสิกส์และการคำนวณ โครงสร้างว่าทำอย่างไร ให้ว่าวขึ้นไปลอยบนฟ้าได้ และการเล่นว่าวที่มีอูดว่าวดุ๊ยดุ่ยซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์เชื่อมโยงกับวิถีธรรมชาติในท้องถิ่น โดยจัดให้มีการแข่งขันและท้าทายกันดูว่าว่าวของใครจะลอยอยู่บนท้องฟ้าและส่งเสียงจากอูดว่าวได้นาน ชาวบ้านนิยมเล่นว่าวดุ๊ยดุ่ยในฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ผลไม้ผลิดอกออกผลและเป็นช่วงการเก็บเกี่ยวข้าวในนาด้วย ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลทางสถิติ พบว่าลักษณะในการติดลมของว่าวดุ๊ยดุ่ยสอดคล้องกับผลผลิตทางการเกษตรของพื้นที่ ในการเล่นว่าวถ้าเล่นผ่านข้ามคืน (ว่าวลอยอยู่บนฟ้าตลอดคืนโดยไม่ตก) เชื่อว่าในปีนั้นผลผลิตทางการเกษตรผลไม้จะติดผลดก แต่ถ้าเล่นไม่ผ่านข้ามคืนแสดงว่าผลไม้ไม่ดกเท่าที่ควรว่าวดุ๊ยดุ่ยจึงเป็นว่าวพยากรณ์เรื่องดิน ฟ้า อากาศ และทำนายผลผลิตทางการเกษตรได้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรในพื้นที่
ชาวบ้านตำบลพลับพลา อำเภอเมืองจันทบุรี จึงได้เริ่มจัดการแข่งขันเสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๘ จนถึงปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง นับเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการอนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้าน คือการเล่นว่าวดุ๊ยดุ่ยให้เยาวชนรุ่นหลัง หรือประชาชนทั่วไปได้รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น และเป็นการส่งเสริมให้คนทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไม่ไปมั่วสุมติดเกม ยาเสพติดและยังเป็นการออกกำลังกายที่ดี ส่งเสริมอาชีพให้มีรายได้เพิ่มแก่คนในท้องถิ่น (ทำว่าวและอูดขาย) อีกด้วย การแข่งขันเสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ยจึงเป็นสุดยอดภูมิปัญญากีฬาพื้นบ้านของจันทบุรีที่สามารถเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ในชุมชนทำให้ชาวบ้านได้มีความรู้สึกหวงแหนวัฒนธรรมอันน่าค้นหาของไทย ที่ถือว่ามีความเกี่ยวโยงอย่างมหัศจรรย์ในเรื่องของวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชน ที่อนุชนรุ่นหลังควรที่จะสืบสาน ฟื้นฟู รักษาไว้ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่คู่ชุมชนตลอดไป
นายหาญ ช่างเรือน อดีตประธานชมรมรักษ์เสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ย จันทบุรี (คนแรก) เล่าว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ สมัยที่ยังเป็นเด็ก อายุประมาณ ๕ – ๖ ขวบ ได้เห็นลุงศาสตร์ กสิกรรมเจริญเล่นว่าวเป็นครั้งแรก ซึ่งตัวว่าวมีลักษณะของปีกยาวรี ๆ เหมือนว่าวจุฬา แต่มีเสียงไพเราะดังกังวาน ฟังเหมือนเสียงดนตรี จึงได้สอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่าคือว่าวอะไร ซึ่งก็ได้คำตอบเรียกว่า“ว่าวดุ๊ยดุ่ย”และที่ทำให้กำเนิดเสียงดังฟังเหมือนดนตรีเรียกว่า “อูด” จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำอูดและว่าวดุ๊ยดุ่ยขึ้นมาให้ได้
เริ่มแรกที่ทำว่าวดุ๊ยดุ่ยนั้น ลักษณะของว่าวมีรูปร่างแบบของเดิมเมื่อสมัยก่อน ใช้กระดาษปูนปะที่ตัวว่าว และสายป่านใช้เป็นลวด อูดก็เป็นหวาย อุปกรณ์ที่ใช้เก็บเชือกเรียกว่า “เข็ด” (ทำจากไม้ไผ่ สันนิษฐานว่าอาจจะมาจากการเก็บเชือกซึ่งต้องใช้กำลังเป็นอย่างมากในการเก็บ ก็จะร้องว่า โอย“เข็ด”) ปัจจุบันนายหาญ ช่างเรือน ได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะของว่าวดุ๊ยดุ่ย ให้ปีกบนและปีกล่างมีช่วงปลายปีกมน (ไม่แหลมเหมือนของเดิม) เมื่อขึ้นอยู่บนท้องฟ้า มองเหมือนรูปพานรัฐธรรมนูญ การปะว่าวใช้ผ้ายางแทนกระดาษ ซึ่งสามารถตกแต่งได้หลายสี ด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มลวดลายประดิษฐ์ ทำให้ว่าวมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น ว่าวดุ๊ยดุ่ยต้องมี ๒ หาง โดยใช้ผ้าทำเป็นหาง (ว่าวดุ๊ยดุ่ยเมื่อขึ้นอยู่บนท้องฟ้า หางของว่าวช่วยให้การทรงตัวได้นิ่งสง่างาม ไม่ส่ายไปส่ายมาเหมือนว่าวจุฬา) ส่วน“อูด” ยังคงอนุรักษ์ไว้แบบดั้งเดิมคือใช้หวายในการทำความรู้เรื่องการทำว่าวดุ๊ยดุ่ย ได้ถูกนำมาถ่ายทอดต่อไปยังคนในชุมชน รวมทั้งเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ด้วย ทั้งเรื่องการประดิษฐ์ว่าวและการทำอูดให้มีความไพเราะ และการเล่นว่าวที่ต้องสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์และธรรมชาติอย่างลงตัว ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์อันทรงคุณค่าคู่ควรกับการอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบไป จึงได้มีการรวมกลุ่มกันของผู้ที่ชื่นชอบเสียงอูดและว่าวดุ๊ยดุ่ย จัดให้มีการแข่งขันวิ่งว่าวและประชันเสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ยโดยผู้นำของหมู่บ้าน ซึ่งแข่งขันกันเป็นการภายใน เริ่มแข่งขันครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๘ ที่บริเวณลานโล่งหน้าบ้านของนายธงชัย อตัญที ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๐ (บ้านดาวเรือง) ตำบลพลับพลา และจัดให้มีการแข่งขันกันมาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็น “ชมรมรักษ์เสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ย จันทบุรี” เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๓
ชาวบ้านพลับพลา ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนสืบสานภูมิปัญญาจัดการแข่งขันเสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ยอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี (จัดในช่วงเดือนธันวาคม เป็นเวลาครั้งละ ๒ วัน) ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้ใช้สนามบ้านดาวเรืองพลับพลา (ทุ่งโล่งหนองสิทธิ์ของร้านไทยยางยนต์สนับสนุนให้ใช้พื้นที่) เป็นสถานที่จัดการแข่งขัน เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมแข่งขันเพิ่มมากขึ้นทุกปี
วิธีการและเคล็ดลับในการทำว่าวดุ๊ยดุ่ยและอูดว่าว
๑.การเลือกไม้ : เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการทำโครงว่าว ไม้ที่นิยมใช้ทำว่าวดุ๊ยดุ่ยก็คือ ไม้ไผ่คันร่มหรือไผ่เลี้ยง(ภาคกลาง) ซึ่งมีคุณภาพของเนื้อไม้หนา ไม่มีหนาม ลำต้นตรง เบา และแข็งแรง (ส่วนใหญ่ใช้ไม้ไผ่คันร่ม ที่แก่ มีอายุประมาณ ๓ ปีขึ้นไป จะมีคุณภาพในการใช้ทำว่าวได้ดี) การตัดไม้ จะต้องตัดจากส่วนโคนต้น ขึ้นไป ๓ เมตร ไม้ที่ได้จะตัน ส่วนนี้จะมาทำอกว่าว ส่วนที่เหนือ ๓ เมตรขึ้นไป จะนำมาทำปีกบนและปีกล่าง
๒.การเหลาไม้และดัดไม้: เมื่อเราได้ไม้ไผ่ตามคุณลักษณะที่ต้องการแล้ว จึงนำมาเหลาตามลักษณะของโครงว่าวรูปต่างๆ ที่จะทำ เทคนิคของการเหลาและดัดไม้เพื่อให้ได้โครงงอตามรูปต่างๆ ได้ง่ายต้องนำไม้ไผ่ไปลนไฟอ่อนๆ ใช้ผ้าชุบน้ำลูบส่วนที่ลนไฟแล้วดัดให้ตรง ไม่ไผ่จะไม่คืนตัวและได้ความคงทนด้วย
๓. การทำโครงว่าว: ใช้ไม้ไผ่ ตัดเป็นท่อนยาวประมาณ ๑.๕๐ เมตร จากนั้นผ่าให้เป็นชิ้น เหลาให้ส่วนปลายเล็กๆ สำหรับทำปีกบน ส่วนปีกล่างมีขนาดเล็กกว่าปีกบน โครงว่าวยาวเท่ากับปีกบน จากนั้นนำปีกบนมามัดที่โครงให้ระยะซ้ายขวาห่างเท่าๆกัน ส่วนปีกล่างนำมามัดต่อ ให้มีระยะห่าง ๑๕ ซม.จากปีกบน โดยใช้ด้ายสำหรับมัด เตรียมผ้ายาง คัตเตอร์ กาวปะหนัง เมื่อประกอบตัวโครงว่าวเรียบร้อย นำมาวางทาบกับผ้ายาง ใช้คัตเตอร์ตัดผ้ายางให้ใหญ่กว่าตัวว่าวเล็กน้อย จากนั้นทากาวปะหนังที่ผ้ายางแล้วพับไปรอบๆ ตัวว่าวจนเสร็จ ใช้สีระบายตกแต่งหรือทำลวดลายบนผ้ายางตามความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนที่จะทำให้ว่าวมีความสวยงาม จากนั้นตัดผ้าให้เป็นชิ้นนำมาต่อเป็นส่วนหางว่าว ซึ่งจะต้องมี ๒ หาง ให้ยาวตามความเหมาะสมกับตัวว่าว เพราะเมื่อว่าวขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้า หางว่าวจะเป็นตัวที่ช่วยให้ว่าวขึ้นได้นิ่ง และสมดุลสวยงาม
๔. การทำอูดว่าวดุ๊ยดุ่ย: ในส่วนของการทำอูดว่าวที่นำมาเป็นส่วนประกอบสำคัญติดอยู่บนหัวของว่าวดุ๊ยดุ่ยที่จะทำให้ว่าวมีเสียงไพเราะน่าฟัง ทำจากไม้ไผ่ดัดโค้ง ผูกเชือกที่ปลายทั้ง ๒ ข้าง คล้ายคันธนู บนเส้นเชือกติดใบอูดซึ่งทำจากแผ่นหวายขมบางๆ ทำให้เกิดเสียงดัง ดุ๊ย ดุ่ย เมื่อลอยไปมาอยู่ในอากาศ วิธีทำใบอูดโดยเลือกตัดหวายขมที่เมาขี้ (เป็นหวายที่มีลักษณะเนื้อในกรอบ ไม่เหนียว เนื้อหวายเบา ทำให้เสียงดังไพเราะกังวาน ปัจจุบันใบอูดสามารถทำให้เกิดเสียงดังไพเราะจากเสียงต่ำไล่ไปหาเสียงสูงตามระดับเสียงโน้ตดนตรีได้ถึง ๕ เสียง) ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๑.๒ ซม. เอามาตัดเป็นท่อนให้มีขนาดที่เหมาะสมกับใบอูด (ความยาวประมาณ ๑๒๐ ซม.) เกลาหวายให้เป็นรูปร่างใบอูด นำไปตากแห้ง ๒-๓ วัน นำเศษแก้วแตกหรือกระดาษทรายแต่งใบอูดไม่ให้หนาหรือบางจนเกินไป เพื่อให้ได้เสียงที่ไพเราะ ตัดความยาวของใบอูดให้มีขนาดตามต้องการ (ประเภทอูดยาว ใบอูดยาวประมาณ ๑๐๐ เซนติเมตร ขึ้นไป ส่วนประเภทอูดสั้น ใบอูดยาวประมาณ ๙๐ เซนติเมตร ลงมา) เหลาให้บางพอเหมาะ แล้วทำให้มีหัวทั้ง ๒ ด้าน สำหรับมัดเชือก จากนั้นนำใบอูดที่เสร็จแล้วมาเจาะรูที่ส่วนหัวของใบอูดทั้ง ๒ ด้าน ใช้เชือกร้อยมัดให้เรียบร้อย และเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว นำใบอูดมาประกอบเข้ากับคันธนูที่เหลาไว้ ทดสอบเสียงอูดว่าวให้ไพเราะตามต้องการ แล้วนำไปมัดติดที่ส่วนหัวของว่าว เป็นอันว่าจะได้ว่าวดุ๊ยดุ่ยที่ได้สัดส่วนสวยงามพร้อมกับเสียงที่มีความไพเราะ เมื่อลอยอยู่บนท้องฟ้าอย่างน่าอัศจรรย์
หลักเกณฑ์กติกาการแข่งขันและวิธีการแข่งขันเสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ย
การจัดการแข่งขันเสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ย ของจังหวัดจันทบุรี ในแต่ละครั้งได้กำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ใช้เวลาในการแข่งขันเป็นเวลาทั้งสิ้น ๒ วัน โดยจะมีการประชาสัมพันธ์การจัดงานล่วงหน้าไปยังสมาชิกในชุมชนต่างๆ ในจังหวัดจันทบุรี และเครือข่ายจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดระยองและจังหวัดตราด โดยมีรายละเอียดดังนี้
หลักเกณฑ์กติกาการแข่งขัน
ประเภทของการแข่งขัน แบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
๑.ประเภทอูดยาว มีใบอูดยาว ตั้งแต่ ๑๐๐ ซม.ขึ้นไป
๒.ประเภทอูดสั้น มีใบอูดยาว ตั้งแต่ ๙๐ ซม.ลงมา
ว่าวที่ใช้ในการแข่งขันต้องเป็นว่าวดุ๊ยดุ่ยที่มี ๒ หางเท่านั้น
แข่งขันเป็นทีมๆ ละ ๒ คน (ไม่จำกัดเพศและวัย เป็นทีมผสมได้ทั้งชาย หญิง เด็ก
และผู้ใหญ่)) ผู้เข้าแข่งขัน จะประกอบด้วย คนวิ่งว่าว ๑ คน และคนส่งว่าว ๑ คน เปิดรับลงทะเบียนสมัครเข้าแข่งขัน ผู้สมัครต้องนำใบอูดมาด้วย (ว่าว ๑ ตัว สามารถ ใช้อูดได้หลายใบ ไม่จำกัดจำนวนใบอูดที่สมัคร โดยผู้เข้าแข่งขันจะเสียค่าสมัครอูดใบละ ๒๐ บาท) เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบและเซ็นชื่อกำกับ โดยใบอูดแต่ละใบจะได้หมายเลขเบอร์เพื่อใช้ประกอบในการแข่งขันให้เกิดความเป็นธรรมคณะกรรมการตัดสินจะไม่มีโอกาสทราบว่าอูดว่าว ที่กำลังแข่งขันนั้นเป็นอูดว่าวของบุคคลใด
การแข่งขันแบ่งเป็น ๓ รอบ ได้แก่
๑.รอบคัดเลือก จัดการแข่งขันโดยเรียงตามลำดับหมายเลขเบอร์ที่สมัคร ครั้งละทีม ตามลำดับจนครบทีมผู้สมัครทั้งหมด คัดเลือกให้เหลือ ๕๐ ทีม โดยแข่งขันสลับระหว่างประเภทอูดยาวและอูดสั้น
๒.รอบที่สอง จัดการแข่งขันโดยจับฉลากหมายเลขเบอร์ผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านรอบคัดเลือก แข่งขันกันให้เหลือ ๑๐ ทีม
๓.รอบชิงชนะเลิศ จัดการแข่งขันโดยจับฉลากหมายเลขเบอร์ผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านรอบ ที่สอง เพื่อตัดสินหาผู้ชนะรางวัลที่ ๑-๕ และรางวัลชมเชย
การขึ้นว่าว จะใช้ ธงเขียว – ธงแดง เป็นสัญลักษณ์ในการปล่อยว่าว
Øธงแดง – ให้เตรียมความพร้อม หรือมีเหตุฉุกเฉินที่ทำให้ไม่สามารถขึ้นว่าวได้
Øธงเขียว – เมื่อคณะกรรมการยกธงเขียว จะจับเวลา ๓๐ วินาที
ถ้าว่าวไม่สามารถขึ้นได้จะถือว่าแพ้ฟาล์ว (สมัครใหม่ได้)
กรณีที่ยกเว้น Øหางขาด เชือกขาด หรือลืมบิดใบอูด ให้ขึ้นว่าวใหม่
กรณีตัดสิทธิ์เข้าแข่งขัน Øอูดขาด ไหมขาด เพราะถือว่าไม่มีความพร้อม
วิธีการแข่งขัน
๑.จัดการแข่งขันครั้งละ ๑ ทีม เมื่อเริ่มการแข่งขัน ให้ทีมผู้เข้าแข่งขันนำว่าวไปประจำจุดส่ง เตรียมความพร้อม รอสัญญาณธงเขียวขึ้น
๒.เมื่อธงเขียวขึ้น ให้ทีมผู้เข้าแข่งขันวิ่งและปล่อยว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า ภายในเวลา ๓๐ วินาที ถ้าว่าวไม่สามารถขึ้นได้จะถือว่าแพ้ฟาล์ว (สมัครใหม่ได้)
๓.ทีมผู้เข้าแข่งขันวิ่งว่าวต่อไประยะหนึ่งตามความยาวของสนามแข่งขัน (๒๐๐-๓๐๐ เมตร) ไม่เกิน ๕ นาที เป็นอันเสร็จสิ้นการแข่งขัน ๑ ทีม
กติกาการตัดสิน
ในการแข่งขัน มีคณะกรรมการตัดสิน ๓ คน โดยคณะกรรมการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการฟังเสียงอูดว่าวเป็นที่ยอมรับ คณะกรรมการจะนั่ง ในตำแหน่งเหนือลม ห่างจากจุดส่งว่าวประมาณ ๒๐๐ - ๓๐๐ เมตร โดยแบ่งหน้าที่ให้คณะกรรมการแต่ละคนรับผิดชอบในการพิจารณาให้คะแนนผู้เข้าแข่งขันทุกเบอร์ตามเกณฑ์การให้คะแนนกันคนละด้าน คำตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นข้อยุติ
เกณฑ์การให้คะแนน
- คณะกรรมการคนที่หนึ่ง ให้คะแนนเสียงดังกังวาน คะแนนเต็ม ๑๐ คะแนน
- คณะกรรมการคนที่สอง ให้คะแนนเสียงคมชัด คะแนนเต็ม ๑๐ คะแนน
- คณะกรรมการคนที่สาม ให้คะแนนการเปลี่ยนเสียง คะแนนเต็ม ๑๐ คะแนน
การเปลี่ยนเสียง โดยไม่ซ้ำ อูดว่าวใดเปลี่ยนเสียงได้มากกว่ากัน จะได้คะแนนมาก ปัจจุบันมีการเปลี่ยนเสียงไล่ตามระดับเสียงโน้ตดนตรีได้มากสุดถึง ๕ เสียง)
การตัดสิน จะนำผลคะแนนของคณะกรรมการทั้ง ๓ คนมารวมกัน (คะแนนเต็ม ๓๐ คะแนน) ใครได้คะแนนรวมสูงสุดจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขัน ทีมใดตกรอบแรก สามารถมาสมัครเข้าแข่งขันใหม่ได้อีก วัดกันที่คะแนนที่ได้
กำหนดการขั้นตอนการจัดการแข่งขัน :ช่วงเช้าวันแรกของการแข่งขัน เวลาประมาณ ๐๗.๐๐ น. จะเป็นพิธีทำบุญถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แด่บรมครูในการทำว่าวที่ได้ล่วงลับไปแล้ว เพื่อแสดงกตัญญุตาต่อบรมครูก่อนจัดการแข่งขัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่แสดงถึงวัฒนธรรมอันดีงามที่ได้ร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นประจำทุกปี เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. จะเริ่มลงทะเบียนเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมแข่งขันจากนั้นเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. จะเป็นพิธีเปิดการแข่งขัน และเริ่มดำเนินการแข่งขันประเภทต่างๆ จะมีการคัดเลือกผู้เข้ารอบและจัดแข่งขันรอบชิงชนะเลิศกันในวันสุดท้าย ของการแข่งขันพร้อมรับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลในพิธีปิดการแข่งขัน ซึ่งการแข่งขันนี้จะมุ่งเน้นที่ความสมัครสมานสามัคคี เชื่อมความสัมพันธ์อันดีต่อกัน การจัดให้มีการแข่งขันเสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ยกันเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องนี้จะช่วยให้สามารถอนุรักษ์ว่าวดุ๊ยดุ่ยให้คงอยู่ คู่ชุมชนต่อไป