เตา สาหร่ายน้ำจืด ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในประเทศไทย สามารถรับประทานได้และมีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งนิยมนำมาใช้ทำเป็นอาหารของคนจังหวัดแพร่ และเตายังเป็นดัชนีชี้วัดความสะอาดและช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้เเหล่งน้ำ อีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการที่บ้านนาคูหา ได้รับการยกย่องเป็นหมู่บ้านที่มีอากาศบริสุทธิ์เป็นอันดับ ๗ ของประเทศไทย เตา จึงเป็นวิถีชีวิตของคนบ้านนาคูหา คนบ้านนาคูหาเชื่อว่าเตามีชีวิต วันพระก็ไม่เก็บเตา เพราะเตาเลี้ยงชีวิตคนบ้านนาคูหาเป็นเวลาช้านาน
ข้าวเกรียบเตา ผลิตจากวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ ผสมกับสาหร่ายจากตาน้ำผุดธรรมชาติ บ้านนาคูหา แหล่งโอโซนอันดับ 7ของประเทศไทย ชาวบ้านเลี้ยงไว้ในบ่อน้ำสะอาด เป็นอาชีพของชาวบ้านแห่งเดียวในประเทศไทย ที่เลี้ยงเตาขาย
กระบวนการการทำข้าวเกรียบเตา เริ่มจากนำเตามาล้างให้สะอาดแล้วนำมานวดผสมกับแป้งให้เข้ากันออกสีเขียวของเตา แล้วนำมาปั้นเป็นแท่งยาวห่อด้วยใบตองแล้วนำมานึ่งจนสุก จากนั้นนำก้อนที่นึ่งสุกแล้ว นำไปแช่ในตู้เย็นให้เกิดความแข็งตัว แล้วนำมาหันเป็นชิ้นๆ และนำไปตากแดดให้แห้งสนิท ก็จะได้ข้าวเกรียบแห้ง พร้อมที่จะทอด เมื่อจะนำมาทานหรือขายก็จะเอามาทอดในน้ำมันพืช ก็จะได้ข้าวเกรียบเตจาที่อร่อย บรรจุลงถุงวางขายในร้านค้าของหมู่บ้านซึ่งปัจจุบันนี้ขายดีกว่าผลิตภัณฑ์อื่นจนบางคนเลิกทำเมี่ยงหันมาทำข้าวเกรียบเตาขายสร้างรายได้เป็นอย่างดี ในแต่ละเดือนสามารถขายข้าวเกรียบเตานำรายได้สู่หมู่บ้านนับล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะซื้อไปทานและเป็นของฝาก