เป็นประเพณีที่ก่อเกิดมาจากสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีการดำรงชีวิตตามธรรมชาติในป่าน้ำหนาว งานประเพณีนี้ได้เริ่มขึ้นในช่วงต้นฤดูหนาวตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ดำเนินสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่และปลูกฝังให้คนรู้สำนึกในคุณค่าของป่าไม้ รักษ์ป่า โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ให้เกิดความสมดุลและความพอดี ตามแนวความคิดที่ว่า มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยป่า ป่าให้ชีวิตและความสุขแก่มวลมนุษยชาติ ป่าคือแหล่งอาหารที่สำคัญของชาว น้ำหนาว ข้าวหลามที่นำมาให้มนุษย์บริโภคนำมาจากป่าผืนนี้เอง
ข้าวหลาม คือ ข้าวเหนียวที่บรรจุในกระบอกไม้ไผ่แล้วเผาให้สุก เหมาะสำหรับการเดินทางไกลหรือเดินป่าที่ไม่ต้องยุ่งยากในการหาอุปกรณ์หุงต้ม ทั้งนี้ชาวน้ำหนาวแต่เดิมทำอาชีพเก็บของป่า ล่าสัตว์ และปลูกพืชไร่ การเดินทางในป่าระยะไกลจะนำเสบียงอาหารติดตัวไปเพียงสองอย่างคือ ข้าวสารเหนียวกับเกลือ ส่วนกับข้าวหาได้ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ ข้าวหลามเมื่อเผาสุกจะมีกลิ่นหอมเพราะเผาจากไม้ไผ่กาบแดง (หรือไผ่โป๊ะ ไผ่เป๊าะ) ไม้ไผ่ที่เนื้อบางพอเหมาะกับการเผาให้ระอุ มีเยื่อด้านในทำให้ข้าวหลาม เมื่อสุกจะล่อนแกะง่าย
ช่วงปลายเดือนธันวาคม ระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๓ ของทุกปีโดยประมาณ (วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ สัปดาห์ที่ ๓ ของเดือนธันวาคม) จะเป็นช่วงข้าวใหม่ เหมาะกับการนำมาเผาในช่วงฤดูหนาว ชาวอำเภอน้ำหนาวจึงจัดงานประเพณีเผาข้าวหลามและของดีอำเภอน้ำหนาวทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้นมา มีกิจกรรมการประกวดข้าวหลามจากทุกหมู่บ้านเป็นหลัก ทั้งประเภทดั้งเดิมกระบอกใหญ่ยักษ์ และประเภทกระบอกเล็ก ข้าวดำ ข้าวขาว จะใส่ไส้เผือก ไส้ถั่วตามใจชอบ การประกวดขบวนแห่ของ แต่ละตำบล กิจกรรมการประกวดผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน การประกวดพันธุ์ข้าวพญาลืมแกงที่ใช้ทำข้าวหลาม การประกวดธิดาข้าวหลาม กิจกรรมมหรสพ กีฬา และสินค้าพื้นเมือง ซึ่งนับว่าเป็นเทศกาลที่สร้างความสุขให้แก่ประชาชนชาวอำเภอน้ำหนาวเป็นอย่างยิ่ง