ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 26' 17.9999"
16.4383333
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 21' 0"
100.3500000
เลขที่ : 193515
อาคารที่ทำการสถานีรถไฟพิจิตร
เสนอโดย พิจิตร วันที่ 28 มีนาคม 2564
อนุมัติโดย พิจิตร วันที่ 28 มีนาคม 2564
จังหวัด : พิจิตร
0 755
รายละเอียด

สถานีรถไฟพิจิตรตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5ไม่ปรากฏรายชื่อผู้ออกแบบ เปิดทำการเดินรถครั้งแรก วันที่ 24มกราคม พ.ศ. 2450สถานีรถไฟพิจิตร ถือเป็นสถานีสำคัญสำหรับชาวพิจิตรในการติดต่อกับกรุงเทพมหานครเนื่องจากในเวลานั้นการคมนาคมทางถนนยังไม่มีความสะดวกสบาย และด้วยเหตุที่สถานีรถไฟพิจิตรอยู่คนละฝั่งแม่น้ำกับตัวเมืองพิจิตร และยังไม่มีการสร้างสะพานเชื่อมต่อสองฝั่งแม่น้ำเข้าด้วยกันเหมือนเช่นทุกวันนี้ ทำให้การโดยสารรถไฟในช่วงเวลานั้นจำเป็นต้องอาศัยเรือหรือแพข้ามฟากเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าสถานีรถไฟพิจิตรจะเป็นสถานีประจำจังหวัดแต่ก็ไม่ได้มีความสำคัญเด่นชัดมากเท่ากับสถานีรถไฟตะพานหินซึ่งเป็นสถานีประจำอำเภอหนึ่งของจังหวัดพิจิตร เนื่องจากสถานีรถไฟตะพานหินเป็นสถานีเติมน้ำรถจักร และมีถนนเชื่อมต่อกับจังหวัดเพชรบูรณ์ ทำให้ปริมาณผู้โดยสารและการขนส่งสินค้ามีมากกว่า ภายในย่านสถานีรถไฟพิจิตรมีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมหลายหลัง ได้แก่ อาคารสถานีรถไฟ บ้านพักพนักงานการรถไฟ เป็นต้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2553การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ต่อเติมอาคารชั้นเดียวหลังคาจั่วแยกตัวออกจากอาคารสองชั้นด้านช่องจำหน่ายตั๋ว ส่วนที่ต่อเติมนี้ใช้เป็นโถงพักคอย และห้องสินค้า

รูปแบบลักษณะทางสถาปัตยกรรม

ผังอาคาร สถานีรถไฟพิจิตรเป็นอาคารคอนกรีตสูง ๒ ชั้น ผังสถานีเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผังอาคาร ชั้นล่างแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ด้านหน้าแบ่งเป็นห้องทำงานนายสถานี ห้องผู้ช่วยนายสถานี และห้องจำหน่ายตั๋ว ส่วนหลังแบ่งเป็น โถงโล่ง บันไดและห้องน้ำ ผังอาคารชั้นบนแบ่งเป็นโถงบันได และแบ่งเป็นห้องทั้งหมด 4ห้อง ห้องใหญ่จำนวน ๒ ห้องขนาด ห้องเล็กจำนวน 2ห้อง โดยพื้นที่ชั้นบนเป็นห้องว่างไม่มีการใช้งาน ผังชั้นล่างนี้มีการต่อเติมด้านหน้าเป็นห้องควบคุมอาณัติสัญญาณประแจ และต่อเติมด้านข้างเป็นโถงพักคอย และห้องเก็บของ สวนต่อเติมนี้ออกแบบโดยหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ ออกแบบไว้เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งแบบต่อเติมนี้สร้างต่อเติมจากอาคารเดิมทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือปัจจุบันใช้เป็นห้องเก็บของ

รูปแบบอาคารได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยใช้หลังคาทรงจั่ว วางจั่วตามแนวขนานกับรางรถไฟ หน้าจั่วปิดทึบไม่มีไขราหน้าจั่วและชายคาเสมออาคารซึ่งทำให้อาคารไม่สามารถกันแดดฝนได้อย่างเต็มที่ และมีการใช้ลวดบัวประดับตกแต่งบริเวณเสาและแนวรอยต่อผนังชั้นบนรอบอาคาร

รูปด้านหน้า ผนังอาคารทั้งหมดก่ออิฐฉาบปูนทาสีผนังด้านหน้าแบ่งเป็น ๒ ช่วงเสา ชั้นล่างช่วงเสาแรกมีหน้าต่าง เหนือบานหน้าต่างเป็นช่องลมบานเกล็ดอยู่ในกรอบโค้งครึ่งวงกลม ๑ บาน ถัดมาเป็นประตู เหนือบานประตูเป็นช่องลมบานเกล็ดไม้อยู่ในกรอบโค้งครึ่งวงกลม ๑ บาน ประตูและหน้าต่างนี้เหมือนกันทั้งสองช่วงเสา ชั้นบนมีหน้าต่าง เหนือบานหน้าต่างเป็นช่องลมบานเกล็ดไม้อยู่ในกรอบโค้งครึ่งวงกลม ๑ บาน บริเวณกลางผนังเหมือนกันทั้งสองช่วงเสา ผนังอาคารมีการเดินเส้นลวดบัวปูนบริเวณเหนือวงกบประตู หน้าต่างลักษณะเป็นเส้นโค้งไปตามแนววงกบประตูและหน้าต่างรวมไปถึงบริเวณเสาและบริเวณชายคาโดยรอบอาคาร หลังคามุงกระเบื้องลอนคู่

รูปด้านข้าง (ทิศตะวันออกเฉียงใต้) ผนังด้านข้างนี้เป็นด้านจั่วซึ่งผนังทั้งหมดก่ออิฐฉาบปูนทาสีแบ่งเป็น ๓ ส่วน แบ่งเป็นผนังชั้นล่างและชั้นบนมีลวดบัวปูนเดินเส้นตามแนวนอนกั้นระหว่างรอยต่อผนังชั้นล่างและชั้นบน ผนังทั้งหมดเป็นผนังทึบมีการเจาะช่องหน้าต่างเฉพาะส่วนหน้าเป็นหน้าต่างบานเปิดคู่ เหนือบานหน้าต่างเป็นช่องลมบานเกล็ดไม้อยู่ในกรอบโค้งครึ่งวงกลม ๑ บาน ตำแหน่งและขนาดเดียวกันทั้งชั้นล่างและชั้นบน ผนังส่วนหน้าบันจั่วก่ออิฐฉาบปูนเช่นกันมีหน้าต่างบานเปิดขนาดเล็ก ๓ บานเรียงกันบริเวณกลางหน้าบันจั่วมีการตกแต่งด้วยขอบปูนเป็นแนวจั่วทั้งสองข้าง บริเวณสันหลังคาไม่มีไขราหน้าจั่ว หน้าบันจั่วและผนังเป็นระนาบเดียวกัน

รูปด้านข้าง (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) ผนังด้านนี้เป็นส่วนที่ต่อเติมเพิ่มจากอาคารเดิม ส่วนต่อเดิมออกแบบในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ ซึ่งในแบบต่อเติมนี้ระบุว่าผนังอาคารเดิมชั้นบนมีหน้าต่างบานเปิดคู่ เหนือบานหน้าต่างเป็นช่องลมบานเกล็ดอยู่ในกรอบโค้งครึ่งวงกลม จำนวนทั้งหมด ๓ บาน ซึ่งหน้าต่างบานตรงกลางกำหนดให้เอาออกและก่อปูนปิดทับเพื่อทำเป็นผนังทึบสำหรับรองรับแนวสันหลังคาจั่วของอาคารที่ต่อเติมขึ้น

รูปด้านหลัง ผนังด้านหลังชั้นล่างมีรูปแบบและตำแหน่งของประตูหน้าต่างเช่นเดียวกันผนังชั้นล่างด้านหน้า ผนังชั้นบนมีหน้าต่างบานเปิดคู่ ๒ บานติดกัน เหนือหน้าต่างทั้ง ๒ บานเป็นช่องลมบานเกล็ดอยู่ในกรอบคานโค้ง ด้านล่างหน้าต่างมีลูกกรงระเบียงปูนซึ่งถูกครอบด้วยกระจกด้านนอกเพื่อกันฝนสาดเข้าสู่ตัวอาคาร โดยหน้าต่างมีลักษณะเดียวกันนี้ ๔ ชุดช่วงเสาละ ๒ ชุด เหนือชุดหน้าต่างมีการตกแต่งด้วยลวดบัวปูนโค้งรับกับวงกบหน้าต่าง ผนังอาคารมีการเดินเส้นลวดบัวปูนบริเวณเหนือวงกบประตูหน้าต่างลักษณะเป็นเส้นโค้งไปตามแนววงกบประตูและหน้าต่างรวมไปถึงบริเวณเสาและบริเวณชายคาโดยรอบอาคาร หลังคามุงกระเบื้องลอนคู่

ผนังชั้นล่างของตัวอาคารสถานี ช่วงเสาด้านหน้าเป็นช่องจำหน่ายตั๋ว ๓ ช่อง ลักษณะเป็นกรอบวงกบไม้บานกระจกใสเจาะช่องด้านล่างสำหรับจำหน่ายตั๋ว เหนือกรอบกระจกเป็นช่องลมบานเกล็ดอยู่ในกรอบโค้งครึ่งวงกลม และทำลวดบัวปูนเหนือช่องบานเกล็ดรับกับส่วนโค้งของช่องจำหน่ายตั๋ว ช่วงเสาสวนหลังมีหน้าต่างบานเปิดคู่ เหนือบานหน้าต่างเป็นช่องลมบานเกล็ดไม้อยู่ในกรอบโค้งครึ่งวงกลม 1บาน มีการทำลวดบัวปูนที่เหนือหน้าต่างเช่นกันทั้งอาคาร

องค์ประกอบของโครงสร้างและวัสดุ

หลังคาเป็นทรงจั่วมุงกระเบื้องลอนคู่ หันหน้าจั่วไปตามแนวขนานกับรางรถไฟ หลังคาไม่มีชายคายื่น แนวขอบชายคาชิดขอบผนัง บริเวณหน้าจั่วก่ออิฐฉาบปูนไม่มีไขราหน้าจั่วมีช่องหน้าต่างขนาดเล็ก ๓ ช่อง เรียงติดกันบริเวณกลางจั่วลักษณะและขนาดเดียวกันทั้งสองด้าน หน้าจั่วและขายคาทำเป็นขอบปูนหนายื่นออกมาปิดแนวกระเบื้อง เสาอาคารเป็นเสาคอนกรีต ผนังภายนอกชั้นล่างและขั้นบนก่ออิฐฉาบปูน ส่วนผนังภายในชั้นบนบริเวณที่กั้นเป็นห้องใช้ผนังไม้ตีชิดตามแนวตั้งมีเคร่าไม้อยู่ด้านใน

ในส่วนของพื้นอาคารสถานีรถไฟพิจิตรใช้โครงสร้างคอนรีตผสมกับพื้นไม้ โดยพื้นอาคารชั้นล่างเป็นพื้นคอนกรีตปูกระเบื้อง พื้นชั้นบนเป็นพื้นไม้ตีชิด พื้นบริเวณส่วนต่อเติมเป็นพื้นคอนกรีตปูกระเบื้อง ชานชาลาปูพื้นหินขัด บันไดทางขึ้นชั้นบนอยู่ทางด้านหลังของอาคารเป็นบันไดพับกลับไม้

องค์ประกอบและการตกแต่ง

สถานีรถไฟพิจิตรเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค (Neoclassicism) ที่ลดทอนรายละเอียดของการตกแต่งให้เรียบง่ายขึ้น โดยมีการตกแต่งรอบอาคารด้วยลวดบัวปูนบริเวณเหนือกรอบวงกบประตู บริเวณแนวเสาและแนวรอยต่อพื้นชั้นสอง รวมไปถึงบริเวณหน้าจั่วก็มีการประดับด้วยขอบปูนที่ก่อเพิ่มให้หนาขึ้นเป็นแนวจั่วด้วย

ประตูสถานีเป็นประตูลูกฟักไม้บานเปิดคู่ เหนือบานประตูเป็นช่องลมบานเกล็ดอยู่ในกรอบโค้งครึ่งวงกลม ซึ่งประตูด้านหน้ามีการใส่ประตูกระจกบานเปิดกรอบอลูมิเนียมเพิ่มเข้าไปด้วย ประตูชั้นบนห้องใหญ่เป็นประตูลูกฟักไม้บานเปิดคู่กว้าง ส่วนห้องเล็กเป็นประตูลูกฟักไม้บานเปิดเดี่ยว เหนือบานประตูเป็นช่องลม ไม้ระแนงตีกากบาทอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ประตูชั้นบนห้องเล็กที่เป็นโถงระเบียงเป็นประตูลูกฟักไม้บานเปิดเดี่ยว เหนือบานประตูเป็นช่องลมบานเกล็ดอยู่ในกรอบโค้งครึ่งวงกลม

หน้าต่างชั้นล่าง ด้านหน้าและด้านข้างเป็นหน้าต่างสองชั้น ด้านนอกเป็นหน้าต่างลูกฟักตีเกล็ดไม้บานเปิดคู่ เหนือบานหน้าต่างเป็นช่องลมไม้ตีเกล็ดอยู่ในกรอบโค้งครึ่งวงกลม ด้านในเป็นหน้าต่างบานเลื่อนกระจกกรอบอลูมิเนียม บริเวณช่องลมใสกระจกในกรอบโค้งครึ่งวงกลม หน้าต่างด้านหลังเป็นหน้าต่างไม้ลูกฟักกระจกบานเปิดคู่ ๒ บานติดกัน เหนือหน้าต่างทั้งสองบานเป็นช่องลมไม้ตีเกล็ดอยู่ในกรอบคานโค้ง ส่วนหน้าต่างชั้นบนด้านหน้าเป็นหน้าต่างสองชั้น ด้านนอกเป็นหน้าต่างลูกฟักตีเกล็ดไม้บานเปิดคู่ เหนือบานหน้าต่างเป็นช่องลมไม้ตีเกล็ดอยู่ในกรอบโค้งครึ่งวงกลม ด้านในเป็นหน้าต่างลูกฟักไม้ทึบบานเปิดคู่

เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

วันพฤหัสบดีที่ 27กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2501พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระอิสริยยศในขณะนั้น) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระอิสริยยศในขณะนั้น) พร้อมด้วยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตน ราชกัญญาสิริโสภาพรรณวดีพระอิสริยยศในขณะนั้น) และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้ประทับรถไฟพระที่นั่งผ่านจังหวัดพิจิตร เมื่อรถไฟพระที่นั่งหยุดที่สถานีพิจิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พสกนิกรชาวพิจิตร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ณ สถานีรถไฟพิจิตร โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร (นายเยียน โพธิสุวรรณ) และประชาชนทุกหมู่เหล่า เฝ้ารับเสด็จ ในขณะเสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟไปเยี่ยมราษฎรภาคเหนือ ระหว่างวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ถึง วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๗๑

คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรมสถานีรถไฟพิจิตร เป็นสถานีรถไฟที่มีที่ทำการสถานีแตกต่างไปจากสถานีอื่น เนื่องจากอาคารถูกสร้างในยุคสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค (Neoclassicism)ที่ลดทอนรายละเอียดของการตกแต่งให้เรียบง่ายขึ้น ทั้งนี้ ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวจึงสามารถบ่งบอกถึงการรับเอาอิทธิพลจากตะวันตก เข้ามาประยุกต์ให้สอดคล้องกับรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของไทยที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ อีกทั้งตัวอาคารที่สร้างมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ทำให้มีอายุมากถึง ๑๑๔ ปี ในปัจจุบันอาคารสถานีรถไฟพิจิตร อยู่ในขั้นตอนการพิจารณารอขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน อีกทั้งอาคารที่ทำการสถานีรถไฟที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมนี้ มีเพียง ๒ แห่ง ในประเทศไทย คือสถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ และสถานีรถไฟพิจิตร ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง

การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม (ถ้ามี)สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

สถานะการคงอยู่ขององค์ความรู้ :ยังคงใช้เป็นอาคารที่ทำการสถานีรถไฟพิจิตร

ข้อเสนอแนะ

ปัจจุบันอาคารที่ทำการสถานีรถไฟพิจิตร ได้เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา ด้วยมีอายุมากถึง ๑๑๔ ปี สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการบูรณะ และรับการดูแลอย่างถูกวิธี เพื่อเป็นการรักษาตัวอาคารที่ทำการสถานีรถไฟพิจิตร ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค (Neoclassicism)ให้คงอยู่ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนรุ่นหลัง ต่อไป

สถานที่ตั้ง
สถานีรถไฟพิจิตร การรถไฟแห่งประเทศไทย
ซอย - ถนน -
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองพิจิตร จังหวัด พิจิตร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สถานีรถไฟพิจิตร การรถไฟแห่งประเทศไทย
บุคคลอ้างอิง นายสมบัติ ไชโย (นายสถานี)
ชื่อที่ทำงาน สถานีรถไฟพิจิตร การรถไฟแห่งประเทศไทย
ซอย - ถนน -
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองพิจิตร จังหวัด พิจิตร รหัสไปรษณีย์ 66000
โทรศัพท์ 086 938 0983
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่