ขนมควายลุย บ้านห้วยห้าง ตำบลหนองหลุม อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2475 ได้มีชาวไททรงดำกลุ่มหนึ่งอพยพมาจาก จังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี เพื่อหาที่อยู่อาศัยและทำมาหากิน ในระหว่างเดินทางนั้นผู้อพยพได้มาพักค้างแรมบริเวณริมหนองน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งรอบ ๆ หนองน้ำนั้น ก็จะมีหนองน้ำเล็กใหญ่ กระจายอยู่ทั่วไป ชาวบ้านจะเรียกว่า “ห้วยน้ำ” และ “หนองน้ำ” ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีป่าไม้ และสัตว์ป่า นานาชนิดอาศัยอยู่ เหล่าต้นไม้สูง ๆ ที่อยู่ติดขอบหนองน้ำต่าง ๆ นั้นจะมี “ห้าง” (เพิงซึ่งทำไว้บนต้นไม้สูงใหญ่ในป่า สำหรับคอยเฝ้าดู หรือดักยิงสัตว์ ส่วนในภาษาไทยดำ หมายถึง กระท่อมหรือเพิงพักเล็ก ๆ ที่ทำไว้เฝ้านาเฝ้าสวน หรือเป็นที่พักชั่วคราว) ที่ถูกสร้างไว้บนต้นไม้ใหญ่ที่อยู่รอบ ๆ หนองน้ำ สร้างไว้สำหรับใช้เป็นที่พักและที่หลบซ่อนตัวเพื่อล่าสัตว์ป่า ที่ออกมาดื่มน้ำและหาอาหารในเวลากลางคืน ด้วยเพราะมีลำห้วยและมีห้างล่าสัตว์จำนวนมากนั้นเอง ชาวบ้านที่มาพบ จึงเรียกกันติดปากว่า “ห้วยห้าง” จนกระทั้งมีผู้อพยพมาอาศัยอยู่มากขึ้น จึงรวมตัวกันก่อตั้งเป็นหมู่บ้าน โดยเอาชื่อที่เรียกบริเวณนี้ว่า “ห้วยห้าง” เป็นชื่อหมู่บ้าน แต่เดิมอยู่ในเขตการปกครองของ ตำบลหาดกรวด อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก แต่ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2496 จึงเปลี่ยนเขตการปกครองมาอยู่อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ต่อมาได้มีการแยกการปกครอง อยู่ในอำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน และด้วยมีอัธยาศัยไมตรี อยู่กันแบบพี่แบบน้อง ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว จะมีการลงแขกเกี่ยวข้าว เจ้าบ้านจะนำ “ขนมควายลุย” มารับประทานร่วมกับอาหารคาวหวาน
“ขนมควายลุย”เป็นขนมโบราณพื้นถิ่นไทยของ “ชาวไททรงดำ” ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศไทย แถบภาคอีสานตอนล่าง และภาคกลางทั้งตอนบน และภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งที่บ้านห้วยห้าง หมู่ที่ 8 ตำบลหนองหลุม อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตรด้วยเช่นกัน ประวัติความเป็นมาของ “ขนมควายลุย” ในสมัยโบราณมีการลงแขกเกี่ยวข้าวของชาวบ้าน เจ้าบ้านไม่มีอะไรเลี้ยงแขก พอดีมี ข้าวเหนียว ถั่วเขียว และเผือก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายและมีจำนวนมากในท้องถิ่น จึงนำเอาวัตถุดิบเหล่านี้มาทำเป็นขนมควายลุย เดิมไม่รู้จะตั้งชื่อขนมว่าอะไรดี แต่ด้วยหน้าตาขนมที่มีลักษณะเละเหมือนโคลนตมในปลักควาย และคล้าย ๆ โคลนที่ถูกควายเดินลุย เหยียบย่ำไปตามคันนาจึงเรียกขนมนี้ว่า “ขนมควายลุย” เป็นอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นของชาวไททรงดำ บ้านห้วยห้าง อำเภอหนองหลุม จังหวัดพิจิตร
สำหรับ “ขนมควายลุย” ของชาวไททรงดำ บ้านห้วยห้าง หมู่ที่ 8 ตำบลหนองหลุม อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตรนั้น จะทำเฉพาะช่วงเทศกาลงานบุญ งานมงคลต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานบวช เป็นต้น โดยเฉพาะในพิธี “งานแต่งงาน” ขนมควายลุย จะเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้เป็นขนมในขบวน แห่ขันหมาก ตามประเพณีความเชื่อเรื่อง “การไหว้ผีบรรพบุรุษ” และถือเคล็ดว่าจะต้องทำขนมควายลุย อย่างพิถีพิถัน พยายามทำให้หน้าขนมเนียน ไม่ให้หน้าขนมแตกหรือแยกจากกัน ตามกุศโลบายความเชื่อที่ว่า คู่บ่าวสาวจะอยู่ร่วมกันเป็นกิ่งทองใบหยก ครอบครัว ไม่แตกแยก ในขบวนแห่ขันหมาก จะทำคู่กับขนม “ข้าวเหนียวแดง” ใส่ถาดและถือเคล็ดว่า จะต้องทำเป็นคู่เท่นนั้น เช่น ขนมควายลุย 2 ถาด คู่กับ ข้าวเหนียวแดง 2 ถาด หรือ ขนมควายลุย 4 ถาด คู่กับ ข้าวเหนียวแดง 4 ถาด เป็นต้น
ส่วนประกอบในขบวนแห่ขันหมาก ของชาวไททรงดำ บ้านห้วยห้างหมู่ที่ 8 ตำบลหนองหลุม อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร
1. หมากพลู 2 ชุด
2. เหล้าขาวขวดใหญ่ 2 ขวด
3. ห่อหมากห่อพลู 2 ชุด
4. ขนมควายลุย 4 ถาด
5. ข้าวเหนียวแดง 4 ถา
6. กล้วยน้ำหว้า หรือ หน่อกล้วยน้ำว้า 1 คู่
7. อ้อย 1 คู่
8. ขนมปังปี๊บ 2 ปีป
*หมายเหตุ ขนมปังปีป เริ่มใช่ในขบวนแห่ขันหมาก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา
วัตถุประสงค์ของการทำ “ขนมควายลุย” บ้านห้วยห้าง
๑) เพื่อใช้ในงานเทศกาล งานประเพณี งานบุญ งานมงคลต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานบวช เป็นต้น โดยเฉพาะในพิธี “งานแต่งงาน” ตามความเชื่อด้านพิธีกรรม “การไหว้ผีบรรพบุรุษ”
๒) เพื่อเป็นการส่งเสริม อนุรักษ์ สืบทอด ไม่ให้สูญหาย
๓) เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี ความรักใคร่กลมเกลียว ของคนในชุมชน รวมทั้งการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ภายในชุมชนเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน
วัสดุ/อุปกรณ์/ส่วนผสม
วัสดุ/อุปกรณ์
1. กระทะ หรือ หม้อ
2. ตะหลิว
3. ไม้พาย
4. เตาถ่าน หรือ เตาแก๊ส
5. ถ่านหุงต้ม
6. กระบวย
7. ที่ถีบถ่าน
8. ไฟแช็ค
9. กระต่ายขูดมะพร้าว
10. ถาด
11. กะละมัง
12. เครื่องโม่
13. ผ้าขาวบาง
14. มีด
ส่วนผสม
1. แป้งข้าวจ้า 1 – 2 กิโลกรัม
2. กะทิสด 3 กิโลกรัม
3. น้ำตาล 2 – 3 กิโลกรัม
4. ใบเตย 1 กำ
5. เกลือ 1 ช้อนช้อน
6. น้ำสะอาด 1 – 2 ลิตร
กระบวนการ/ขั้นตอน (ทำอย่างไร)
1. ทำน้ำกะทิสด นำเนื้อมะพร้าวที่ขูดไว้แล้ว ใส่ในกะละมัง เติมน้ำสะอาดพอประมาณ (ประมาณ 1 ถ้วย) ทำการนวดหรือคั้นด้วยมือ นาน 15-20 นาที จนได้น้ำกะทิ แล้วทำการกรองแยกน้ำ และกาก ด้วยกระชอนกับผ้าขาวบาง จะได้น้ำกะทิส่วนแรก แล้วนำกากมะพร้าวจากส่วนแรก ผสมกับน้ำสะอาด ประมาณครึ่งถ้วย แล้วนวดหรือคั้นด้วยมือ อีก 1 รอบ ก่อนแยกน้ำกับกากออก จะได้น้ำกะทิส่วนที่ 2 นำน้ำกะทิส่วนแรกผสม กับน้ำกะทิส่วนที่ 2 เป็นอันได้น้ำกะทิสด (หากต้องการความเข้มข้นของน้ำกะทิ ให้นำเข้าอุ่นไฟจนเหลือน้ำกะทิประมาณ 1 ถ้วย)
2. การทำแป้งข้าวเจ้าแบบโบราณ ขั้นตอนแรก นำข้าวเจ้า มาแช่น้ำประมาณ 1 คืน พอได้ที่แล้ว รินทำออก นำมาใส่เครื่องโม่ แล้วโม่จนละเอียดกลายเป็นแป้ง ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง นำแป้งที่โม่เสร็จแล้วมาผสมกับน้ำสะอาดกรองด้วยผ้าขาวบาง เพื่อกรองเศษข้าวที่โม่ไม่ละเอียดทิ้ง (ในปัจจุบันสามารถใช้ แป้งสำเร็จรูปแทนได้)
3. นำแป้งข้าวเจ้าที่ทำเสร็จแล้ว น้ำตาลทราย น้ำใบเตย (วิธีการทำน้ำใบเตย นำใบเตย 1 กำ หั่นเป็นฝอย ๆ ตำหรือบดในครกให้ละเอียด เติมน้ำสะอาดเล็กน้อย นำไปต้มและกรองด้วยผ้าขาวบาง ปัจจุบันสามารใช้เครื่องปั่นอเนกประสงค์แทนครกได้ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว แต่จะได้กลิ่นที่หอมน้อยกว่าการตำจากครก) ใส่ลงในกะละมังน้ำกะทิที่เตรียมไว้ คนให้ส่วนผสมเข้ากัน จากนั้นเทลงในกระทะ หรือหม้อ ที่เตรียมไว้ โดยใช้ผ้าขาวบางกรองเพื่อเอาเศษแป้ง เศษน้ำตาล เศษเกลือ ที่ไม่ละลายทิ้งไป
4. ก่อไฟในเตาถ่าน (ปัจจุบันสามารถใช้เตาแก๊สแทนได้ แต่เตาถ่านจะทำให้รสชาติและกลิ่นของ ขนมดีกว่า) เมื่อไฟติดแล้ว นำกระทะ หรือหม้อ ที่เตรียมส่วนผสมไว้แล้วไปตั้งบนเตา ใช้ความร้อนปานกลาง กวนจนเหนียว โดยไม้พาย ขั้นตอนนี้ใช้เวลาพอสมควร ระยะเวลาการกวนประมาณ 5 – 6 ชั่วโมง
5. ในระหว่างกวนขนมควายลุย สามารถชิมรสชาติของขนมได้ ถ้ารสชาติยังไม่พอดี ก็สามารถเติม น้ำตาลทราย หรือเกลือ ได้แล้วกวนให้เข้ากัน
6. วิธีการดูขนมควายลุยว่าได้ที่หรือยัง ให้ตักขนมจากกระทะ ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ใส่ลงบนจาน แล้วรอให้หายร้อน ถ้าขนมกวนได้ที่แล้ว จะสามารถลอกออกจากจานได้โดยไม่เหนียวติดจาน
7. เมื่อได้ที่แล้ว เทขนมควายลุยลงบนถาด เกลี่ยให้เท่า ๆ กัน หรือเสมอกัน รอจนหายร้อน แล้วจึงใช้มีดตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด หรือรูปทรงอื่น ๆ ตามต้องการ
ระยะเวลาในการทำ
ตั้งแต่ขั้นตอน การเตรียมวัสดุ/อุปกรณ์/ส่วนผสม และขั้นตอนการทำ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 วัน (เริ่ม 08.00 น. แล้วเสร็จประมาณ 16.00 น.)
การจัดเก็บรักษา
- กรณีไม่ใส่ตู้เย็น สามารถเก็บรักษาได้ 2 วัน (เนื่องจากไม่ได้ใส่สารกันบูด
- กรณีใส่ตู้เย็น สามารถเก็บรักษาได้ 1 สัปดาห์ แต่ความอร่อยของขนมจะลดลง
วิธีการเดินทางไปสู่หมู่บ้านห้วยห้าง
จากทางหลวงหมายเลข 117 (AH13) มุ่งหน้าสู่จังหวัดพิษณุโลก ผ่านแยกปลวกสูง อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร จากแยกปลวกสูงมุ่งหน้าสู่จังหวัดพิษณุโลก ประมาณ 7.2 กิโลเมตร กลับรถ แล้วขับตรงไปอีกประมาณ 1.3 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ ถนนหลวงชนบท หมายเลข พจ.3027 ขับตรงไปอีกประมาณ 2.5 กิโลเมตร ถึงกลุ่มแม่บ้านสตรีเกษตรกร บ้านห้วยห้าง หมู่ 8 ตำบลหนองหลุม อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร
คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม
ขนมควายลุย นับว่าเป็นขนมไทยโบราณท้องถิ่นของชาวไททรงดำ บ้านห้วยห้าง ตำบลหนองหลุมอำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรม และประเพณีประจำท้องถิ่น นิยมทำกันเฉพาะเทศกาล และประเพณีที่สำคัญ ๆ เช่น การแต่งงาน การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานบวช ฯลฯอีกทั้งยังเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความพิถีพิถัน ความละเอียดอ่อน ความประณีต ในการทำ ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบ วิธีการทำที่ต้องใช้เวลา และความอดทน เพื่อให้ได้รสชาติอร่อย สีสันความสวยงาม กลิ่นหอม รูปลักษณะชวนรับประทาน ตลอดวิธีการรับประทาน ขนมไทยโบราณแต่ละชนิด ยังมีความแตกต่างกันของแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย
บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม
ปัจจุบัน คุณละอองดาว ตรีอินทอง ประธานกลุ่มแม่บ้านสตรีเกษตรกร บ้านห้วยห้าง ตำบลหนองหลุม อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร และคณกรรมการกลุ่มแม่บ้านสตรีเกษตรกร มีบทบาทสำคัญที่พยายามสืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น ขนมควายลุย โดยยังคงอนุรักษ์ วิธีการทำขนมควายลุย ไม่ให้สูญหาย โดยเฉพาะ ในงานเทศกาล และประเพณีต่าง ๆ ของหมู่บ้าน เช่น การแต่งงาน การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ ที่จะต้องทำขนมควายลุยในเทศกาลเหล่านี้ อีกทั้ง ยังได้รับความร่วมมือจากกลุ่มสตรี ปราชญ์ชาวบ้าน บ้านห้วยห้าง เป็นอย่างดี รวมทั้งยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้นี้แก่รุ่นลูกหลานอีกด้วย
การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม (ถ้ามี)
ปัจจุบัน การทำขนมควายลุย จะทำเฉพาะในงานเทศกาล และประเพณีต่าง ๆ ของหมู่บ้าน เช่น การแต่งงาน การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ เท่านั้น มิได้ทำขึ้นเพื่อการค้า หรือแสวงผลกำไรแต่อย่างใด จึงยังไม่มีการส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม
สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม
ขนมควายลุย ของบ้านห้วยห้าง ในปัจจุบันแม้จะทำขึ้นเฉพาะช่วงเทศกาล งานมงคลต่าง ๆเช่น การแต่งงาน การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ แต่ก็ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ขั้นตอนการทำ และเทคนิคต่าง ๆ จากรุ่นสู่รุ่น และหลาย ๆ ครัวเรือนก็สามารทำขนมควายลุยนี้ได้ ส่วนปัจจัยคุกคาม คือ วัตถุดิบ ส่วนผสม บ้างชนิด มีราคาสูง และหายากตามยุคสมัย
ข้อเสนอแนะ
ขนมควายลุย ของบ้านห้วยห้าง แม้จะไม่ได้ทำขายในรูปแบบเชิงพาณิชย์ แต่ก็สมควรที่จะได้รับการอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด ให้คงอยู่ไว้ตลอดไป