ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 26' 55.1314"
16.4486476
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 18' 56.5135"
100.3156982
เลขที่ : 193525
เพลงแห่นาค
เสนอโดย พิจิตร วันที่ 30 มีนาคม 2564
อนุมัติโดย พิจิตร วันที่ 31 มีนาคม 2564
จังหวัด : พิจิตร
1 2913
รายละเอียด

เพลงแห่นาค

ประวัติความเป็นมา

“เพลงแห่นาค”ในพื้นที่อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร เป็นเพลงพื้นบ้านปรากฏพบอยู่ในพื้นที่ชุมชนบ้านเมืองเก่า บ้านโรงช้าง บ้านคลองคะเชนทร์ อำเภอเมืองพิจิตร เป็นการร้องประกอบของชาวบ้าน ในจารีตประเพณีการบวชนาค ที่ผู้ชายทุกคนเมื่ออายุครบแล้วจะต้องบวช การบวชถือว่าเป็นการอบรมบ่มนิสัยให้ดีมีศีลธรรม และเป็นการตอบแทนบุญคุณของบิดามารดาผู้ให้กำเนิด เพลงแห่นาคจึงเป็นส่วนหนึ่งในพิธี ที่จะขับร้องเรื่องราวสอนให้ลูกหลานได้ตระหนักถึงคุณธรรม และความกตัญญู แต่เนื่องด้วยปัจจุบันสังคมวัฒนธรรมเปลี่ยนไป การร้องเพลงแห่นาคได้รับความนิยมลดน้อยลงและถูกการละเล่นด้วยดนตรีลูกทุ่ง เครื่องเสียงดนตรีสมัยใหม่เข้ามากลบเสียงการร้องของชาวบ้านกระทั่งลดความสำคัญและบทบาทไป

“เพลงแห่นาค” เป็นเพลงพื้นบ้าน ที่ร้องด้วยสำเนียงเหน่อ ๆ เป็นธรรมชาติตามพื้นเพของท้องถิ่นที่มีการสืบทอดมาอย่างยาวนานจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ที่ถ่ายทอดกันแบบง่าย ๆ โดยดำเนินการแบบ “ทำให้ดู ร้องให้ฟัง และจำกันมาร้อง” โดยเนื้อเพลงจะคิดขึ้นกันใหม่เพิ่มเติมได้ตามสถานที่และสถานการณ์ต่าง ๆ รูปแบบลักษณะของเนื้อเพลงเป็นการร้องกล่อมนาคตอนแห่นาคออกจากบ้านไปวัด และตอนแห่เวียน รอบอุโบสถ นอกจากร้องเพื่อความสนุกสนานครื้นเครง เนื้อหาของบทเพลงยังเป็นการอบรมสั่งสอนนาค ก่อนเข้าบรรพชาอุปสมบท ขอความเป็นสิริมงคลจากเทวดา และบางตอนก็ร้องล้อเลียนนาคเกี่ยวกับหญิงคนรักด้วย

วัตถุประสงค

๑) เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน เพลงแห่นาค ให้คงอยู่สืบไป

๒) เพื่อใช้เป็นข้อมูลองค์ความรู้ สำหรับประเพณีแห่นาคของจังหวัดพิจิตร

๓) เพื่อให้นาคได้รู้ถึงความกตัญญูกตเวที ต่อบิดา มารดาและบุพการี

วัสดุ/อุปกรณ์

การร้องเพลงแห่นาค ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ เป็นการร้องสด

กระบวนการ/ขั้นตอน (ทำอย่างไร)

การร้องเพลงแห่นาค ผู้ร้องจะมาร้องเพลงที่งานอุปสมบทของเจ้าภาพด้วยตนเอง โดยไม่ต้องว่าจ้าง ถือกันว่าเป็นงานบุญ เป็นความสามัคคีที่ได้ร่วมแรง ร่วมใจกัน ทำให้พ่อนาคและครอบครัวสุขใจ

๑ ลำดับขั้นตอนการแสดง

(๑) ตั้งขบวนแถวโดยผู้ร้องเพลงแห่นาคใกล้ชิดกับนาคมากที่สุด และผู้ร้องนำจะอยู่แถวแรก ด้านหลังนาค และจับชายผ้านาคไว้ เดินปะปนกับญาติของพ่อนาคไปด้วยกัน จากนั้น ผู้ที่ร้องรับคำกลอน จะเดินตามหลังเป็นกลุ่ม บางครั้งมีการทุบหลังญาติฝ่ายชายหรือนักร้องผู้ชายที่ร่วมขบวนเป็นการแซวกัน อย่างสนุกสนาน

(๒) เมื่อเริ่มตั้งขบวนแห่นาค จะเดินร้องเพลงตั้งแต่ระหว่างบ้านเจ้าภาพ ไปถึงวัดแล้ววนรอบอุโบสถ ๓ รอบ จึงสิ้นสุดการร้อง

(๓) เครื่องดนตรีไม่มี การร้องเพลงแห่นาค ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ เป็นการร้องสด

(๔) ผู้แสดง จะมีแม่เพลง จำนวน ๑ - ๓ คน และลูกคู่ร้องตาม จำนวน ๕ - ๑๐ คน

๒ รูปแบบการจัดการแสดง

- ก่อนการแสดง ชาวบ้านจะนัดมาร่วมกลุ่มภายในงานอุปสมบท ตั้งขบวนโดยธรรมชาติ จะไม่มีพิธีไหว้ครู หรือบอกกล่าว

- รูปแบบการแสดง การแสดงภาคสนามตามสถานการณ์ ไม่มีเวทีการแสดง โดยจะร้องเพลงแห่นาคจากบ้านงานอุปสมบทไปยังอุโบสถของวัด จำนวนผู้แสดง เพศ แม่เพลง หรือพ่อเพลงร้องนำ ๑ – ๓ คน และลูกคู่ร้องรับ ๕ – ๑๐ คน นักร้อง มีทั้งเพศหญิงและเพศชาย เครื่องแต่งกาย ผู้ร้องใส่เครื่องแต่งกายสวยงามแบบพื้นถิ่นของตนเอง ผู้หญิงมักใส่ผ้าถุง ผ้าซิ่น ผู้ชายใส่เสื้อผ้าไทยหรือเสื้อลายดอกเรื่องหรือบทที่ใช้แสดงหรือลำดับขั้นของการแสดง

๓ บทเพลง

เรื่องหรือบทจะแต่งขึ้นเป็นประโยคคำกลอนภาษาสัมผัสอย่างเข้าใจง่าย ฟังง่าย เช่น “บวชเสียเถิดเถอะนะพ่อนาค ขวัญเอย ก็มาตั้งจิตให้ได้ ก็มาตั้งใจให้ตรง วันนี้ต้องบวชเป็นองค์ เอ๋ยแล้วเอย” โดยเนื้อร้องเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการกล่อมนาคหรือสอนนาค ที่กำลังอุปสมบท ให้สำนึกพระคุณพ่อ แม่ ให้เห็นว่า การแสดงความกตัญญูเป็นเรื่องสำคัญ บางตอนร้องล้อเลียนนาคเกี่ยวกับหญิงคนรักอย่างสนุกสนาน

เนื้อเพลง (ตัวอย่าง)

แม่เพลง : บวช เสียเถิด เถอะนะพ่อนาค ขวัญเอย แม่สีกา เนื้อเกลี้ยง เขาไม่ได้เลี้ยงนาคมา

ข้าวเม็ด เกลือก้อน เขาไม่ได้ป้อนนาคมา ให้บวชแทนคุณมารดา เอ๋ยแล้วเอย

ลูกคู่ : ให้บวชแทนคุณมารดา เอ๋ยแล้วเอย ก็แม่สีกา เนื้อเกลี้ยง เขาไม่ได้เลี้ยงนาคมา ๆ

ข้าวเม็ด เกลือก้อน เขาไม่ได้ป้อนนาคมา ให้บวชแทนคุณมารดา

เอ๋ยแล้วเอย ชะล่าว่า ไฮ้ ไฮ้ ไฮ้ ไฮ้ ชะล่า ชะล่า (จบหนึ่งเพลง)

(ที่มา : เพลงแห่นาคบ้านโรงช้าง อำเภอเมืองพิจิตร)

สถานที่ตั้งขององค์ความรู้: (เช่น วัด, กลุ่มอาชีพ เป็นต้น)

กลุ่มบ้านเมืองเก่าพิจิตร กลุ่มบ้านโรงช้าง กลุ่มบ้านคลองคะเชนทร์ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร

คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อองค์ความรู้เรื่องนี้

๑)คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

เพลงแห่นาคของชุมชนบ้านเมืองเก่า บ้านโรงช้าง บ้านคลองคะเชนทร์ อำเภอเมืองพิจิตร เป็นมรดกทางภูมิปัญญา ที่เป็นองค์ความรู้ การประพฤติปฏิบัติหรือทักษะทางวัฒนธรรมที่แสดงออกผ่านบุคคล เครื่องมือ หรือวัตถุ ซึ่งบุคคล กลุ่มบุคคล หรือชุมชนยอมรับและรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และมีการสืบทอดกันมาจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมของชุมชนที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ชุมชน ซึ่งล้วนแต่ทรงคุณค่า และควรค่าแก่การอนุรักษ์ ฟื้นฟูและเผยแพร่ เพื่อให้คนในชุมชน และคนไทยทุกคนได้เรียนรู้และเข้าใจในประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการปลูกฝังให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญขององค์ความรู้ของเพลงแห่นาค อีกทั้งได้ทำนุบำรุงอนุรักษ์และหวงแหนในมรดกวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาอันล้ำค่า ให้ดำรงอยู่สืบไป

๒)บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

ปัจจุบันเพลงแห่นาคไม่มีการบันทึกเรียบเรียงเนื้อเพลงไว้ ยังมีกลุ่มผู้สูงอายุร้องกันอยู่ในโอกาสร่วมทำบุญงานบวชนาค แต่ไม่เป็นที่นิยมทั่วไปแล้ว เนื่องจากไม่ทำให้เกิดการสร้างรายได้ และการจัดงาน ของเจ้าภาพปัจจุบันจะมีวงดนตรีแตรวงเครื่องเสียงเครื่องไฟ และมีนักร้องเพลงลูกทุ่ง ร้องรำกันสนุกสนาน และเสียงดนตรีมีความอึกทึกเร้าใจมากกว่า ทำให้กลบเสียงการร้องเพลงแห่นาคไป จึงได้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟูขึ้น โดยให้มีโอกาสได้ทำการแสดงเผยแพร่ในเวทีต่าง ๆ มากขึ้น การถ่ายทอดหรือการสืบทอดโดยวิธีจำ และเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น จากพ่อ แม่ ปู ย่า ตา ยาย ญาติพี่น้อง แล้วฝึกร้องเริ่มแรกจะเป็นผู้ร้องรับตามกันก่อน ถ้ามีทักษะสามารถแต่งเนื้อร้องคำกลอนได้ ก็จะเป็นผู้ร้องเพลงนำ ไม่มีการสอนอย่างเป็นระบบ เป็นการฝึกโดยมีความสนใจในแต่ละบุคคล

การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม (ถ้ามี)

๑. โครงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น (เพลงแห่นาค) ประจำปี ๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๔ ณ โรงเรียนวัดคลองโนน ตำบลคลองคะเชนทร์ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร

๒. การประชุมสัมมนาภูมิปัญญาพื้นบ้าน “เพลงแห่นาค” จังหวัดพิจิตร เนื่องในวันภาษาไทย

แห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ณ อาคารเรือนไทย วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร

๓. เปิดเวทีเผยแพร่การแสดงเพลงแห่นาคในวันอุปสมบทหมู่ “ก่อนพรรษา” เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ณ วัดท่าหลวง พระอารามหลวง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร

๔. ข้อมูลเพลงแห่นาค บันทึกรวบรวมไว้ในหนังสือรากวัฒนธรรม จัดทำโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร

๕. การบันทึกคลิปวีดีโอ “เพลงแห่นาค” บ้านคลองคะเชนทร์ โดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร https://www.youtube.com/watch?v=BU3NCNb7YZs

สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม

ปัจจุบันกลุ่มผู้แสดงเพลงแห่นาค ลดน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากไม่มีการสืบทอดอย่างเป็นระบบ และแสดงร้องเล่นในโอกาสวาระงานบุญการบวชนาคเท่านั้น ลักษณะการร้องเป็นแบบร้องสด ไม่มีเครื่องดนตรี ซึ่งในอดีตการแห่นาคมีเครื่องดนตรีกลองยาวนำขบวน ปัจจุบันนิยมเครื่องเสียงแตรวงลูกทุ่งมีเสียงที่ดังมาก เป็นเหตุให้การร้องเพลงแห่นาคลดน้อยลงแทบไม่ค่อยได้ยินเสียงการร้อง

ข้อเสนอแนะ

ควรส่งเสริมการสืบทอดและต่อยอดทางมรดกภูมิปัญญา เพลงแห่นาคในพื้นที่โดยสนับสนุนข้อมูล และรณรงค์ให้หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาวัฒนธรรมตำบล สถานศึกษาและศาสนสถานในพื้นที่ได้อนุรักษ์ รักษาแพลงพื้นบ้าน

คำสำคัญ
เพลงแห่นาค
สถานที่ตั้ง
บ้านคลองคะเชนทร์
ตำบล คลองคะเชนทร์ อำเภอ เมืองพิจิตร จังหวัด พิจิตร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
องค์การบริหารส่วนตำบลคลองคะเชนทร์
บุคคลอ้างอิง นายจำนงค์ คชรอด รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองคะเชนทร์ อีเมล์ ooisung@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน องค์การบริหารส่วนตำบลคลองคะเชนทร์
เลขที่ 210 หมู่ที่/หมู่บ้าน 4
ตำบล คลองคะเชนทร์ อำเภอ เมืองพิจิตร จังหวัด พิจิตร รหัสไปรษณีย์ 66000
เว็บไซต์ www.m-culture.go.th/phichit
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่