กลุ่มจักสานไม้ไผ่ บ้านรายชะโด
ประวัติความเป็นมา
กลุ่มจักสานไม้ไผ่ บ้านรายชะโด ตั้งอยู่ที่บ้านรายชะโด หมู่ที่ 6 ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร เป็นพื้นที่ราบลุ่มอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยม และอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสามง่าม เป็นระยะทาง 2.5 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 4,365 ไร่ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2454 โดยแยกจากหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ปัจจุบันบ้านรายชะโด มีประชากรอาศัยอยู่จำนวน 194 ครัวเรือน ประชากร 654 คนประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม การทำนาเป็นอาชีพหลัก อาชีพเสริมคือจักสานไม้ไผ่ และรับจ้างทั่วไปเนื่องจากพื้นที่มีแม่น้ำยมไหลผ่าน ซึ่งบริเวณนี้มีกอไผ่สีสุก ขึ้นอยู่ริมน้ำเป็นจำนวนมาก ทรัพยากรภายในชุมชนที่สำคัญ คือ ไม้ไผ่ มีการดำรงชีพด้วยการปลูกข้าวหาปลามาทำเป็นอาหาร จึงมีความจำเป็น ต้องมีเครื่องมือในการจับปลา จึงได้ใช้ไม้ไผ่ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในหมู่บ้าน จักสานเป็นเครื่องมือในการจับปลา และเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น ไซดักปลา ข้องใส่ปลา ตะกร้า กระจาด กระด้ง ตะแกรง ฯลฯ
กลุ่มจักสานไม้ไผ่ บ้านรายชะโด เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 นำโดยนางพรพรรณ เจนจบ อายุ 64 ปี ประธานกลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านรายชะโด และมีสมาชิก ๒๐ คน ทำจักสานไม้ไผ่กันกลางหมู่บ้าน โดยตั้งเป็นกลุ่มจักสานไม้ไผ่ บ้านรายชะโด สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านประมาณ ๗๐% ทำจักสานไม้ไผ่เป็นกันหมด ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 เริ่มมีคนรู้จักกลุ่มจักสานบ้านรายชะโดเพิ่มมากขึ้น ปี พ.ศ.2545 กศน.อำเภอสามง่ามได้เข้ามาจัดฝึกอบรมให้กับกลุ่มจักสาน และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสามง่ามก็ได้เข้าสนับสนุนในการทำเครื่องจักสาน ได้จัดงบประมาณให้กับกลุ่มจักสานบ้านรายชะโด และมีการจัดตั้งศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในหมู่บ้าน ได้พัฒนาต่อยอดจากเดิมจักสานเครื่องไม้ เครื่องมืออุปกรณ์จับหาปลา และของใช้ ในครัวเรือนได้ลองผิดลองถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ขึ้นมา แล้วมีผู้คนให้ความสนใจ หาซื้อกลับไปเป็นของฝากชุมชนบ้านรายชะโดมีการปลูกไม้ไผ่จำนวนมากมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน โดยไม้ไผ่นั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ชาวบ้านรายชะโดมีความถนัดในเรื่องของการจักสาน
การสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการจักสานไม้ไผ่ บ้านรายชะโด มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านการจักสานให้กับบุตรหลาน โดยมีศูนย์ถ่ายทอดความรู้ ณ ที่ทำการกลุ่มจักสานไม้ไผ่ ผู้ถ่ายทอดสำคัญ ได้แก่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย กลุ่มอาชีพจักสาน และโรงเรียนวัดรายชะโด เนื่องจากวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ และใช้ภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ทำต่อๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านโดยสามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี เช่น เกิดน้ำท่วมทุกปี ชาวบ้านรายชะโดจะมีบ้านเรือนที่มีลักษณะใต้ถุนสูง หลายหลังคาจะมีเรือลำเล็กไว้ใช้ยามฤดูน้ำหลาก ผู้คนมีความเชี่ยวชาญ ในการจับปลาและมีความถนัดในเรื่องของการจักสาน อุปกรณ์เครื่องมือไว้ใช้ในครัวเรือน โดยการนำไม้ไผ่มาจักสาน สิ่งที่ตอกย้ำถึงความโดดเด่นด้านการจักสานไม้ไผ่ของชาวบ้านรายชะโด นั้นคือการไปทำบุญสลากภัตรมะม่วงประจำปี จะพบเห็นชาวบ้านหาบสาแหรกที่จักสานด้วยไม้ไผ่ ลวดลายละเอียด ใส่อาหารคาวหวานมาทำบุญที่วัด นับเป็นภาพที่สวยงาม น่าประทับใจแก่ผู้พบเห็นจนเป็นที่กล่าวขานกันในเขตอำเภอสามง่ามว่าถ้าอยากเรียนรู้การจักสานไม้ไผ่ ต้องไปดูที่รายชะโด ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่บ้านรายชะโด ลักษณะของเครื่องจักสานแต่ละประเภทนั้น เริ่มจากการทำขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือน เป็นของฝาก ของที่ระลึก หรือของชำร่วย ของประชาชนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ ฉะนั้น จึงมีความต้องการด้านประโยชน์ใช้สอย รูปร่าง ลวดลาย และวัสดุที่แตกต่างกันออกไป โดยมีเอกลักษณ์และลวดลายที่ผลิต คือ ลายดอกพิกุล ลายตะเข่ง ลายข้าวหลามตัด ลายหนามทุเรียน ลายชะลอม ลายสองลายสาม ลายไทย ผู้สูงอายุในหมู่บ้านมีการสร้างสมความรู้มาจากดั้งเดิม ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตหลายอย่าง เช่น กระจาดหาบ กระด้ง ตะแกรง เป็นต้น
วัตถุประสงค์
๑) เพื่อเพิ่มรายได้ให้สมาชิก
๒) ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
๓) สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน มีความสามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
วัสดุ/อุปกรณ์
วัตถุดิบที่ใช้ในการจักสาน
ไม้ไผ่ ต้องเป็นไม้ไผ่สีสุก เพราะจะเป็นไม้ที่มีคุณภาพดี ผิวเรียบ มีความเหนียวไม่เปราะง่าย หลังจากจักสานเป็นเส้นแล้วนำไปตากแดดอ่อน ๆ ตอนเช้า ผิวของไม้ไผ่จะสวย เรียบ เหนียว มีความอ่อนตัว สานเป็นผลิตภัณฑ์ได้ง่ายด้วยเทคนิคการสานจากภูมิปัญญานี้ และยังสืบสานความรู้ของการจักสานไว้ เป็นไม้ที่ใช้ทำเครื่องจักสานมากมายหลายชนิด มีลักษณะเป็นไม้ปล้อง เป็นข้อ มีหนาม และแขนงมาก เมื่อแก่จะมีสีเหลือง โดยจะนำส่วนลำต้นมาใช้จักเป็นตอกสำหรับสานเป็นภาชนะต่าง ๆ นำมาทำเครื่องใช้ในครัวเรือน ได้เกือบทุกชนิด เช่น กระด้ง กระจาด ตะกร้า หวาย ที่นำมาผูกเพิ่มลวดลาย เพิ่มคุณค่าของเครื่องจักสาน
เครื่องมือสำหรับใช้ในการจักสาน
๑) มีด ใช้ในการจักสาน ถ้าเป็นมีดที่ใช้ในการตัดไม้จะเป็นมีดขนาดใหญ่ มีสันหนา ๑/๒ - ๑ ซม. ยาวประมาณ 40 ซม. หรือกว่านี้ไม่มากนัก เรียกกันโดยทั่วไปว่า มีดโต้ มีดจักตอก เป็นมีดที่มีใช้ สำหรับจักตอก มีรูทรงเรียวแหลม ขนาดเหมาะมือ คมบาง ชาวบ้านนิยมพกเป็นมีประจำตัวด้วย
๒) เหล็กมาด มีสองชนิด เหล็กมาดปลายแหลม และเหล็กมาดปลายแบน เหล็กมาดปลายแหลมใช้เจาะร้อยหวาย ส่วนปลายแบเจาะร้อยตอก
๓) คีมไม้ ใช้สำหรับคีบของกระเช้า กระจาด ตะกร้า หรือขอบอื่นๆ เพื่อให้แนบสนิทแล้วค้างด้วยหวายถัก ที่ด้ามคีม เพื่อประโยชน์ให้ผู้สานมัดหวายได้แน่นรูร้อยหวาย ทำด้วยเหล็กเจาะเป็นรูตามต้องการ ตั้งแต่เล็กไปจนใหญ่สำหรับหวายร้อยเพื่อลบความคมของหวายและทำให้ทุกต้อนมีขนาดเท่ากันเ
วัสดุที่ใช้ทำเครื่องจักสาน
๑) ไม้ไผ่ เป็นไม้ที่ใช้ทำเครื่องจักสานมากมายหลายชนิด มีลักษณะเป็นไม้ปล้อง เป็นข้อ มีหนาม และแขนงมาก เมื่อแก่จะมีสีเหลือง โดยจะนำส่วนลำต้นมาใช้จักเป็นตอกสำหรับสานเป็นภาชนะต่าง ๆ
๒) หวาย จะขึ้นในป่าเป็นกอๆ ส่วนมากจะใช้ประกอบเครื่องจักสานอื่น ๆ แต่ก็มีการนำหวายมาทำ เครื่องจักสานโดยตรงหลายอย่าง เช่น ตะกร้าหิ้ว ถาดผลไม้ เป็นต้น
กระบวนการผลิต
๑. หาแหล่งซื้อไม้ไผ่ที่แปรรูปแล้วและยังไม่แปรรูป
๒. ควรศึกษาถึงชนิดการใช้งานของไม้ไผ่ชนิดต่างๆ เนื่องจากไม้ไผ่แต่ละชนิดมีคุณลักษณะแตกต่างกัน เช่น
- ไผ่สีสุก มีเนื้อหนา เหนียวทนทาน จึงเหมาะที่จะนำไปทำเครื่องจักสานประเภทเฟอร์นิเจอร์เครื่องมือประมง
- ไผ่นวล มีเนื้ออ่อนค่อนข้างเหนียว เหมาะที่จะนำไปทำเครื่องจักสานชนิดที่ต้องการความละเอียด เนื่องจากสามารถจักตอกให้เป็นเส้นเล็กบางได้
- ไผ่รวกดำ ลำต้นแข็งแรงทนทาน ใช้ทำโครงร่ม โครงพัดสานเข่ง
- ไผ่ข้าวหลาม เป็นไผ่เนื้อค่อนข้างบางใช้ทำกระบอกข้าวหลาม เครื่องจักสาน
- ไผ่เฮี๊ยะ เป็นไม้ไผ่ขนาดกลาง ใช้ทำเครื่องจักสาน โครงสร้างอาคาร
๓. เตรียมไม้ไผ่เพื่อนำมาจักสาน ควรเป็นไผ่ที่มีอายุ 2 – 4 ปี ซึ่งเนื้อไม้จะมีความเหนียวกำลังดี ไม่แก่ หรืออ่อนเกินไป และต้องเลือกดูไม้ที่ไม่มีแมลง แต่อย่างไรก็ดีควรจะผ่านกรรมวิธีป้องกันเชื้อราและมอด เสียก่อน (ไม้ไผ่ที่นิยมนำมาใช้ในการจักสาน ได้แก่ ไผ่เลี้ยง ไผ่สีสุก ไผ่เฮี๊ยะ ไผ่ลำมะกอก ไผ่รวก เป็นต้น) จากนั้นจึงนำไปตัด ซึ่งต้องตัดให้มีความยาวตามขนาดผลิตภัณฑ์ที่จะสาน แล้วนำไปริดข้อ ซึ่งต้องระวังอย่าริดให้ลึกจนเกิดรอยแผลที่ผิวไม้ไผ่ และขั้นตอนสุดท้าย คือ จักเป็นเส้นตอก เหลาให้มีขนาดเท่าๆ กันก่อนจะนำไปสานเป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม
๔. การย้อมและการทาสีไม้ไผ่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เครื่องจักสานดูสวยงาม น่าใช้ ซึ่งก่อนที่จะทำการย้อมสี จะต้องเอาน้ำมันออกจากเนื้อไม้เสียก่อน โดยการต้มไม้ไผ่ในน้ำโซดาไฟ หรือโซเดียมคาร์บอเนต ขนาด ๐.๒% นานประมาณ ๓ - ๔ นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด และอบให้แห้งสนิทจากนั้นนำไม้ไผ่ลงต้มกับสีที่ละลายน้ำแล้ว ประมาณ ๒๐ - ๖๐ นาที อุณหภูมิ ๙๐ องศาเซลเซียสซึ่งขึ้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก ดังนั้น จึงนิยมใช้วิธีทาสีน้ำมันแลคเกอร์หรือน้ำมันวานิชแทน
๕. ติดต่อหาตลาดจำหน่าย ซึ่งโดยปกติจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน หรือบางครั้งจะรับทำตามที่ลูกค้าต้องการ หรืออาจจะนำไปขายเองก็ได้ ปรับปรุงและพัฒนารูปแบบของเครื่องจักสานให้ทันสมัย เป็นที่ถูกตาต้องใจของลูกค้าทุกวัย เพราะบางครั้งลูกค้ามีความเข้าใจว่าเครื่องจักสานเป็นสินค้าที่เหมาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น
ขั้นตอนการทำเครื่องจักสาน
๑) การจัก คือการนำวัสดุมาทำให้เป็นเส้น เป็นแฉก หรือเป็นริ้วเพื่อความสะดวกในการสาน ลักษณะของการจักโดยทั่วไปนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของวัสดุแต่ละชนิดซึ่งจะมีวิธีการเฉพาะที่แตกต่างกันไปหรือบางครั้งการจักไม้ไผ่หรือหวายมักจะเรียกว่า “ตอก” ซึ่งการจักถือได้ว่าเป็นขั้นตอนของการเตรียมวัสดุในการทำเครื่องจักสานขั้นแรก
๒) การสาน เป็นกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่นำวัสดุธรรมชาติมาทำประโยชน์โดยใช้ความคิดและฝีมือมนุษย์เป็นหลัก การสานลวดลายจะสานลายใดนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้สอย ซึ่งมีด้วยกัน 3 วิธี คือ
๒.๑ การสานด้วยวิธีสอดขัด
๒.๒ การสานด้วยวิธีการสอดขัดด้วยเส้นทแยง
๒.๓ การสานด้วยวิธีขดเป็นวง
๓) การถัก เป็นกระบวนการประกอบที่ช่วยให้การทำเครื่องจักสานสมบูรณ์ การถักเครื่องจักสาน เช่น การถักขอบของภาชนะจักสานไม้ไผ่ การถักหูภาชนะ เป็นต้น การถักส่วนมากจะเป็นการเสริม ความแข็งแรงของโครงสร้างภายนอก เช่น ขอบ ขา ปาก ก้น ของเครื่องจักสาน และเป็นการเพิ่มความสวยงามอีกด้วย
เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต
มีการใช้สารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตหรือมีผลต่อร่างกาย เข้ามาช่วยในการเพิ่มความคงทนและแข็งแรงมากยิ่งขึ้น และเพื่อป้องกันแมลงที่จะทำลายผลิตภัณฑ์ให้เสียหายเพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานให้นานและคุ้มค่ามากขึ้น การลงน้ำมันยาง ทาเพื่อกันมอดกันรา ถ้าในสมัยก่อนจะใช้ลมควัน ที่มาขอการลมควันคือ คนสมัยก่อนจะสานแล้วไว้เหนือเตาไฟ ข้างล่างเป็นหุงต้ม ควันในการทำอาหารก็จะลอยขึ้นไป กลายเป็นการลมควัน ทำให้มอด และรา ไม่ขึ้น เป็นภูมิปัญญาในสมัยก่อน แต่ใช้ระยะเวลานาน
ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มจักสาน บ้านรายชะโด “ดอกไม้ไผ่สีสุก”
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
- เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ มีลวดลายและรูปแบบที่สวยงาม
- เป็นงานแฮนด์เมด ด้วยการจักสานไม้ไผ่สีสุก
- เป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาต่อยอดจากภูมิปัญญาที่ดั้งเดิมจากวิถีชีวิต
- งานละเอียด แข็งแรงทนทาน
องค์ประกอบ/ส่วนประกอบ /กระบวนในการผลิต (อธิบาย)
การเตรียมเส้นตอก
๑) เตรียมไม้ไผ่สีสุข ที่ไม่อ่อนไป ไม่แก่ไป ซึ่งจะมีความขาวของเนื้อไม้ และความหนาแน่นกำลังดี
๒) นำไม้ไผ่มาผ่าเป็นซีกเล็ก ๆ ผ่าเป็นแผ่นบางเพื่อใช้สานเหลาไม้ไผ่ให้ได้ตามขนาดที่ต้องการจะผลิต ได้แก่ ความใหญ่-เล็ก หนา-บาง เรียกว่า เส้นตอก (รูปที่ 1)
๓) นำตอกมาย้อมสีผสมอาหาร เป็นสีแดง สีเขียว หรือสีอื่นๆ ตามความต้องการ เพื่อเพิ่มสีสันให้กับ ชิ้นงาน
การทำดอกไม้
๑) การทำเกสรดอกไม้ มี ๒ แบบ
- แบบธรรมดา นำตอกไม้ไผ่ที่เหลาแล้ว มามัดให้เป็นปม
- แบบตาชะลอม นำตอกไม้ไผ่มาสานเป็นชะลอมขนาดเล็ก
๒) การทำกลีบดอกไม้ นำตอกไม้ไผ่ที่เลาแล้วมาจักสานเป็นลายขัด ทำเป็นกลีบดอก สานตามขนาด ที่ต้องการ ถ้าต้องการกลีบใหญ่ก็เพิ่มจำนวนแถว ทำทั้งกลีบเล็ก และกลีบใหญ่ ดัดกลีบดอกไม้ให้มีความโค้งมัดด้วยด้ายกันหลุด
๓) การทำใบคล้ายๆกับการทำกลีบดี นำตอกที่ย้อมเป็นสีเขียว มาสานเป็นลายขัด หรืออาจจะใช้ใบไม้ปลอมก็ได้
๔) ก้านดอกไม้ ใช้ฟลอร่าเทปพันเส้นลวดสลับกับแซมใบ
5) กลีบ แล้วประกบด้วยกลีบคว่ำ ๔ กลีบ ใส่เกสร และก้านดอกไม้ตรงกลาง แล้วมัดด้วยด้ายรวมกันให้เป็นช่อดอก ทำทั้งหมด ๙ ดอก (ดอกบาน ๗ ดอก , ดอกตูม ๒ ดอก)
6) การทำช่อดอกไม้ (ดอกบาน ๑ ดอก จะใช้ ๘ กลีบ ดอกตูม ๑ ดอกจะมี ๒ กลีบ) กลีบหงาย
กรณี ทำเป็นที่วางพระพุทธรูป หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์
๑) นำตอกมาสานเป็นลายขัด หรือลายดอกพิกุล คล้ายกับการสานตะกร้า แซมด้วยตอกสีต่างๆ เพิ่มสีสัน สีสันและลวดลาย ทำขนาดเล็ก และขนาดใหญ่วางซ้อนกัน เพื่อทำเป็นสองชั้น
๒) ตัดกระดาษแข็งซ้อนไว้ข้างในเพื่อเพิ่มความแข็งแรง รับน้ำหนักของพระพุทธรูปได้
๓) นำดอกไม้ที่จักสานไว้มาจับช่อตกแต่งรอบฐานวางพระพุทธรูปให้สวยงาม
กรณี ทำเป็นแจกันดอกไม้
๑) นำท่อนไม้ไผ่มายาวประมาณ ๕ นิ้ว ใช้มีดบ่างด้านข้าง ทำให้เป็นเส้นๆ โดยไม่ขาดออกจากตัวไม้ไผ่ ใช้เส้นตอกที่ยอมสีมาทำลายขัด ทำลวดลายไทย ก็จะได้แจกันไม้ไผ่สวยงาม หรือจะดัดแปลงใช้ไม้ไผ่สานเป็นตะกร้าเล็กก็ได้
๒) นำทรายใส่ในกระบอกไม้ไผ่ครึ่งหนึ่ง เพื่อให้หนักจะได้ตั้งไม่ล้ม ปิดหน้าด้วยดิน น้ำมันสีเขียวกันทรายหก
๓) นำดอกไม้ ใบไม้ ที่จักสาน มาจัดช่อปักลงไปในแจกันที่ได้ทำไว้เป็นอันเสร็จสิ้น
รายละเอียดผลิตภัณฑ์
1) ประโยชน์ใช้สอย ที่วางพระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์/แจกันประดับตกแต่งห้อง
2) ราคาขาย ขึ้นอยู่กับขนาด ความละเอียดของเนื้องาน และรูปแบบของผลิตภัณฑ์อยู่ระหว่าง ๒๕๐ – ๑,๖๐๐ บาท (แล้วแต่ลูกค้าสั่ง)
3) วัสดุ/ส่วนประกอบ ไม้ไผ่สีสุก, ลวด, ใบไม้ปลอม, ด้าย, กระดาษแข็ง, ฟลอร่าเทป
4) ระยะเวลาในการผลิต ๒ - ๓ วัน
5) สถานที่ในการจัดจำหน่าย กลุ่มจักสานไม้ไผ่ บ้านรายชะโด, ลูกหลานลง facebook ขายออนไลน์,ออกจำหน่ายตามงานเทศกาล และพื้นที่ที่หน่วยงานราชการจัดให้ เช่น ตลาดคุณธรรม ศูนย์จำหน่ายสินค้าOTOP และCPOT งานวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นต่างๆ
สถานที่ตั้งขององค์ความรู้: กลุ่มจักสานไม้ไผ่ บ้านรายชะโด ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๕๘/๑ หมู่ที่ ๖ ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร
คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อองค์ความรู้เรื่องนี้
๑)คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม
ชุมชนคุณธรรมบ้านรายชะโด ตั้งอยู่ที่ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตรเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำยมไหลผ่าน ซึ่งบริเวณนี้มีกอไผ่สีสุก ขึ้นอยู่ริมน้ำเป็นจำนวนมาก คนในหมู่บ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา เป็นอาชีพหลัก มีการดำรงชีพด้วยการปลูกข้าวหาปลามาทำเป็นอาหาร จึงมีความจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการจับปลา จึงได้ใช้ไม้ไผ่ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในหมู่บ้าน จักสานเป็นเครื่องมือในการจับปลา และเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น ไซดักปลา ข้องใส่ปลา ตะกร้า กระจาด กระด้ง ตระแกรง ฯลฯ ชาวบ้านรายชะโดจึงมีความถนัดในเรื่องของการจักสาน และได้สืบทอดภูมิปัญญาการจักสานไม้ไผ่ ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ทำต่อๆกันมา จากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์สะท้อนความเป็นมาของชุมชน ได้แก่ ลายดอกพิกุล ลายตะเข่ง ลายข้าวหลามตัด ลายหนามทุเรียน ลายชะลอม ลายสอง ลายสาม และลายไทย ซึ่งลวดลายต่างๆ นี้ เป็นลายที่ผลิตขึ้นจากแนวความคิดของคนจักสาน โดยการเห็นและการเรียนรู้จากสิ่งต่าง ๆ ในชุมชน จึงเกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ
๒)บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม
ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกหลานและคนในชุมชน วัตถุดิบและแรงงานที่ใช้ในการผลิตทั้งหมดมาจากชุมชน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และแบ่งงานกันทำโดยที่ส่วนหนึ่งจะทำหน้าที่ไปเอาไม้ไผ่ที่ป่า ส่วนหนึ่งจะทำหน้าที่จักเส้นตอก ทำตอก ตลอดจนทำเป็นผลิตภัณฑ์ รายได้จากการจำหน่ายจะนำมาแบ่งปันกัน และเก็บไว้ส่วนกลางเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาร่วมกัน
การต่อยอดของกลุ่มจักสานบ้านรายชะโด โดยนำรูปแบบของการจักสานที่วางพระพุทธรูป กระจาด และดอกไม้ไผ่สีสุก ผสมผสานปรับเปลี่ยนมาเป็นการจัดทำพานโตก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 นิ้ว สูง 5 นิ้ว ประดับด้วยดอกไม้ไผ่สีสุก รอบข้าง 2 มุม เล่นลายด้านข้างเป็นลายลูกแก้ว ใส่สีพื้นด้านบน เล่นเป็นลายสอง (โดยพานโตก เมื่อเปิดด้านบน ภายในพานโตกสามารถเก็บสิ่งของไว้ด้าน ในได้อีกด้วย) และการทำกล่องใส่กระดาษทิชชูไม้ไผ่ ประดับดอกไม้ไผ่สีสุก โดยนำรูปแบบการจักสานของตะกร้า และดอกไม้ไผ่สีสุก มารวมกัน กลายเป็นกล่องใส่กระดาษทิชชูไม้ไผ่ ประดับดอกไม้ไผ่สีสุก เกิดความสวยงาม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม (ถ้ามี)
ทางกลุ่มจักสานไม้ไผ่ บ้านรายชะโด ได้รับรางวัลและการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน อาทิเช่น ที่ว่าการอำเภอกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงศึกษาธิการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น
สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม
การทำผลิตภัณฑ์จักสานจากไม้ไผ่ มีอยู่มากมายหลายชุมชนทั่วประเทศ ดังนั้นการจะทำให้ผลิตภัณฑ์ เป็นที่รู้จักและคงมียอดขายจึงต้องสร้างความแตกต่างและเอกลักษณ์ของตนเอง และใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ควรมีการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาให้กับลูกหลานและคนในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ
ข้อเสนอแนะ
การปรับปรุงลวดลายของการจักสาน และการใช้สี เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้สีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การผลิตเครื่องจักสานเพื่อเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ของที่ระลึก ของฝาก ต้องคำนึงถึงคุณภาพการใช้งาน รูปแบบที่ทันสมัย ความคงทนในการใช้งาน หากมีการพัฒนาและรักษาความคุณภาพจะทำให้สามารถคงอยู่ได้ตลอดไป