กลอย มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Dioscorea hispida Dennst.ชื่อวงศ์ ว่า Dioscoreaceae เป็นไม้เถาล้มลุก ไม่มีมือเกาะ มีหัวใต้ดิน ลึกประมาณ ๑๐-๑๕ เซนติเมตร ลำต้นกลมมีหนามเล็ก ๆ กระจายทั่วไป และมีขนนุ่มๆ สีขาวปกคลุม มีรากเจริญเป็นหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน หัวใต้ดินส่วนมากกลมรี บางทีเป็นพู มีรากเล็กๆ กระจายทั่วทั้งหัว มี ๓-๕ หัวต่อต้น เปลือกหัวบางสีน้ำตาลออกเหลือง เนื้อในหัวมี ๒ ชนิด คือ สีขาว (กลอยหัวเหนียว) และสีครีม (กลอยไข่ กลอยเหลือง) หัวกลอยให้แป้งมาก แต่มีสารไดออสคอรีน ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ ทำให้เมา คันคอ อาเจียน เหงื่อออก ตาพร่า ใจสั่น วิงเวียน ต้องนำมาทำให้หมดพิษ โดยปอกเปลือกทิ้ง แล้วหั่นเป็นแผ่นบางๆ ใส่ชะลอมหรือตะกร้าแล้วนำไปแช่ทิ้งไว้ ให้น้ำไหลผ่าน เช่น น้ำทะเล น้ำตก น้ำห้วย สัก ๒-๓ วัน ล้างให้สะอาด จึงจะรับประทานได้ (ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ๒๕๖๔) ซึ่งแต่ละชุมชนอาจใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการทำกลอย ที่สืบทอดกันมาแตกต่างกันไป ดังเช่นที่ชุมชนบ้านแสงภา ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย มีการทำกลอยในงานบุญออกพรรษาของหมู่บ้าน
ส่วนผสม๑.กลอย ๒.เกลือ ๓.น้ำตาล ๔.ฟักทอง ๕.มะพร้าวขูด
วิธีทำ
๑.นำกลอยมาปอกเปลือก และล้างทำความสะอาด
๒. ฝานเป็นแผ่นบางๆ แล้วไปล้างน้ำเปล่า จำนวน ๘ - ๙ น้ำ
๓. เมื่อล้างน้ำเปล่าเสร็จจึงนำไปแช่น้ำเกลือทิ้งไว้ จำนวน ๒ คืน
๔. เมื่อครบสองคืนแล้ว นำมาห่อด้วยผ้าขาวบาง แล้วใช้ไม้มาทับเพื่อบีบน้ำออก (แต่เดิมจะใช้วิธีการเหยียบ)
๕. พอบีบเสร็จ จึงนำไปแช่น้ำเปล่าทิ้งไว้อีกประมาณ ๖ - ๘ ชั่วโมง จึงนำออกมาห่อผ้าขาวเพื่อนำไม้ทับบีบน้ำออกอีกรอบ
๖. นำมาบ่มในใบตอง จำนวน ๒ คืน แล้วจึงนำออกมาล้างทำความสะอาด และนำไปนึ่งให้สุก ก่อนนำไปรับประทาน
๗.โดยจะผสมกลอยด้วยเกลือ น้ำตาล และมะพร้าวขูดคลุกเคล้าให้เข้ากัน ผสมด้วยฟักทองนึ่ง เสร็จแล้วนำไปรับประทาน