ประวัติ
ศาลเสื้อเมือง ตั้งอยู่ในที่ดินของนางลาดครุธนรสิงห์ ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ไม่ห่างจากวัดประเดิมนัก เดิมทีพื้นที่บริเวณนี้ เป็นที่ตั้งของวัดเสื้อเมือง ซึ่งเป้นวัดเก่า แต่้เดิมศาลเสื้อเมืองเป็นอาคารคอนกรีตมุงสังกะสี ภายในศาลตั้งแท่นบูชามีแท่งหินทรายและหลักไม้ เรียกว่า พระทรงเมือง ปัจจุบันได้ทำการย้ายพระทรงเมืองมาไว้ในศาลหลังใหม่ เป็นอาคารไม้ยกพื้นสูงหลังคามุงกระเบื้อง
ในเดือน 6 ข้างขึ้น ของทุกปี จะมีประเพณีสวดกลางบ้าน เพื่อบอกกล่าวบูชาสิ่งศักดิ์สิทธ์ดลบันดาลให้การทำนา ทำสวน ได้ผลดี ซึ่งพิธีนี้จะใช้เวลา 3 วัน โดยในวันที่ 3 จะมีการประกอบพิธีบวงสรวงพระเสื้อเมืองที่ศาลพระเสื้อเมือง มีการสะเดาะเคราะห์ ปัดเป่า ความไม่ดีต่าง ๆ ให้ออกไปจากหมู่บ้าน
พื้นที่บริเวณศาลเสื้อเมือง และวัดประเดิม นักวิชาการท้องถิ่น เช่น อาจารย์สนั่น ชุมวรฐายี สันนิษฐานว่า เป็นชุมชนเก่าของเมืองชุมพร ซึ่งอาณาเขตเริ่มจากลำน้ำชุมพร ระหว่างวัดพระขวางทางตะวันตกกับวัดประเดิม ด้านตะวันออก
สิ่งสำคัญ
๑. โบราณวัตถุประเภทอิฐ พบกระจายอยู่ทั่วไป
๒. พระทรงเมือง เป็นแท่งหินทรายทรงกลมรีเล่ากันว่า เมื่อตอนน้ำท่วมศษลเสื้อเมืองหลังเก่า กระแสน้ำได้พัดพาพระทรงเมืองเดิม รวมทั้งข้าวของต่าง ๆ ภายในศาลหายไปกับกระแสน้ำ ชาวบ้านได้ช่วยกันมาหาสิ่งของที่เหลืออยู่ พบก้อนหินทรายก้อนนี้ จึงถือเอาเป็นตัวแทนของพระทรงเมือง
อายุสมัย
สมัยอยุธยา - รัตนโกสินทร์
ประวัติดำเนินการ
พ.ศ.๒๕๕๑ สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช สำรวจ
หนังสืออ้างอิง
สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช โบราณสถานและแหล่งโบราณคดีในพื้นที่สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช เล่ม ๑ : ชุมพร. เอกสารอัดสำเนา,2554. หน้า 30.
ที่มา : เนื้อหา / รูปภาพ
ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์.
โบราณสถานในจังหวัดชุมพร. –นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2563. 200 หน้า