วัดสระแก้ว ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมือง นครราชสีมา เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนารายณ์ มหาราช โดยในขณะนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยายมราช (สังข์) เป็นผู้สร้างเมืองนครราชสีมา พระองค์ทรงโปรดให้ตั้งหลักเมือง และให้ขุดสระแก้ว สระขวัญ ตามลักษณะประเพณีการตั้งเมือง เพื่อใช้เป็นน้ำอุปโภคบริโภคเมื่อยามข้าศึกเข้าล้อมเมือง โดยน้ำในสระแก้ว สระขวัญ ถูกนำมาใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา รวมถึงเป็นน้ำสำหรับใช้ร่วมในพิธีมุรธาภิเษกมาวัดสระแก้ว ซึ่งถือเป็นสระน้ำที่มีความสำคัญและเป็นสระน้ำประจำเมืองนครราชสีมา ต่อมาเมื่อมีการสร้างวัดในบริเวณที่ติดกับสระแก้ว จึงเรียก ชื่อ “วัดสระแก้ว” ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ทางวัดได้แบ่งเนื้อที่ทางทิศตะวันตกของวัดเพื่อสร้างเป็นโรงเรียน วัดสระแก้ว และในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้เปิดสอนแผนกวิชาชีพช่างไม้ ปัจจุบันย้ายไปตั้งเป็นวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา นอกจากนี้ วัดแห่งนี้ยังเคยเป็นที่จำพรรษาของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพ สักการะของประชาชนทั่วทั้งประเทศไทย อีกทั้งหลวงพ่อคูณยังได้สร้างวัตถุมงคลที่มีชื่อเสียง และนำเงินรายได้สร้างเสนาสนะให้กับวัดสระแก้วแห่งนี้อีกด้วย วัดสระแก้ว สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ปัจจุบันมีพระครูปริยัติรัตนวิชัย (ธนะวัฒน์ ชิตมาโร) ผู้อำนวยการโรงเรียนปริยัติสามัญนครราชสีมา เป็นเจ้าอาวาส สิ่งที่น่าสนใจ อุโบสถ แต่เดิมอุโบสถที่มีส่วนฐานก่อเป็นแนวโค้งแบบหย่อนท้องช้าง ศิลปะอยุธยาตอนปลาย แต่ปัจจุบันได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ให้เป็นแบบที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนของหน้าบันแกะสลักรูปพระอิศวรทรงคชเอราวัณ ภายในเขียนภาพทศชาติชาดกมีความประณีต งดงาม มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย ขนาดหน้าตัก ๖ ศอก เป็นพระประธาน ภายในอุโบสถ นอกจากนี้ บริเวณผนังด้านหลังของอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของ “หลวงพ่อ ติกขวโรภิกขุ” หรือที่ประชาชนนิยมเรียกว่า“พระติกข์” พระพุทธรูปเก่าแก่ปางถวายเนตร ที่ได้อัญเชิญมาจากอยุธยา เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นพระเสี่ยงทายที่มีความศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เป็นพิพิธภัณฑ์ ที่มีรูปเหมือนหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้ และระลึกถึงคุณงามความดีเมื่อครั้งหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เคยจำพรรษาที่วัดสระแก้วแห่งนี้