ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 34' 52.9219"
13.5813672
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 2' 58.1705"
100.0494918
เลขที่ : 193784
ไทยทรงดำ
เสนอโดย สมุทรสาคร วันที่ 11 มิถุนายน 2564
อนุมัติโดย สมุทรสาคร วันที่ 22 มิถุนายน 2564
จังหวัด : สมุทรสาคร
0 342
รายละเอียด

ชาวไทยทรงดำมีอาชีพหลัก คือ การทำนา ทำไร่ อาชีพรองลงมา คือ จักรสาน เลี้ยงไหม ทอผ้าเย็บหมอน เย็บกระเป๋า โดยการเก็บเอาเศษผ้าต่างๆ ที่เหลือจากการเย็บเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มแล้วนำมาประดิษฐ์เป็นชั้นเล็กชิ้นน้อย และสนกระจกใส่ในชิ้นผ้านั้นแล้วนำมาติดกับหน้าหมอนหรือกระเป๋าคาดเอวของผู้ชาย ซึ่งเรียกว่า “ฝักเอว” และงานฝีมืออีกมากมาย และมีรับราชการบ้างแล้วแต่ฐานะของครอบครัว

คำเรียก ไทยทรงดำ ไทดำ ผู้ไทย ผู้ไทยดำ ผู้ไต ผู้ไตดำ ลาวทรงดำ ลาวโซ่ง หรือไทยโซ่ง เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน และมีอยู่ในหลายประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ลัจีน ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่จะรับรู้ว่า คนกลุ่มนี้มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในประเทศลาว ประกอบกับการที่คนกลุ่มนี้นิยมรับประทานข้าวเหนียวและปลาร้า รวมทั้งสื่อสารด้วยภาษาตระกูลไท-ลาวดั้งเดิม ซึ่งเป็นลักษณะเด่นร่วมกันของคนตระกูลไท-ลาว ผู้คนที่พบเห็นจึงพากันเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ลาวโซ่ง ปัจจุบันพวกเขานิยามตนเองเป็น"ไทยทรงดำ"(ทางวิชาการนิยมเรียกว่า"ไททรงดำ"(ไม่มี ย ยักษ์) เป็นการกล่าวถึงคนตระกูลไทหรือไต (Tai) ที่ไม่ได้ติดอยู่กับอาณาเขตประเทศไทย) เพื่อความกลมกลืนและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสังคมไทย แม้ว่าในกลุ่มคนพวกเดียวกันจะนิยมเรียกตนเองว่า "ลาวโซ่ง" ก็ตาม

ไทยทรงดำ โซ่ง หรือ ไทดำ (Tai Dam) ถูกจัดอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลไท (Tai) กลุ่มหนึ่ง (สุวิไล เปรมศรีรัตน์,๒๕๔๗) ในเขตสิบสองจุไท บริเวณลุ่มแม่น้ำดำ และแม่น้ำแดง ในประเทศเวียดนามทางตอนเหนือ เป็นถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของไทดำ ไทแดง และไทขาว ดังปรากฏในพงศาวดารเมืองไล กล่าวถึงเมืองของชาวไทดำทั้ง ๘ เมือง ได้แก่ เมืองแถง เมืองลา เมืองตุง เมืองม่วย เมืองควาย เมืองโมะ เมืองหวัด และเมืองซาง รวมกับเมืองของชาวไทขาวอีก ๔ เมือง รวมเป็น ๑๒ เมือง จึงเรียกว่า สิบสองผู้ไทแต่ปัจจุบันนิยมเรียกว่า สิบสองจุไท

ในสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดครองเวียดนามและลาวเป็นอาณานิคม ฝรั่งเศษเรียกชนชาติที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำดำว่า ไทดำ เหตุที่เรียกว่าไทดำ ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำดำ แต่เพราะคนกลุ่มนี้นิยมสวมเสื้อผ้าสีครามเข้มจนถึงดำ ซึ่งย้อมด้วยต้นคราม อันเป็นเอกลักษณ์ประจำกลุ่ม ส่วนคำว่า ลาวโซ่ง หรือ ลาวซ่ง เกิดขึ้นภายหลังเมื่อเข้ามาอยู่ในเมืองไทยแล้ว (ปานทิพย์ คงยิ้มละมัย, ๒๕๔๖) บ้างก็ว่ามาจากคำว่า "ไทสง" อันเป็นภาษาพื้นเมืองในสิบสองจุไทที่ใช้เรียกชาวโซ่ง (ไทยทรงดำ) หมายถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ตามป่าเขา ภายหลังเพี้ยนเป็นไทโซ่ง แต่ข้อที่น่าเชื่อถือได้คือ ซ่ง หรือ ส้วง ในภาษาโซ่ง หมายถึงกางเกงสีดำที่ชาวโซ่ง (ไทยทรงดำ) นิยมสวมใส่ (สุมิตร ปิติพัฒน์, ๒๕๔๒)

ชุมชนชาวไทยทรงดำเริ่งแรกในเมืองไทยจึงเกิดขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรี และจาดคำบอกเล่าของชาวไทยทรงดำส่วนหนึ่งที่ว่า อพยพมาโดยทางเรือขึ้นฝั่งที่ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม แต่เนื่องจากชาวไทยทรงดำไม่คุ้นเคยกับสภาพภูมิประเทศลุ่มน้ำชายทะเล จึงด้ย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ จนถึงแถบอำเภอเขาย้อย มีภูมิประเทศเป็นป่าเขาใกล้เคียงกับถิ่นฐานเดิมของตน จึงตั้งบ้านเรือนอยู่กันอย่างหนาแน่น ดังจะพบได้ว่า ประชากรของอำเภอเขาย้อยในปัจจุบัน มากกว่าร้อยละ ๗๐ ล้วนเป็นชาวไทยทรงดำ ต่อมาชาวไทยทรงดำในเขตอำเภอเขาย้อยได้มีการอพยพโยกย้ายไปยังแหล่งอื่นๆ เนื่องจากประสบปัญหาที่ดินทำกินคับแคบ และประสบภัยแล้ง ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของชาวไทยทรงดำในจังหวัดต่างๆ ที่ล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า บรรพชนของตนอพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรี

ในขณะที่มีคนไทยทรงดำบางส่วนเล่าว่า เหตุที่ชาวไทยทรงดำกระจัดกระจายไปอยู่ในหลายจังหวัดเนื่องมาจากบรรพชนรุ่นก่อนหน้าต้องการที่จะเดินทางกลับเมืองแถง บ้านเมืองเดิมของตนในประเทศเวียดนาม จึงได้รวบรวมสมัครพรรคพวกเดินทางไปพร้อมกับลูกหลานที่เกิดในเมืองไทยต่างคนต่างเดินทางกันไป เกิดพลัดหลงกันไปบ้างหลายเส้นทาง หลายคนเป็นไข้ป่า ถูกสัตว์ป่าทำร้ายเมื่อคนเฒ่าคนแก่ล้มตายลง ลูกหลานไม่ชำนาญเส้นทางจึงเลิกล้มการเดินทาง ตัดสินใจลงหลักปักฐานอยู่ยังสถานที่ ที่ได้เดินทางไปถึงในเวลานั้น เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ลพบุรี สระบุรี พิจิตร นครสวรรค์ สุโขทัย พิษณุโลก นครพนม เลย ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานีแม้ประเด็นเรื่องการเดินทางกลับเมืองแถงจะเป็นเพียงเรื่องเล่าสู่กันฟัง แต่เรื่องเล่าดังกล่าวได้สะท้อนความคิดของคนไทยทรงดำจากรุ่นสู่รุ่นส่งผ่านมาถึงคนไทยทรงดำในยุคปัจจุบัน สะท้อนถึงความรักและกตัญญูที่มีต่อบรรพชน สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมให้ชาวไทยทรงดำมีความทรหดอดทนต่อความยากลำบาก สามารถปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ดีเมื่อได้รับโอกาส อย่างที่ปู่ย่าตายายของตนเคยได้รับเมื่อก่อนหน้า (องค์ บรรจุน,๒๕๕๓ )

ประวัติความเป็นมาของคนไทยทรงดำในจังหวัดสมุทรสาครเท่าที่มีหลักฐาน พบว่าเข้ามาตั้งรกรากและกระจายกันอยู่ในบริเวณตำบลหนองสองห้องและตำบลโรงเข้ อำเภอบ้านแพ้วเมื่อราว ๗๐-๘๐ ปีที่ผ่านมา จากการสอบถามผู้สูงอายุในชุมชนต่างก็ยืนยันตรงกันว่า บรรพชนของตนอพยพมาจากชุมชนไทยทรงดำย่าน อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี (อุบลวดี พงษ์ทองวัฒนา, ๒๕๕๖) ดังปรากฏนามสกุลของคนไทยทรงดำชุดแรกเริ่มที่บ่งบอกถิ่นฐานเดิมของตนทั้งสิ้น ๙ ตระกูล ได้แก่ (๑) บุตรเพชร (๒) มูลดาเพชร (๓) ซัดเพชร (๔) รอเพชร (๕) เพชรรอ (๖) โลหินเพชร (๗) มินเพชร (๘) บุญเพชร และ(๙) ทองเพชร

ในการอพยพของคนชาวไทยทรงดำมายังบ้านหนองสองห้องและโรงเข้นี้ เชื่อกันว่าเพราะเป็นความต้องการแสวงหาที่ทำกินแหล่งใหม่ เนื่องจากชุมชนเดิมเริ่มประสบปัญหาความแออัด เนื่องจากบ้านเรือนและจำนวนประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างไรก็ตาม ชาวไทยทรงดำในจังหวัดสมุทรสาครก็ยังคงไปมาหาสู่กับเครือญาตในถิ่นฐานเดิม ได้แก่ ย่านอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ตราบเท่าทุกวันนี้

หมวดหมู่
ชาติพันธุ์
สถานที่ตั้ง
จังหวัด สมุทรสาคร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
หนังสือมรดกภูมิปัญญา พหุวัฒนธรรม ชาติพันธ์ุสาครบุรี
บุคคลอ้างอิง สุภาพร สิรวณิชย์ อีเมล์ culture-skn@hotmail.com
จังหวัด สมุทรสาคร
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่