ในค่ายตากสิน จังหวัดจันทบุรี มีสุสานต้นตระกูลสุนทรเวชอยู่บริเวณหลังแนวกำแพงและคูเมืองจันทบุรีด้านทิศตะวันออก
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทหารฝรั่งเศสยกพลเข้าประจำที่จันทบุรี
ได้ใช้พื้นที่ในแนวกำแพงเมืองจันทบูรเป็นที่ตั้งของค่ายทหารในตัวเมือง และใช้พื้นที่ฝั่งตรงข้ามด้านทิศใต้เป็นสุสานทหารญวน [บริเวณหอที่ดินจันทบุรี หลังแรก] เมื่อทหารฝรั่งเศสถอนกำลังออกไปแล้ว ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ กองทัพเรือได้ขอพระราชทานที่ดินทั้งหมดบริเวณที่ทหารฝรั่งเศสใช้เป็นที่ตั้งกองกำลัง และเลยไปถึงที่บริเวณเนินเขาคลองท่าช้างที่อยู่นอกกำแพงเมืองเพื่อตั้งค่ายทหารนาวิกโยธินทำให้ต้องมีการ 'ล้างป่าช้า' ที่มีสุสานมากถึง ๔๐๐ แห่ง
แต่ทำไม หลุมฝังศพต้นตระกูลสุนทรเวช จึงยังคงอยู่เพียงหนึ่งเดียวมาถึงทุกวันนี้
หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพนายสมัคร สุนทรเวช ได้อธิบายความไว้ในหัวข้อ 'เรามาจากไหน' ดังนี้
• ความเป็นมา
>>เรามาจากไหน<<
ระหว่างที่สุมิตร สุนทรเวช กำลังอยู่ในงานสำรวจเส้นทางกรุงเทพฯ - ตราด นั้น เขามีโอกาสได้เรียนรู้ที่มาของต้นตระกูลสุนทรเวช ซึ่งย้อนกลับไปได้ถึงก่อนการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ สุมิตร สุนทรเวช บันทึกเรื่องราวนั้นไว้ดังนี้
"...เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๕ - ๒๕๐๖ ผมได้มีโอกาสสนทนากับพระยาแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี [สุ่น สุนทรเวช] ซึ่งเป็นพี่ชายของคุณพ่อผม ขณะที่ผมเป็นหัวหน้าคณะสำรวจเส้นทางหลวงกรุงเทพฯ - ตราด ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทที่ได้รับการว่าจ้างจากกรมทางหลวง เส้นทางดังกล่าวทำการสำรวจไปตามเส้นทางเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่มีเปลี่ยนแปลงจากเส้นทางเดิมอยู่สองแห่งคือช่วงที่ตัดใหม่จากแยกบางนาไปสู่สะพานบางปะกง โดยไม่ผ่านเข้าไปในตัวเมืองสมุทรปราการ และอีกแห่งหนึ่งคือจากอำเภอบางละมุงไปสู่จังหวัดระยอง โดยไม่ผ่านเข้าไปในอำเภอสัตหีบ ขณะเมื่อการสำรวจมาถึงจังหวัดจันทบุรี ผมและคณะได้พักแรมอยู่ที่บ้านของพระยาแพทยพงศาฯ ท่านได้พาผมไปดูฮวงซุ้ยต้นตระกูลสุนทรเวชที่อยู่ในค่ายทหาร และได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของต้นตระกูลสุนทรเวชให้ฟังอย่างละเอียด จากแผ่นศิลาจารึกหน้าฮวงซุ้ยสลักเป็นตัวอักษรจีนสามแถว [อ่านจากบนลงล่างและขวาไปซ้าย] ว่า
>แถวแรก ริมซ้าย
บุตรชาย
เชยฮุยกับเม่าเตี๊ยน
ร่วมกันสร้าง
>แถวที่สอง ตรงกลาง
แผ่นดินไต้เซ็ง
ที่ฝังศพของภรรยาหลวง
แซ่ลี้ ของตระกูลแซ่ตัน
ลูกหลานจะได้รับความเจริญในแผ่นดิน
>แถวที่สาม ริมขวา
ขึ้น ๑ ค่ำ
เดือน ๑๑
ปีเกอิ๊น
ฤดูเก็บเกี่ยว
พระยาแพทยพงศาฯ เล่าให้ฟังว่า ต้นตระกูลสุนทรเวช เป็นชาวเมืองฮกเกี้ยน เดินสำเภาค้าขายระหว่างเมืองฮกเกี้ยนกับประเทศเวียดนาม ต่อมาได้ยกครอบครัวทั้งหมดมาอยู่ที่เมืองหมีธอ* ประเทศเวียดนาม และได้เปลี่ยนเส้นทางการค้าขายมาเป็นเวียดนามกับเมืองจันทบุรี หลังจากอยู่เวียดนามได้เพียง ๑๕ ปี เห็นว่าไม่ได้รับความสะดวกในการนับถือพุทธศาสนา จึงอพยพครอบครัวทั้งหมดมาอยู่จันทบุรี รวมทั้งเอาศพของมารดาใส่สำเภามาด้วย สิ่งแรกที่เชยฮุยและเม่าเตี๊ยนทำก็คือหาทำเลสร้างหลุมฝังศพให้มารดา และมาเลือกได้ที่เนินเขาไม่ห่างจากตัวเมืองจันทบุรีมากนัก เป็นทำเลที่เหมาะสมยิ่ง เบื้องหลังเป็นเนินเขา ฮวงซุ้ยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เบื้องล่างเป็นลำธาร
พระยาแพทยพงศาฯ รับราชการสนองพระเดชพระคุณ โดยเป็นแพทย์ประจำพระองค์ ทั้งในหลวงรัชกาลที่ ๖ และที่ ๗ เมื่อปลายรัชกาลที่ ๗ กองทัพเรือได้มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานที่บริเวณเนินเขาคลองท่าช้างเพื่อสร้างเป็นค่ายนาวิกโยธิน ซึ่งมีฮวงซุ้ยอยู่รวมกันถึงเกือบ ๔๐๐ แห่ง และขอกวาดล้างฮวงซุ้ยออกทั้งหมด พระยาแพทยพงศาฯ จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานให้เก็บฮวงซุ้ยต้นตระกูลสุนทรเวชไว้
เมื่อพระยาแพทยพงศาฯ เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ท่านได้ทำพินัยกรรมมอบฮวงซุ้ยต้นตระกูลสุนทรเวชให้เป็นผู้ดูแล แต่ผมเห็นว่าผู้ที่ทำชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูลมากกว่าคนอื่นคือ นายสมัคร สุนทรเวช ผมจึงขอให้เขาเป็นผู้ดูแลตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน"
[อ้างอิง/หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพนายสมัคร สุนทรเวช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๓, น.๒๘๐]
หมายเหตุ
*เมืองหมีธอ [Mỹ Tho] จังหวัดเตี่ยนซาง ตั้งอยู่ในภูมิภาคดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม
• ตำแหน่งที่ตั้ง
สุสานต้นตระกูลสุนทรเวชอยู่ในค่ายตากสิน จันทบุรี [กองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ถนนท่าหลวง]
• รูปลักษณะ
สุสานเป็นเนินดินเตี้ย ๆ ใต้ต้นจามจุรีใหญ่ [น่าจะเกิดเติบโตทีหลัง] หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้าก่ออิฐแบบสถาปัตยกรรมจีนสำหรับติดตั้งป้ายหินจารึกอักษรจีน ๓ แถว มีแท่นบูชาก่ออิฐหน้าป้ายจารึก และที่หน้าแท่นบูชามีป้ายหินอ่อนจารึกอักษรภาษาไทยว่า หลุมฝังศพต้นสกุล 'สุนทรเวช'สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ โดยพระบรมราชานุญาต นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ดูแล
[ข้อความปีที่สร้างในป้ายหินอ่อนไม่ตรงกับป้ายพลาสติกติดไว้ที่ต้นจามจุรีและเนื้อความในหนังสืออ้างอิง]
ต่อจากแท่นบูชาเป็นพื้นและขั้นบันได ๓ ขั้น [ชำรุดและพังจากรากต้นจามจุรี] มีกำแพงเตี้ยต่อจากเสาสี่เหลี่ยมต้นเล็กข้างตัวสุสานหัวเสาเป็นรูปเหลี่ยมเพชรพลอย กำแพงตีโค้งคล้ายปีกกาโอบล้อมขั้นบันไดและลดระดับเมื่อถึงขั้นสุดท้าย
สถานที่ฝังศพตามแบบประเพณีจีน [ฮวงซุ้ย] ของตระกูลสุนทรเวชนี้สร้างโดยยึดหลักฮวงจุ้ยครบสมบูรณ์ กล่าวคือ
- ชัยภูมิพื้นฐาน คนเป็นอยู่พื้นที่ราบ คนตายอยู่ที่เชิงเขา [หลักคิดนี้หมายความว่า คนตายจะไม่แย่งที่ดินของคนเป็น ซึ่งคนเป็นต้องใช้ที่ดินบนพื้นที่ราบเพื่อทำประโยชน์ในการเพาะปลูกทำมาหากิน]
- การเลือกสถานที่นั้นต้องพิจารณาถึงทิศทางของลมและน้ำ คือ พื้นที่รอบ ๆ บริเวณที่เลือกต้องเป็นที่สว่าง [ลม-แสงแดด] และสดชื่น [น้ำ]
ทำเลที่เลือกคือ หลังแนวกำแพงเมืองเก่าจันทบุรีซึ่งเป็นเนินดินสูง เสมือนเป็นที่เชิงเขา ด้านหน้าเป็นคลองท่าช้าง
• ศิลปะสถาปัตยกรรม
- แบบจีน
• การอนุรักษ์
- ดูแลโดยตระกูลสุนทรเวช
• การบูรณะปฏิสังขรณ์
- ไม่มีข้อมูล
---------------------------------------
'พระยาแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี' ไม่มี 'การันต์'
สะกดชื่อตามหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี [สุ่น สุนทรเวช]