วนอุทยานพนมสวาย อยู่ในท้องที่ตำบลบัว อำเภอเมือง ตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาสวาย ซึ่งประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕๕ (พ.ศ.๒๕๑๖) มีเนื้อที่ประมาณ ๒,๔๗๕ ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๗
ต่อมาในวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ได้มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดบริเวณพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาสวาย ในท้องที่ตำบลสวาย ตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์ และตำบลประทัดบุ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ให้เป็นวนอุทยาน เนื้อที่ ๒,๑๖๐ ไร่ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๓ ง วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๔
"พนมสวาย" เป็นคำภาษาพื้นเมืองสุรินทร์ "พนม" แปลว่าภูเขา "สวาย" แปลว่า "มะม่วง" ในหมู่พนมสวายประกอบด้วภูเขา ๓ ลูก ติดต่อกันซึ่งมีชื่อพื้นเมืองเรียกแตกต่างกันไป ได้แก่
"พนมกรอล" แปลว่า "เขาคอก"มีความสูงประมาณ ๑๕๐ เมตร พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ ได้จัดสร้างศาลาอัฏฐะมุข เป็นอนุสรณ์ฉลองครบรอบ ๒๐๐ ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร ์เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองจากยอดเขาชายมาประดิษฐานไว้ในศาลาโดยเริ่มทำการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๔ และสำเร็จบริบูรณ์ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ใกล้กันนั้นมีสถูปที่เก็บอัฐิธาตุพระราชวุฒาจารย์ หรือหลวงปู่ดุลย์ อตุโล พระเกจิสายวิปัสสนา วัดพนมศิลาราม และศาลเจ้าแม่กวนอิม ให้ประชาชนได้เคารพบูชา
"พนมเปร๊า แปลว่า "เขาชาย"มีความสูงประมาณ ๒๑๐ เมตร เป็นที่ตั้งของ วัดพนมศิลาราม มีบันไดก่ออิฐถือปูนขึ้นถึงวัด ระหว่างทางเรียงรายไปด้วยระฆังจำนวน ๑,๐๘๐ ใบให้ผู้มาเยือนเคาะเพื่อความเป็นสิริมงคล มีสระน้ำกว้างใหญ่และร่มรื่นด้วยต้นไม้ บนเขาเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคล เป็นพระพุทธรูป สีขาว ปางประทานพร ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๕ เมตร สูง ๒๑.๕๐ เมตร มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุที่บริเวณพระนาภี
"พนมสรัย" แปลว่า "เขาหญิง"สูงประมาณ ๒๒๐ เมตร เป็นที่ตั้งของวัดพนมศิลาราม ทางวัดได้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์ขนาดกลางประดิษฐานบนยอดเขา และยังมี สระน้ำโบราณ ๒ สระที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของ เต่าศักดิ์สิทธิ์
รวมกันทั้ง ๓ ลูก มีชื่อว่า เขาพนมสวาย
“ประเพณีขึ้นเขาสวาย กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์” จะจัดขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี ถือเป็นสิ่งสำคัญของชาวสุรินทร์มาแต่โบราณ เมื่อถึงเดือนห้าของทุกปี บรรพบุรุษชาวสุรินทร์จะถือว่าเป็นงานประเพณีหยุดงาน ซึ่งประเพณีการหยุดงานตามช่วงระยะเวลาดังกล่าว ก่อนจะถึงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทยในทุกปีชาวจังหวัดสุรินทร์จะร่วมมือร่วมใจจัดงานบุญประเพณีขึ้นเขาสวาย ประกอบกับวันดังกล่าว ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติดังนั้นชาวสุรินทร์จะหยุดงานและพากันเดินทางไปขึ้นเขาสวายเพื่อกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เสริมสิริมงคลชีวิตต่อตนเองและครอบครัว โดยจะพากันประกอบกิจกรรมกราบไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาสวายหลัก ทั้ง ๙ คือ พระใหญ่หรือพระพุทธสุรินทรมงคล รอยพระพุทธบาทจำลอง อัฐิหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระพุทธรูปองค์ดำ หลวงปู่สวน ปราสาทหินพนมสวาย ศาลเจ้าแม่กวนอิม เต่าหินศักดิ์สิทธิ์ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ และร่วมเคาะระฆัง ๑,๐๘๐ ใบ เพื่อเป็นสิริมงคลด้วย
เขาพนมสวาย
ที่มา สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=4056