ปราสาทช่างปี่ บ้านช่างปี่ ตำบลช่างปี่ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธลัทธิมหายาน ก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีแผงผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้าง ดังนี้ ๑.ปราสาทประธาน ๒.วิหารหรือบรรณาลัย ๓.กำแพงแก้ว ๔.ประตูซุ้ม และ ๕.สระน้ำ
จากการขุดแต่งพบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น ประติมากรรมพระไภษัชคุรุไวทูรยะ พระศรีสุรยไวโรจนจันทโรจิ พระศรีจันทรไวโรจนโรหิณีศะ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระยม เป็นต้น
โบราณสถานแห่งนี้เป็นอโรคยาศาล (สถานพยาบาล) แห่งหนึ่งในจำนวน ๑๐๒ แห่ง ที่สร้างขึ้นทั่วราชอาณาจักรเพื่อรักษาผู้เจ็บป่วย ตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๓-๑๗๖๑)แห่งอาณาจักรกัมพูชา
ปราสาทช่างปี่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และ เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๑๐๔ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๔ เนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่ - งาน ๓๐ ตารางวา
ประเพณีตะวันลอดช่องบานประตู ปราสาทช่างปี่
“อัศจรรย์ตะวันลอดช่อตรงช่องประตูปราสาทช่างปี่” เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่เคารพศรัทธา และมีความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์ในปราสาทช่างปี่ ได้สักการะขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล โอกาสที่ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์จะส่องแสงลอดช่องประตูปราสาทพร้อมกันทุกบานประมาณ ๑๕ นาที ช่วงต้นเดือนมีนาคม ในเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. ซึ่งจะมีปีละครั้งเท่านั้น
ปราชญ์ชาวบ้านช่างปี่ กล่าวว่า ศาสตร์แห่งแสงหรือแสงลอดซุ้มประตู ในสมัยโบราณถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในพิธีทางศาสนาทั้งฮินดู พราหมณ์ และพุทธมหายาน ที่คนโบราณได้คิดสูตรให้แสงส่องต้ององค์พระอวโลกิเตศวร หรือศิวลึง ในการประกอบพิธีที่สำคัญเช่นคาถาอาคม หรือการผลิตยา บดยา เพราะที่นี่เป็นอโรคยาศาลหรือโรงพยาบาลให้ตัวยามีฤทธิ์บังเกิดผลตามต้องการ จึงเป็นช่วงสำคัญของประชาชนทั่วไปจะได้มาสักการะขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในปราสาท เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย
ประเพณีตะวันลอดช่องบานประตู ปราสาทช่างปี่ จะจัดอยู่ในช่วงเดือน มีนาคม ของทุกปี