อาข่า (อีก้อ) มีรูปร่างเล็กแต่แข็งแรงลำสัน ผิวสีน้ำตาลอ่อน มีภาษาพูดคล้ายภาษามูเซอและลีซอ แต่ไม่มีอักษรใช้ บรรพบุรุษดั้งเดิมอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ผู้หญิงอาข่านิยมไว้ผมยาวแต่รวบผมไว้แล้วใส่หมวกทับ สวมเครื่องประดับไว้ที่คอ เสื้อผ้าสีดำตกแต่งลวดลายด้วยการปักผ้า ผู้ชายโกนหัวไว้ผมเปีย ลักษณะนิสัยที่สำคัญคือ เคารพและเชื่อถือคำสั่งสอนของบรรพบุรุษ เชื่อผู้นำ ประนีประนอม ไม่ชอบความรุนแรง ชนเผ่าอาข่านิยมตั้งบ้านเรือนอยู่บนที่สูง ประกอบอาชีพทำไร่ นับถือผี การแต่งกายของชาวอาข่า ใช้ผ้าทอเนื้อแน่น ย้อมเป็นสีน้ำเงินเข็มและสีดำ ผู้หญิงสวมเสื้อตัวสั้นกระโปรงพรีทสั้น มีผ้าคาดเอวและผ้าพันน่อง ห้อยคอด้วยลูกปัด มีจุดเด่นที่หมวก ซึ่งประดับด้วยลูกปัดหลากสี และขนไก่ หมวกผู้หญิงแตกต่างกัน ถ้าเป็นหญิงที่ยังเป็นโสด วัยรุ่น จะสวมหมวกทรงกลม หากแต่งงานแล้วจะสวมหมวกทรงสูง ผู้ชายจะสวมเสื้อคอกลม แขนยาว กางเกงขาก๊วยสีเดียวกัน และโกนหัวไว้ผมเปีย
บ้านดอยสะโง้ะ หมู่ที่ ๗ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเชียงแสนประมาณ ๑๖ กิโลเมตร ตั้งขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๖ อาข่ากลุ่มอุโละประมาณ ๔ ครอบครัว ได้ชวนกันอพยพจากเมียนมาร์เข้ามาสู่ประเทศไทยทางบริเวณพื้นที่ระหว่างอำเภอแม่สายกับหมู่บ้านสบรวก (สามเหลี่ยมทองคำ) สาเหตุเนื่องจากขณะนั้นมีโรคระบาดคือไข้มาลาเรียในเมียนมาร์และนอกจากนั้นยังมีปัญหาการสู้รบปราบปรามหรือสงครามอยู่บ่อย ๆ ผู้ก่อตั้งหรือชนกลุ่มแรกที่มาอยู่ คือกลุ่มอุโละอาข่า ๔ ครอบครัวอพยพมาจากหมู่บ้านโลโหย่ในเมียนมาร์ ต่อมามีญาติพี่น้อง คนรู้จักได้อพยพมาอยู่เพิ่มมากขึ้น
ปูชนียสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุดที่ชาวบ้านนับถือ คือประตูหมู่บ้าน (ลกค่อ) บริเวณหัวและท้ายหมู่บ้านก่อนเข้าและออกจากหมู่บ้าน เป็นเสาไม้ ๒ ข้าง มีไม้แผ่นแบนใหญ่พาดระหว่างเสาทั้งสองต้นบนแผ่นไม้มีไม้แกะรูปนกหลาย ๆ ตัวเกาะอยู่ มีตาแหลว (ไม้ไผ่สาน) ติดตามประตู และมีท่อนไม้แกะเป็นรูปชายหญิงแสดงสัญลักษณ์การสืบเผ่าพันธุ์ของอาข่าวางไว้สองข้างเสาหลายคู่ อาข่ามีความเชื่อว่าประตูนี้คือเขตเส้นแบ่งระหว่างคนกับภูตผี ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ห้ามบุคคลทุกเพศ ทุกวัยแตะต้องเด็ดขาด ถ้าไปแตะต้องถือว่าลบหลู่จะต้องทำพิธีขอขมา
งานประเพณีที่สำคัญตามเทศกาล
๑. ประเพณีชนไข่แดงเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
๒. พิธีสร้างประตูหมู่บ้านหลังพิธีชนไข่
๓. เทศกาลโล้ชิงช้า จะมีการละเล่นชิงช้าในช่วงฤดูฝนเพื่อเฉลิมฉลองการหยุดพักงานจากการทำไร่เป็นเทศกาลของสตรีอาข่า (ซึ่งจะแต่งกายอย่างสวยงามครบชุด) ใช้เวลา ๔ วัน ในการเฉลิมฉลอง
๔. ประเพณีกินข้าวใหม่ เป็นการเริ่มต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรและการจัดเก็บพันธุ์ข้าวไร่
การละเล่นพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้าน และดนตรีพื้นบ้าน
"การเต้นมิฉ่า" เป็นการเต้นรำของผู้ชายโดยเต้นรำกระทืบเท้าและหมุนตัวเป็นวงกลม
การเต้นของผู้หญิงอาข่า "ผ่อมีเน" คือเต้นเป็นวงกลมย่อเข่า "ซาลอมอ" ยืนเรียงแถวเป็นหน้ากระดานร้องเพลงพร้อมกันกอดแขนกันเท้าทั้งสองติดกันกระโดดเท้าคู่เลื่อนมาข้างหน้า อีกแบบหนึ่ง หญิงจูงมือกันเดินร้องเพลงเป็นวงกลม
ดนตรีพื้นบ้าน สำหรับผู้ชายจะเล่นเครื่องดนตรีมีแคนน้ำเต้า พิณ ซออู้ ฯลฯ ส่วนเครื่องดนตรีที่ผู้หญิงชอบใช้เรียกว่า จะอือ หรือ จิ๊งหน่อง ทำจากไม้ไผ่เป็นกรอบตรงกลางเป็นลิ้นเวลาเล่นใช้ปากคาบและใช้นิ้วหัวแม่มือดีด