ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งกำเนิดสับปะรดพันธุ์ “นางแล” สับปะรดรสชาติดี ซึ่งเป็นที่นิยมมากพันธุ์หนึ่ง ชาวตำบลนางแลจึงปลูกสับปะรดเป็นอาชีพหลัก โดยเฉลี่ยครอบครัวหนึ่งจะปลูกสับปะรดประมาณ 3-5 ไร่ โดยพื้นที่ 1 ไร่สามารถปลูกสับปะรดได้ราว 8,000 ต้น มีผลตอบแทนในรูปแบบของรายได้ค่อนข้างดีคือประมาณ 12,000 บาทต่อพื้นที่ 1 ไร่ การนำเอาใบสับปะรดมาทำเป็น “กระดาษ” เป็นอีกหนึ่งความพยายามในการสร้างผลิตภัณฑ์โดยใช้วัสดุในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นางวิรัตน์ จันเลน ประธานกลุ่มแม่บ้านป่าซางวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการวิจัย “การศึกษากระบวนการผลิตกระดาษจากใบสับปะรดในระบบธุรกิจชุมชน” โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค (สกว.ภาค) กล่าวว่า หลังจากที่ได้ร่วมงานวิจัยผลิตกระดาษจากใบสับปะรดในระดับห้องปฏิบัติการได้สำเร็จแล้ว ทางกลุ่มแม่บ้านป่าซางวิวัฒน์ต้องการที่จะขยายขนาดการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการมาเป็นการผลิตในระดับอุตสาหกรรมครัวเรือนหรือระดับธุรกิจชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้กับแม่บ้านอีกทางหนึ่ง
กลุ่มแม่บ้านป่าซางวิวัฒน์ ทำการทดลองผลิตกระดาษจากใยสับปะรด โดยการประยุกต์ขั้นตอนวิธีการแบบง่าย ใช้แรงงานสมาชิก อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆใช้จากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นเป็นหลัก จากการทอลองที่ผ่านมาพบว่าคุณภาพกระดาษที่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ทั้งในส่วนของ สี ความเรียบ ความเหนียวของกระดาษ จากจุดเด่นคุณภาพของกระดาษ ที่หนา ที่ผ่านมาทางกลุ่มแม่บ้านได้นำเอากระดาษที่ผลิตได้ไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ ของที่ระลึก รูปแบบต่างๆ เช่น หมวก ที่เสียบปากกา กรอบรูปแขวน ถังขยะ กล่องทิชชู ปกสมุดโน้ต เป็นต้น และได้นำไปทดลองจำหน่ายตามงานออกร้านของจังหวัด มีผู้สนใจอย่างมาก ทั้งนี้ชุมชนสามารถผลิตกระดาษจากใบสับปะรดและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์มากมาย ในการแก้ไขปัญหาผลผลิตสับปะรดตกต่ำ และช่วงหลังการเก็บเกี่ยวสับปะรด จากเดิมที่ชาวบ้านจะตัดใบสับปะรดทิ้งทำให้กลายเป็นขยะย่อยสลายยาก กระดาษใยสับปะรด จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างรายได้ให้เกิดกับคนในชุมชน และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชนจนพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตกระดาษจากใบสับปะรด บ้านป่าซางวิวัฒน์ ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย